ที่มา มติชน
ส.ส.เพื่อไทย ร้องกลางสภา ตร.-ทหาร สนธิกำลัง 2 พันนาย บุกรื้อค้นสถานีวิทยุชุมชน"กลุ่มเชียงใหม่ 51" จี้นายกฯดูแลเพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ขณะที่ประธานวิทยุชุมชน บุกสภาร้องรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ปลดอนุ กทช. เหตุใช้อำนาจข่มขู่ผู้ประกอบการวิทยุ-โทรทัศน์ท้องถิ่น เข้าข่ายแทรกแซงสื่อ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย หารือว่า ให้นายกรัฐมนตรีเข้าไปดูแลปัญหากรณีได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม สถานีวิทยุชุมชน 92.5 เมกะเฮิร์ตซ์ และสำนักงานกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ตั้งอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ถูกบุกตรวจค้นโดยการสนธิกำลังตำรวจและทหารเกือบ 2 พันนาย ทั้งที่สำนักงานแห่งนี้เป็นที่รวมตัวกันในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิของประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบปราศจากอาวุธ โดยบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการแสดงความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า มีการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม และดำเนินการแบบสองมาตรฐาน อยากระบุว่า อย่ารุกประชาชนจนไม่มีที่ยืน ฝากนายกฯลงมาดูแลปัญหาด้วย
ส่วนบริเวณด้านนอกห้องประชุม นายวิโรจน์ พูลสุข ประธานสภาองค์กรวิทยุ-โทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งชาติ นำตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุชุมชนกว่า 100 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยกล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 บัญญัติให้มีคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่กำหนดให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ 1 คนนั้น ขณะนี้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วที่ตั้งจาก ครม.ชุดที่แล้ว คือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และต่อมาได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้เป็นหนึ่งในอนุกรรมการดังกล่าว และยังให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงชุมชน แต่ พ.อ.นที ได้ปฏิบัติหน้าที่ลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในการเข้าควบคุมและครอบงำสื่อมวลชนภาคประชาชน มีพฤติกรรมข่มขู่ต่อผู้ประกอบการ ทำให้สภาองค์กรวิทยุ-โทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งชาติขอให้นายสาทิตย์เสนอต่อ ครม.เพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน พ.อ.นที ในทันทีและขอให้ พ.อ.นที ยุติการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้านนายวิทยากล่าวว่า น่าเห็นใจในกรณีดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมในการประมูลคลื่นความถี่และยังไม่ไว้ใจฝ่ายรัฐบาลเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสาธารณชน เพราะแต่เดิมวิทยุชุมชน รัฐบาลต้องการให้เป็นกระบอกเสียง แต่น่าแปลกใจทำไมต้องขอความไว้ใจวางใจจากฝ่ายค้าน