ที่มา ประชาไท
ผู้สนับสนุนเซลายาชุมนุมหน้ารัฐสภาฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 15 ก.ค.
(AP Photo/Rodrigo Abd)
ผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งกำลังฉีดสเปรย์กราฟิตี้ หน้าอาคารรัฐสภาของฮอนดูรัส ในวันที่ 15 ก.ค.
(AP Photo/Rodrigo Abd)
ผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งยืนร้องไห้ขณะถือรูปโปสเตอร์ของเขาในการประท้วงหน้ารัฐสภา
(AFP/Orlando Sierra)
หนังสือพิมพ์ ลา ทริบิวนา ของฮอนดูรัส รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค. นี้ ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาประกาศว่าจะมีการชุมนุมตามท้องถนนสายหลักและสะพานของประเทศฮอนดูรัสในวันพฤหัส (16) และวันศุกร์ (17) นี้ โดยการประท้วงครั้งนี้จัดตั้งโดยกลุ่มเครือข่ายชาวนา สหภาพแรงงาน และกลุ่มครูอาจารย์ ซึ่งทางลา ทริบิวนา รายงานว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ทำงานมากว่า 15 วันแล้ว
ราฟาเอล อัลเลเกรีย ผู้นำกลุ่มแนวหน้าการต่อต้านรัฐประหารแห่งชาติ (National Front for Resistance Against the Coup) เรียกการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็น "ชุมนุมเพื่อสันติ" โดยจะเริ่มจากช่วงแปดโมงเช้าของวันที่ 16 ก.ค. และภายในสองวันนี้จะกระจายไปตามจุดต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้คืนตำแหน่งประธานาธิบดีให้มานูเอล เซลายา ผู้ถูกยึดอำนาจเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
อัลเลเกรียอ้างว่า เซลายาเรียกร้องให้ประชาชนฮอนดูรัสเคลื่อนไหว และประชาชนก็ให้การตอบรับ เขายังบอกอีกว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสถาบันการปกครองรวมถึงรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้ประธานาธิบดีเซลายา
ด้านเซลายาก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนก่อการต่อต้านรัฐบาลชั่วคราว โดยระบุว่าพวกเขา "มีสิทธิในการก่อจลาจล"
ลา ทริบิวนา รายงานว่า ในวันนี้ (15) มีประชาชนหลายสิบคนเดินขบวนในกรุงเตกูซิกาลปา โดยเริ่มตั้งขบวนที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติ ฟรานซิสโก โมราซาน (Universidad Pedagogica Nacional Francisco Morazan หรือ UPNFM) ในเวลาสิบเอ็ดโมงเช้า ไปยังจุดต่างๆ ของกรุงเตกูซิกาลปา
คาร์ลอส เรเยส จากกลุ่มแนวร่วมประชาชน (Popular Bloc) บอกว่าการประท้วงในสัปดาห์นี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ขณะที่ อิสราเอล ซาลินาส จากสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานของฮอนดูรัส (Confederacion Unitaria de Trabajadores de Honduras หรือ CUTH) กล่าวว่าในการชุมนุมตามแหล่งต่างๆ ของเมืองเตกูซิกาลปา, ซาน เปโดร ซูลา และพื้นที่อื่นๆ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เขายังได้กล่าวด้วยว่า การกดดันในครั้งนี้ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของแรงงานทุกคนด้วย โดยซาลินาสบอกด้วยว่าเขาคาดหวังจะร่วมมือกับสหภาพของภาคเอกชนมาร่วมประท้วงด้วย
ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานอเมริกากลางในคอสตาริกาก็ออกมาประกาศว่าจะร่วมชุมนุมปิดพรมแดนกับทางฮอนดูรัสในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์เพื่อประท้วงรัฐประหารด้วยเช่นกัน
โฆษกของคณะกรรมการประสานงานระดับชาติของคอสตาริกาเปิดเผยกับสื่อว่าจะดำเนินการปิดพรมแดนเป็นระยะๆ ในสามประเทศที่มีพรมแดนติดกับฮอนดูรัสคือ นิคารากัว เอล ซัลวาดอร์ และ กัวเตมาลา
โดยนอกจากนี้สมาชิกสภาฯ ผู้ที่สนับสนุนการลงประชามติของเซลายาเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลชั่วคราว เรียกร้องให้มีการระงับวีซ่าของคณะรัฐประหารและครอบครัว และระงับการส่งเงินช่วยเหลือจากคนงานฮอนดูรัสในสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันในวันที่ 15 ก.ค. ทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสก็ประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืนอีกครั้ง หลังจากที่ยกเลิกไปในวันอาทิตย์ (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลชั่วคราวระบุว่าเคอร์ฟิวจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึงตีห้า โดยให้เหตุผลในการประกาศเคอร์ฟิวอีกครั้งว่า เป็นเพราะมีการข่มขู่อย่างเปิดเผยจากกลุ่มที่ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย และเป็นไปเพื่อปกป้องประชาชนรวมถึงทรัพย์สินของพวกเขาด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก:
Honduras reimposes curfew amid protest threat ,Simon Gardner , Reuters , 15/07/2009
Supporters of "Mel" shots announce Route , La Tribuna , 15/07/2009