ที่มา ประชาไท
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานจากเมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ "NAM" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค. โดยวันแรกของการประชุม นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ผู้แทนนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ร่วมพิธีเปิดและเข้าร่วมประชุมในวันแรกแล้ว ซึ่งได้มีการหารือทวิภาคีกับหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ มอนเตเนโกร โมรอคโค สหภาพยุโรป เกาหลีเหนือ และ ซูดาน
ภายหลังการหารือทวิภาคี นายกษิต เปิดเผยว่า การหารือทวิภาคีกับประเทศมอนเตเนโกรนั้น เขาได้แจ้งให้ทราบว่าเขาต้องการมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และอยากกระชับความสัมพันธ์กับไทย อีกทั้งยังสรุปให้เราฟังถึงการเข้าเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปและองค์การนาโต้ และกำลังพัฒนาภายในประเทศ โดยเฉพาะการเป็นประชาธิปไตยและการเคารพกฎหมาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกับสถานะของเขาในการเข้าเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ ในนามประเทศไทยได้ถือโอกาสนี้ยกประเด็นปัญหากระแสข่าวการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยได้บอกสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในกระบวนการยุติธรรมของไทย และการดำเนินการของ พ.ต.ท.ทักษิณในช่วง 6 เดือน โดยเฉพาะที่ผ่านมา ในทำนองเป็นบ่อนทำลายเสถียรภาพการเมืองของไทย
"ก็อยากขอร้องให้เขารับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้เขาพิจารณาว่าเขาควรปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอย่างไรต่อตัวคุณทักษิณ ที่มีคดีอาญาอยู่ และขอให้คำนึงภาพรวมของโอกาสที่จะกระชับความสัมพันธ์ และต่างคนก็ต่างมุ่งมั่นที่จะเคารพในความเป็นประชาธิปไตยและกฎหมาย ซึ่งนโยบายภายในของแต่ละคนก็ย่อมสะท้อนพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วยว่า จะไม่ให้มีการขัดกันในตัวว่า ประเทศหนึ่งประเทศใดให้การพักพิงกับคนที่หนีกระบวนการยุติธรรมและมีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งได้ทิ้งไว้ให้เขาพิจารณา ไม่ได้ไปบีบบังคับ แต่ขอความร่วมมือกันในฐานะที่เป็นประเทศที่มีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน เราเองก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การรับรองการเป็นประเทศเอกราช ซึ่งเขาก็ซาบซึ้งในเรื่องนี้” นายกษิต กล่าว
เมื่อถามถึงท่าทีของมอนเตเนโกร นายกษิต กล่าวว่า เขาก็พูดในทำนองว่าเขาก็เป็นประเทศที่รักษากฎเกณฑ์ การที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป พฤติกรรมของเขาก็สำคัญ ดังนั้น ก็ต้องไปถามว่าการที่เขารับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องไปตรวจสอบเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีหมายจับ ตนเองพูดไปก็อาจจะไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หนีหมายจับ มีประเด็นทางสังคมและยังมีพฤติกรรมทางการเมืองที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
"ถ้าบอกว่าสังคมที่รักสันติภาพรักประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้งนองเลือดในสังคม ถ้าคุณบอกอย่างนั้นแล้วพฤติกรรมการไปให้ที่พักพิง ออกหนังสือเดินทางให้ มันไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นระหว่างเรากับเขา แต่เป็นประเด็นของเขากับสหภาพยุโรป ซึ่งผมก็ให้ข้อคิดไปในฐานะเพื่อน แต่เราไปทำอะไรไม่ได้ เพราะเขามีอธิปไตยโดยตรง แต่ต้องให้เขาคิดดูว่าการที่ไปปกป้องคุ้มครอง หรือคบค้าสมาคมใด มันเกี่ยวข้องกับสถานะของเขาด้วย และที่สำคัญมันเกี่ยวกับสภาวะจิตใจของคนไทยเหมือนกัน"
นายกษิต เปิดเผยด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ นายพณิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ ก็ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี โดยได้พูดถึงข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่ดูไบ
"ท่านเห็นความสัมพันธ์ของท่านกับไทย เทียบกับการปกป้องดูแลหรือต้อนรับอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งคุณทักษิณอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ แต่ข่าวออกมาหนาหู ไม่เช่นนั้นก็มีเรื่องคาใจกันอยู่” นายกษิต กล่าว
ขณะที่ นายพณิช กล่าวเสริมว่า เราก็ยืนยันว่าก็ขอให้เขาไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางยูเออีก็บอกว่ามีข้อมูลเหมือนกันว่าเขามาโดยพาสปอร์ตมอนเตเนโกร ซึ่งถ้าอยู่ เขาก็จะเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ มาให้เซ็นเอกสารเพื่อให้ปฏิบัติตัวให้ดี คือ ห้ามขับเคลื่อนทางการเมืองในยูเออี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยูเออีตอบเช่นนี้รัฐบาลไทยพอใจหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า คำตอบนี้ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นการตอบกลับให้ทราบว่าเขาจะได้กลับไปพิจารณาเพิ่มเติม คือทั้งหมดนี้จะเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้ง หรือจะเอา พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวตั้ง อันนี้เราต้องถามทุกประเทศทั่วโลก
ถามต่ออีกว่าในช่วงประชุมสุดยอดกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ได้ถามกับผู้นำมาเลเซียหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ได้เจอกันและได้ฝากกับ รมต.ต่างประเทศมาเลเซีย ว่าช่วยตรวจสอบสักนิดว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเขาก็ได้รับไปดูให้ และขอทราบมาตรการของเขาในอนาคต อย่างไรก็ตามทั้งหมด คือจะใช้เรื่องความสัมพันธ์ของประเทศนั้นๆ เป็นตัวตั้งหรือไม่
"อย่างประเทศนิคารากัวก็บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนิคารากัวไม่ใช่ตัวตั้ง เพราะเขาตอบปฏิเสธเราที่จะพบปะ เราเองก็พูดกับทูตของเขามาหลายคนแล้ว แต่ก็ไม่พบปะ ไม่รับ อันนี้ก็ไม่เป็นไร ก็ทิ้งไว้อย่างนี้ก่อน มิตรประเทศของนิคารากัว เราก็จะฝากฝังกับนิคารากัวและมิตรบางประเทศว่าขอให้กรุณาทบทวนกันสักนิดด้วยเหตุด้วยผล" นายกษิต กล่าว
เมื่อถามว่า ในเวทีการประชุม NAM มีใครสงสัยกรณีถูกออกหมายเรียกข้อกล่าวหาก่อการร้ายหรือไม่ นายกษิต ตอบว่า รัฐมนตรีหลายคนที่มาพบกัน ต่างก็ผ่านเวทีมาเยอะ หลายประเทศที่เป็นสมาชิก NAM ก็ต่อสู้มาด้วยอุดมการณ์ทั้งนั้น เป็นสิบปียี่สิบปี
"ผมว่าผู้นำที่นั่งอยู่เต็มห้องสาหัสยิ่งกว่า และหลายคนจับอาวุธเสียด้วยซ้ำ"
เมื่อถามย้ำว่า ไม่มีใครมาถามเลยหรือ นายกษิต ตอบว่า มี แต่มาแสดงความเห็นใจหลายคน และแสดงความเข้าใจ และขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์