ที่มา ประชาไท
พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงล่ารายชื่อประชาชน 1 ล้านรายชื่อ เพื่อยื่นถวายฎีกาขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า "ท่านคิดว่า ถูกหรือผิด การอภัยโทษต้องถูกลงโทษแล้วใช่หรือไม่"
(มติชนออนไลน์ วันที่ 11/07/2552)
สอดรับกับความเห็นของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล
“การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คนที่ต้องการได้อภัยโทษต้องรับโทษก่อน และคนขอต้องเป็นนักโทษเองคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ให้คนอื่นเป็นตัวแทนล่ารายชื่อ ไม่เช่นนั้นอีกหน่อยใครมีเงิน เมื่อต้องโทษอะไรก็ไปจ้างประชาชนมาเข้าชื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นในเมื่อรู้ดีว่าเรื่องนี้ทำไมได้ แต่คนพวกนี้ก็ยังทำ ก็เพราะต้องการเอาการเมืองไปเล่นกับพระเจ้าอยู่หัว หากเมื่อถวายฎีกาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะไปพูดกันทันทีว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยชาวบ้านที่ไปลงชื่อก็จะไม่เข้าใจที่มาที่ไปว่าโดยหลักการแล้วทำไม่ได้ ก็จะเข้าใจผิดต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 4/07/2552)
ลองเปรียบเทียบกับความเห็นอีกด้าน
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ทราบมาว่าการถวายฎีกาเป็นการขอพระราชทานความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวกับการอภัยโทษ เพราะถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีความผิด ประชาชนมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะหลังจากการทำรัฐประหาร มีการออกกฎหมายไม่ได้เป็นมาตรฐานของโลกมาดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หากเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เชื่อว่าประชาชนคงยอมรับได้” เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่า การยื่นถวายฎีกาเป็นการกระทำที่กระทบต่อสถาบัน พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า “ถือเป็นการให้ความเคารพสถาบันเบื้องสูงด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ บรรดาลูกๆ ที่มีความเดือดร้อนจะต้องพึ่งพ่อแม่ ไม่ถือว่าเป็นการดึงสถาบันมาเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์”
(มติชนออนไลน์ วันที่ 11/07/2552)
จะเห็นได้ว่า ฝ่ายแรกมองประเด็นเรื่อง “เทคนิคทางกฎหมาย” ที่ถือว่าผู้จะขอพระราชทานอภัยโทษต้อง “ถูกลงโทษก่อน” และมองเป็นประเด็นการเมืองว่าอีกฝ่าย “ต้องการเอาการเมืองไปเล่นกับพระเจ้าอยู่หัว” ส่วนฝ่ายหลังมองประเด็น “ความเป็นธรรม” เพราะเห็นว่า “...หลังจากการทำรัฐประหาร มีการออกกฎหมายไม่ได้เป็นมาตรฐานของโลกมาดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ”
อันที่จริงทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน เราจะสร้างความชัดเจนในประเด็นเรื่อง “เทคนิคทางกฎหมาย” โดยละเลยการสร้างความชัดเจนในประเด็น “ความเป็นธรรม” ไม่ได้
น่าสนใจว่า ในประเด็น “ความเป็นธรรม” นั้น ประชาชนมองอย่างไร?
สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน "คิดอย่างไรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม"พบว่า “58.69% เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมี 2 มาตรฐานและไม่เชื่อว่าการดำเนินคดีกับพันธมิตรฯและเสื้อแดงจะเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส”
สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน "คิดอย่างไรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม"พบว่า “58.69% เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมี 2 มาตรฐานและไม่เชื่อว่าการดำเนินคดีกับพันธมิตรฯและเสื้อแดงจะเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส”
(มติชนออนไลน์ วันที่ 11/07/2552)
ในประเด็น “ความเป็นธรรม” อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยโพสเข้ามาแสดงความเห็นในบทความของผมนานมาแล้ว ทำนองว่า (ถ้าจำไม่ผิด) “ใครที่เรียกร้องทักษิณให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ได้เรียกร้องให้พวกที่ทำรัฐประหารให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในความผิดฐานฉีกรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ถือว่ากำลังใช้ 2 มาตรฐาน” (ถ้าจำผิดต้องขออภัยด้วย)
เราอาจเข้าใจความคิดของ อาจารย์สมศักดิ์ ชัดเจนขึ้นจากนิทาน “การแบ่งเค้ก” ของชาวกรีกที่เล่าต่อๆ กันมาว่า “ในบางแบ่งเค้กนั้น เมื่อนาย ก.จะแบ่งเค้กกับนาย ข. เขาใช้มีดตัดแบ่งเค้กออกเป็น 2 ซีกเท่าๆ กันแล้วจึงบอกกับนาย ข.ว่า ให้คุณเป็นคนเลือกก่อนว่าจะเอาซีกไหน” ถ้าเราคิดอย่างใช้เหตุผล เราย่อมเข้าใจตรงกันว่า วิธีการแบ่งเค้กเช่นนี้เป็นวิธีการที่ “ยุติธรรม”
และถ้าเราเข้าใจตรงกันในเรื่อง “ความยุติธรรม” เราย่อมเข้าใจตรงกันได้ว่า วิธีการที่คณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐมา แล้วใช้ “กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ” จัดการกับฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรม หรือไม่เป็นธรรม
ในขณะเดียวกัน ตามหลักความยุติธรรมดังกล่าวแล้ว ถ้าเราไม่ใช้สองมาตรฐานเมื่อเราเรียกร้องให้ฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีความต่างๆ เราก็ต้องเรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในความผิดฐาน “ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย” ด้วยเช่นกัน
ในประเด็นดังกล่าวนี้นักรัฐศาสตร์หรือนักนิติศาสตร์โดยทั่วไป อาจมองว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายที่ทำรัฐประหารได้สำเร็จ เมื่อเขามีอำนาจรัฐอยู่ในมือเขาย่อมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง
แต่คำถามสำคัญคือ เพราะสังคมยอมรับธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่จึงทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวเป็นการทำลายหลักความยุติธรรมอย่างถึงรากหรือไม่ที่ฝ่ายซึ่งทำความผิดใหญ่หลวงโดยการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแล้วสามารถออกกฎหมายจัดการกับศัตรูทางการเมืองของตนเองได้โดยที่ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดที่ได้กระทำลงไปใดๆเลย (อย่างนี้นอกจากคุณจะเป็นคนตัดเค้กและเลือกส่วนแบ่งของตนเองก่อน แล้วยังใช้มีดตัดเค้กไล่แทงอีกฝ่ายด้วย [“เค้ก” ในที่นี้หมายถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สมาชิกแห่งรัฐพึงได้รับ ซึ่งฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารก็ย่อมเป็นสมาชิกแห่งรัฐด้วย])
ดังนั้น การถกเถียงกันว่า “ควรถวายฎีกาช่วยทักษิณหรือไม่?” ต้องกำหนดให้ชัดว่า เรากำลังถกเถียงกันในประเด็นเทคนิคทางกฎหมาย หรือประเด็นความเป็นธรรม? หรือในกรณีคดีการเมืองเช่นนี้ เราสามารถแยกทั้ง 2 ประเด็นออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดหรือไม่? ถ้าแยกไม่ได้ประเด็นไหนน่าจะเป็นประเด็นใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่า?
ถ้าเราเห็นว่าประเด็น “ความเป็นธรรม” สำคัญกว่า (ไม่ใช่เพราะว่าต้องการช่วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพราะต้องการรักษาบรรทัดฐานของสังคม) การถวายฎีกาก็เป็นสิ่งที่ควรทำ (ภายใต้เงื่อนไขของระบอบการปกครองที่เป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน)
เพราะถ้าในกรณีที่พระมหากษัตริย์เข้ามาระงับความขัดแย้งทางการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และล่าสุดคือการมีกระแสพระราชดำรัสให้ศาลแก้ปัญหาการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ว่า “เป็นธรรม” หรือ “ชอบด้วยหลักการและเหตุผล” ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว การถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้เช่นกัน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใดก็ตาม
หากคิดกันอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นหลักในเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องตื้นๆ ที่ว่า “ต้องการเอาการเมืองไปเล่นกับพระเจ้าอยู่หัวฯ” หรือ “ใครมีเงิน เมื่อต้องโทษอะไรก็ไปจ้างประชาชนมาเข้าชื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หรือ “จะเป็นการกดดันสถาบันหรือไม่?” แต่เป็นเรื่องที่ (ในความขัดแย้งที่เป็นอยู่) สังคมไทยไม่สามารถหาความชัดเจนหรือหาทางออกร่วมกันได้ในเรื่อง “ความเป็นธรรม” และเมื่อเกิดปัญหาทำนองนี้ในอดีตที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์สามารถเข้ามาคลี่คลายปัญหาทำนองนี้ได้ โดยที่สังคมไทยยอมรับในบทบาทดังกล่าวของพระมหากษัตริย์
ฉะนั้น ประเด็นหลัก (หรือที่ท้าทาย ณ เวลานี้) คือ สังคมไทยยังเชื่อ หรือจะยอมรับร่วมกันอยู่หรือไม่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งสุดท้ายในเรื่อง “ความเป็นธรรม” เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา?