ที่มา Thai E-News
โดย จักรภพ เพ็ญแข
ที่มา คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 7
17 กรกฎาคม 2552
เขารู้ครับว่า การเอาศาลมาตัดสินคดีเพื่อให้ศัตรูทางการเมืองกลายเป็นคนผิด เป็นวิธียึดอำนาจแบบใหม่ที่ใช้แทนรถถังและอาวุธประจำกายของทหารราบ ความหวังว่าสากลโลกเขาจะเออออไปด้วยเหมือนว่าฝ่ายตุลาการมีความศักดิ์สิทธิ์และแสนจะเที่ยงธรรมนั้น ก็หดหายไปตามระเบียบ ไม่อย่างนั้นผู้นำทั่วโลกเขาไม่ยืนอยู่ข้างเซเลน่าทั้งๆ ที่ศาลฮอนดูรัสตัดสินแล้วว่ามีความผิดหรอกครับ
ผมนั่งดูข่าวการช่วงชิงอำนาจในฮอนดูรัสด้วยความสนใจใกล้ชิด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันว่าได้เกิดการรัฐประหารเงียบกลางนครหลวงเตกูสิกัลปา ทหารเกือบ ๓๐๐ คนบุกจี้ตัวประธานาธิบดีและบังคับให้บินออกไปจากประเทศทั้งชุดนอน ประเทศทั่วโลกทั้งมหาอำนาจและไม่ใช่มหาอำนาจประสานเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ยอมรับการกระทำครั้งนี้ของฝ่ายทหารฮอนดูรัส และขู่จะต่อต้านต่างๆ นานา
ตัวประธานาธิบดีมานูเอล เซเลน่าก็ไม่อยู่เฉย เดินสายขอความสนับสนุนไปทั่วโลก ขณะที่เขียนอยู่นี้ก็ได้ข่าวว่าอยู่ในสาธารณรัฐโดมินิกันและได้รับความสนับสนุนเต็มที่จากประเทศนั้น
คำถามที่น่าสนใจมีอย่างน้อย ๒ ข้อคือ ๑) เราศึกษาอะไรได้บ้างจากกรณีฮอนดูรัส ๒) จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ถามเพื่อเอาคำตอบมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทยนั่นล่ะครับ
ฝ่ายประชาธิปไตยไทยได้รับประโยชน์ใหญ่อย่างหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อทั่วโลกวิเคราะห์ถึงวิธีที่เขารวมหัวโค่นฝ่ายประชาธิปไตยในฮอนดูรัส เราก็เกิดสว่างวาบทางปัญญาขึ้นด้วย
ก่อนการรัฐประหาร มานูเอล เซเลน่าคือประธานาธิบดีที่กำลังใช้ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “การหารือสาธารณะโดยไม่มีข้อผูกพัน” หรือ “the non-binding public consultation” กำหนดให้เป็นวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒
เรื่องนี้แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ประธานาธิบดีขอถามประชาชนฮอนดูรัสว่าเราสมควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานาธิบดีลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำสองหรือไม่ ถ้าประชาชนตอบว่าสนใจ ก็ยังไม่เด็ดขาด ต้องจัดการลงประชามติขึ้นในทันที หรือจะรอถามเมื่อวาระตำแหน่งของประธานาธิบดีใกล้จะสิ้นสุดลงในปลายปี ๒๕๕๒ ก็ได้
แต่เซเลน่ากำลังเป็นที่หวาดระแวง หวาดกลัว ไปจนถึงเกลียดชังของ “ฝ่ายอำมาตย์” ในฮอนดูรัสเป็นอย่างยิ่ง
เพราะนโยบายที่ค่อนมาทางสังคมนิยมขึ้นเรื่อยๆ ของเขา แถมประชาชนผู้มีรายได้ขนาดกลางและระดับรากหญ้าพอใจขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ว่าข้าราชการระดับสูง ทหารใหญ่ ข้าราชการตุลาการ (โดยเฉพาะผู้พิพากษา) จนถึงนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จ้องจะโค่นเขาลงทั้งนั้น เมื่อประชาชนทำท่าว่าจะต่ออายุอำนาจต่อให้เขาอีก โบราณวัตถุเหล่านี้ก็แผลงฤทธิ์ในทันที
เริ่มต้นจากฝ่ายถือปืน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฮอนดูรัสแสดงท่าทีปฏิเสธที่จะจัดกำลังพลและอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยประธานาธิบดีจัดการหารือสาธารณะฯ ทั้งที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่แตกต่างนักจากผู้บัญชาการทหารบกที่ปฏิเสธคำสั่งนายกรัฐมนตรีในการควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรง ตลอดจนการคุ้มครองทำเนียบรัฐบาลและท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศ แต่ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเขาไม่ต้องเกรงใจหรือเห็นแก่หน้าใคร ไม่ต้องก่ายหน้าผากวิเคราะห์ว่าใครอยู่เบื้องหลัง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงถูกปลดแบบสายฟ้าแลบเป็นรายแรก
แต่ไม่ทันลงมือในรายที่สอง ศาลฮอนดูรัสกระโดดร่วมวงศ์ไพบูลย์ ออกโรงวินิจฉัยทันทีว่าคำสั่งปลดของประธานาธิบดีไม่ถูกต้องและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สั่งให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายทหารผู้นี้กลับคืนสู่ตำแหน่งและอำนาจดังเดิม
จากนั้นตุลาการภิวัตน์แกก็เดินหน้าต่อ วินิจฉัยอีกว่าหากประธานาธิบดียังยืนกรานจัดการหารือสาธารณะฯ ต่อไป ให้ถือว่าประธานาธิบดีกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกเหมือนกัน แต่เซเลน่าไม่ใส่ใจใดๆ ประกาศเดินหน้าถามประชาชนต่อไปเหมือนเดิม
ในที่สุดก็เกิดรัฐประหารอย่างเงียบๆ ขึ้นในช่วงย่ำรุ่งของวันหารือสาธารณะฯ นั่นเอง
คนที่ฝ่ายอำมาตย์ฮอนดูรัสเลือกขึ้นมานั่งแป้นรักษาการแทนคือ โรเบอร์โต มิเชลเล็ตติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นลำดับสองในการสืบทอดตำแหน่งอยู่แล้วโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเกมนี้ถือเป็นไม้สอง ก็แสดงความสามารถดึงเสียงสมาชิกจำนวนมากมาสนับสนุนการแต่งตั้งตนเอง ส.ส. กลุ่มนี้ได้รับเลือกตั้งโดยตรงและไม่ใช่ฐานเสียงของประธานาธิบดี เรื่องนี้ไม่แปลก เพราะตัวประธานาธิบดีก็ไม่ได้อยู่หรือไปด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบนี้อยู่ดี
ตัวอย่างนี้บอกเราว่า กลไกของฝ่ายอำมาตย์ที่ไหนก็ตามมักมีองค์ประกอบที่คล้ายกันเสมอ นั่นคือ
๑) กองทัพ
๒) ศาลและผู้พิพากษา
๓) นักการเมืองฝ่ายอำมาตย์
องค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เชียร์แขกอยู่แทบเท้าก็ไม่แตกต่างจากรัฐเผด็จการทั่วไปนัก ได้แก่นักวิชาการอนุรักษ์นิยมหรือไม่ก็ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม สื่อมวลชนผู้หลงใหลระบบอุปถัมภ์และการเล่นพวก องค์กรพัฒนาเอกชนที่แสดงความสำคัญของตนด้วยกิจกรรมเชิงลบและยังชีพตลอดมาด้วยพฤติกรรมเช่นนั้น ส่วนสุดท้ายและเป็นปัจจัยตัดสิน คือมวลชนที่ตกเป็นเหยื่อของการครอบงำทางสื่อและการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายอำนาจเดิมจนสับสน
เพราะประชาชนมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด เขาก็เล่มเกมปั่นหัวหนักที่สุด
อดอยากยากจนแทบจะไส้ขาด เขาก็ชวนตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าบ้าง ลูกช้างบ้าง อยู่เฉยๆ เขาก็ทำให้เกิดกลัวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จนสังคมแทบเป็นบ้า ทั้งๆ ที่คนไทยตายด้วยไข้หวัดสายพันธุ์เก่าและอุบัติเหตุทางรถยนต์ปีละไม่รู้เท่าไหร่ นี่ยังไม่รวมประเด็นไร้สาระต่างๆ ที่เข้ามาครองพื้นที่ข่าวอยู่ทุกวัน จนเห็นชัดว่ารัฐบาลของฝ่ายอำมาตย์จะขึ้นครองอำนาจพร้อมข่าวที่ไร้สาระจนไม่น่าจะเป็นข่าวเสมอ
ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพื่อให้มวลชนลืมปัญหาอันแท้จริงของชาติ นั่นคือเศรษฐกิจที่ไร้อนาคตและความคิดที่จะปิดประเทศไทยของผู้มีอำนาจที่แท้จริง เพราะความเปลี่ยนแปลงใหญ่ใกล้เข้ามาเต็มที จะยืดเวลาครองอำนาจให้นานที่สุดอย่างไร คิดมาคิดไป รูปแบบเมียนมาร์ก็ปรากฏขึ้น
แต่นั่นก็ยังไม่เด็ดที่สุด
นอกจากวิกฤติฮอนดูรัสเผยว่าใครคือผู้แสดงประจำของฝ่ายอำมาตย์บ้างแล้ว ประโยชน์สำคัญอีกหนึ่งคือทำให้เรารู้ว่าประชาคมระหว่างประเทศเขาก็รู้เท่าทันวิธีสร้างอำนาจของอำมาตย์เหมือนกัน
เขารู้ครับว่า การเอาศาลมาตัดสินคดีเพื่อให้ศัตรูทางการเมืองกลายเป็นคนผิด เป็นวิธียึดอำนาจแบบใหม่ที่ใช้แทนรถถังและอาวุธประจำกายของทหารราบ ความหวังว่าสากลโลกเขาจะเออออไปด้วยเหมือนว่าฝ่ายตุลาการมีความศักดิ์สิทธิ์และแสนจะเที่ยงธรรมนั้น ก็หดหายไปตามระเบียบ ไม่อย่างนั้นผู้นำทั่วโลกเขาไม่ยืนอยู่ข้างเซเลน่าทั้งๆ ที่ศาลฮอนดูรัสตัดสินแล้วว่ามีความผิดหรอกครับ
แล้วอะไรบ้างที่ถือว่าผิดพลาดในทางยุทธวิธีของฝ่ายประชาธิปไตย?
ประธานาธิบดีมานูเอล เซเลน่า อาจจะมุ่งมั่นชิงอำนาจคืนจนลืมอะไรบางอย่าง เดิมเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างชาญฉลาดจนเอาสหรัฐอเมริกามารับรองได้ในวันที่ ๒๙ มิ.ย. หรือรุ่งขึ้นของการรัฐประหาร ทำให้องค์การรัฐอเมริกา หรือ OAS ลงมติเป็นเอกฉันท์ประณามการยึดอำนาจได้ในวันที่ ๔ ก.ค. ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับองค์กรนี้ คอสตาริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ OAS มอบหมายเป็นประเทศตัวกลางในการเจรจาหย่าศึกระหว่างประธานาธิบดีเซเลน่าที่ประชาชนเลือกตั้ง และมิเชลเล็ตติที่อำมาตย์รวมหัวกันตั้ง ก็เพิ่งจบรอบแรกไปที่กรุงซานโฮเซ่ โดยฝีมือกรรมการกลางระดับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คือประธานาธิบดีออสการ์ อาริอัส ซานเชซ
ถึงยังไม่ได้ความอะไรแต่ก็ยืนยันว่าเซเลน่ายังมีความชอบธรรมทางการเมืองอย่างครบถ้วนอยู่
ทั้งที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่แล้ว แต่เจ้าตัวเกิดใจร้อน บินกลับมายังฮอนดูรัสในวันที่ ๕ ก.ค. ๕๒ นัยว่าจะไปเดินขบวนร่วมกับมวลชนในการต่อสู้กับรัฐบาลฝ่ายอำมาตย์ ขนาดปราศรัยสดๆ ลงจากเครื่องบินมาที่สถานีโทรทัศน์ฝ่ายซ้ายคือเทเลซอร์ ปลุกใจเต็มที่ ขนาดใช้สำนวนว่า “เลือดของพระเจ้ากำลังหลั่งไหลเต็มตัวข้าพเจ้า และบัดนี้ข้าพเจ้าพร้อมแล้วที่จะแบกไม้กางเขนเดินร่วมไปกับประชาชน”
ฮอนดูรัสเป็นสาธารณรัฐแคธอลิคที่ออกจะเคร่งครัด อ้างอย่างนี้ก็พอเข้าใจได้ คนข้างล่างก็ฮือฮากันอย่างหนัก เหวี่ยงปะทะเข้ากับทหารและตำรวจที่มาสกัดกั้นไม่ให้เครื่องบินของเซเลน่าลง จนเกิดล้มตายและบาดเจ็บกันมาก ในที่สุดเซเลน่าก็ไม่ได้ลง ต้องบินต่อไปเอลซัลวาดอร์ เขาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าความจริงเขาพร้อมสู้ตายแล้ว แต่นักบินปฏิเสธไม่ยอมลง เนื่องจากกลัวอุบัติเหตุจากเครื่องกีดขวางต่างๆ ที่วางอยู่
ข้อคิดก็คือ ผู้นำประชาธิปไตยที่โลกเขามายืนอยู่ข้างตัวจนสามารถสร้างแรงกดดันได้แล้ว อย่าบุ่มบ่ามผลีผลามและเสี่ยงต่อการทำให้ตัวเองบาดเจ็บล้มตายไปอย่างโง่เขลา ต้องมีศรัทธาต่อมวลชนและปล่อยให้พลังของระบอบประชาธิปไตยโลกได้ทำงาน ตัวเองค่อยเสริมเข้าไปอย่างนิ่มนวลในภายหลังเมื่อถึงจังหวะ เซเลน่าถูกต่อว่าจากผู้นำต่างๆ พอดูในประเด็นนี้
การเมืองไทยจะได้รับประโยชน์ขนาดไหนจากกรณีฮอนดูรัส ขึ้นอยู่กับความเด็ดเดี่ยวทางความคิด ผู้นำประชาธิปไตยต้องมั่นคงว่าระบอบประชาชนเหนือกว่าอะไรทั้งหมด ความชัดเจนในแง่นี้ต้องมีมากและไม่แปรผัน ต้องท่องไว้เสมอว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น คืบก็ประชาชน ศอกก็ประชาชน
ใครถือตัวว่าไม่ใช่ประชาชน คนนั้นคือส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย.
----------------------------------------------
ประชาสัมพันธ์ :
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146
ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน)
Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)