“เนวิน” เสนอชักฟืนออกจากกองไฟ นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเพราะถูกชักจูงให้ไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น ชูอโหสิกรรมระบุเป็นไทยสไตล์ สนับสนุนแก้ปัญหาด้วยการลืม ไม่สนย้อนกลับไปลืมตั้งแต่เรื่องไหน -ไม่มีไทม์แมชชีนของโดเรมอนอยู่ในไทย เผยทำใจได้ยกมือไหว้ พล.อ.สนธิ เพราะคิดเรื่องส่วนรวม ต้องลืมเรื่องส่วนตัว
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 52 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “ทางออกประเทศไทยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์” วิทยากรประกอบด้วย นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานกรรมการฯ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายนิกร จำนง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
ทั้งนี้ในการเสวนามีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฟังจำนวนมากทั้งบุคคลภายนอกและนักศึกษาหลักสูตรสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 1 โดยมี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน อดีตประธานคมช.ในฐานะประธานนักศึกษาหลักสูตรสถาบันพัฒนาการเมืองฯ และนางสดศรี สัตยธรรม กกต.เข้าร่วมรับฟังด้วย
นายดิเรก กล่าวว่า การทำงานของกรรมการฯนั้น มีคู่กรณีและคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ในนั้น เพราะหากเอาคนนอกที่ไม่ใช่คู่กรณีมาคิดให้และส่งมาให้ปฏิบัติ ก็คงเป็นไปได้ยาก พร้อมทั้งยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การซื้อเวลา โดยมีข้อเสนอว่าการจะสมานฉันท์ได้สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ รัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ ที่อาศัยหลักนิติธรรมนิติรัฐ มีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องไม่ใช่สองมาตรฐาน
นายดิเรกกล่าวต่อว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกือบทุกคนเห็นตรงกันคือมาตรา 237 เพราะหากเอาหลักความเป็นธรรมเข้าไปจับ จะเห็นว่ามาตรานี้ไม่เป็นธรรม คนไม่ทำความผิดต้องถูกลงโทษไปด้วย และการยุบพรรคก็ไม่ถูกต้อง เพราะ การปกครองระบอบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองที่สำคัญคือพรรคการเมือง ต้องส่งเสริมให้เข้มแข็ง และนำมาซึ่งการได้มาซึ่งอำนาจบริหารประเทศ แต่พรรคการเมืองกลับถูกยุบแล้วยุบอีก ถือว่าไม่สร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามในข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ได้ระบุให้ตั้ง สสร. 3 ขึ้นมาด้วย
ด้านนายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้วิกฤตที่เกิดขึ้น การเมืองเปลี่ยนไปการต่อสู้เข้มข้นขึ้น แม้แต่ในสภาก็ไม่เคยเกิดความรุนแรงเช่นนี้ และนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมือง เราไม่เคยมีการแบ่งสีแบ่งขั้วมาก่อน ดังนั้นรัฐสภาน่าจะเข้ามามีส่วนแก้ไข หากเราคิดปฏิรูปการเมือง เบื้องต้นต้องปฏิรูปตัวนักการเมือง โดย ส.ส.ต้องรู้หน้าที่ รู้ความรับผิดชอบ รู้สิทธิต่างๆ และเป็นตัวแทนประชาชน มาตรฐานความประพฤติ ต้องเหนือว่าประชาชนทั่วไป
นายนิพนธ์กล่าว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นบางคนชอบบางคนไม่ แต่หากดูแล้ว ปัญหาการบังคับใช้แทบไม่มี ส่วนที่เป็นปัญหาคือมีผู้ถูกลงโทษ หากเราถ้าเคารพจริง ปัญหาจะไม่เกิด เพราะอย่างกติกาเราก็รู้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงเลือกตั้ง มีคนบอกว่าหากยังคงมาตรา 237 ไว้อีกหน่ยก็จะส่ง นอมินีมาแทน คนที่ทำแบบนี้ ส่อเจตนาจะทำผิดแต่เบื้องต้นเลยไม่กล้ามาทำเอง
นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบห้าหกปี ที่ตนขึ้นมาแสดงความเห็นทางการบ้านการเมืองอย่างเป็นทางการ และการนี่เป็นความเห็นส่วนตัวของตนไม่เกี่ยวข้องกับใคร ข้อเสนอของกรรมการสมานฉันท์ โดยเฉพาะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ ในความเป็นจริงกว่าที่เราจะพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็เสียหายอย่างหนักมาต่อเนื่องเกือบสามปี นับแต่ได้ประกาศใช้ แต่ก็ยัง ยังเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีคนเริ่มยอมรับว่ามีปัญหาและต้องแก้ ถึงแม้จะช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ยอมรับ
นายเนวินกล่าวว่า ข้อเสนอกรรมการสมานฉันท์ทั้ง 6 ข้อ โดยการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 มาตรา โดยส่วนตัวตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการแก้ปัญหาทางเทคนิคการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุจริงๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งในความเป็นจริง กว่าที่เราจะมาพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ตนคิดว่าประเทศชาติ ก็เสียหายอย่างหนักมาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ แต่ก็ยังนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่วันนี้มีผู้คนส่วนหนึ่งของสังคมยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาและต้องแก้ไข ถึงแม้จะเป็นการยอมรับที่ช้า แต่ก็ดีกว่าไม่ยอมรับ
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ ตนมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและเป็นการหาทางออกให้แก่การเมืองที่มีความซับซ้อนอย่างมากมาย จากการที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกับดักทางการเมือง ที่ทำให้ระบบการเมืองและนักการเมือง มีปัญหาในการทำงานส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองและทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอ จากข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของคณะกรรมการสมานฉันท์ ในประเด็นที่ 3
"ผมมองว่าทั้ง 6 ข้อยังไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย ยังไม่ใช่ทางออกของประชาชนอย่างสำเร็จรูปเพราะทั้ง 6 ข้อที่ถูกนำเสนอ ไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะบอกว่า ถ้าแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นแล้ว ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นและประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤติได้ แม้ทั้ง 6 ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องจำเป็นต้องแก้ไขและต้องแก้ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าหากเรายังไม่สามารถทำให้คนในชาติมีเอกภาพทางความคิดมีความจริงใจต่อกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคลของตนเอง ตนคิดว่าการหาทางออกให้กับประเทศไทยเป็นเรื่องลำบาก" นายเนวินกล่าวและว่าในวันนี้ตนอยากนำเสนอความเห็นส่วนตัว ตนมองว่าทางออกของประเทศไทย สิ่งเดียวที่ จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ในชาติบ้านเมืองให้ได้คือ ต้องจบเรื่องเก่าที่ผ่านมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ได้เสียก่อนแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ถ้าเราไม่ set zero ตนเห็นว่าไม่มีทางออก
วันนี้ทางออกประเทศไทยยิ่งนานวันจะหาทางออกยากขึ้นทุกวันๆ หาทางออกไม่ได้เพราะโดยส่วนตัวตนเห็นว่าทุกฝ่ายมีพฤติกรรมที่แสดงออกของแต่ละฝ่าย ไม่ต้องการสมานฉันท์ แต่ต้องการเอาชนะ เราเห็นจากหลายอย่าง สิ่งที่จะขออนุญาตนำเสนอและต้องขออภัยหากนำเสนอแล้วไม่ถูกใจ หรืออาจจะไปขัดกับความรู้สึกบางท่านในห้องประชุมนี้
ตนขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าในทุกวันนี้มีผู้คนที่ตกเป็นผู้ที่ต้องรับกรรมจากความขัดแย้งของแต่ละฝ่ายในสังคม ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามากมาย ทุกฝ่ายมีข้อเรียกร้องของตนเองและทุกฝ่าย ก็ดำเนินการด้วยความเชื่อบนความบริสุทธิ์ใจของตนเองว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ว่าฝ่ายไหน เมื่อทุกคนตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นและความบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูก ปรากฎว่าคนที่มาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจเป็นผู้รับกรรม หลายคนตกเป็นผู้ต้องหาคดีมากมาย หลายคนถูกดำเนินคดีทั้งฝ่ายที่เห็นต่างกันและฝ่ายของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องรับกรรม ประชาชนที่อยู่ตรงกลางคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวไม่ว่าฝ่ายใดก็รับกรรม บ้านเมืองก็ต้องมีปัญหา ตนจึงมองว่าวันนี้เรามีเรื่องที่ต้องทำเพื่อทางออกอยู่เพียง 2 เรื่องเท่านั้นครับ เพื่อยุติเรื่องนี้และปัญหาเหล่านี้ของประเทศไทย คือการกลับไปเริ่มต้นใหม่ แต่การจะเริ่มต้นใหม่ได้ ในความเห็นผมมีอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรกตนยืนยันว่า การนิรโทษกรรมเป็นหัวใจหลักข้อที่หนึ่งที่จะต้องเริ่มต้นเพราะถ้าเราไม่สามารถจบเรื่องเก่า set zero ทำให้ทุกอย่างมันจบ มันไม่มีทางหรอกครับที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ ความปรองดอง เพราะในขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าแต่ละฝ่าย ต่างคนต่างมองในแง่มุมต่างกัน แน่นอนอาจจะมีความเห็นแตกต่างคัดค้าน
"ผมมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นการแก้ปัญหาแบบไทยสไตลล์คือการอโหสิแก่กันวันนี้ ผมอยากเรียนให้เห็นว่ามีพี่น้อง ประชาชนคนบริสุทธิ์ที่มาเคลื่อนไหวแล้วต้องตกเป็นผู้ต้องหา มีเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำตามหน้าที่แล้วต้องตกเป็นผู้ต้องหา มีผู้คนมากมายแต่ต่างฝ่ายก็ต่างรู้สึกว่าไม่ลดราวาศอกซึ่งกันและกัน วันนี้ถ้าไม่เอาฟืนออกจากไฟ ไม่แยกประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกมาก่อน ผมเชื่อว่าในอนาคตสถานการณ์มันจะลุกลามรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ แล้วบ้านเมืองก็จะเสียหาย"
นายเนวินกล่าวด้วยว่า วันนี้ที่ทางออกลำบากมากเพราะพอมีการเสนอแนวความคิดเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้กับคนที่มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์ ทั้ง 2 ฝ่ายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ก็มีเสียงคัดค้านเต็มไปหมด
"ผมก็ประหลาดใจกับความคิดทางสังคมว่าในขณะที่มีความพยายามจะนิรโทษกรรมให้กับคนที่บริสุทธิ์และเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ทุกฝ่ายกลับมีเสียงคัดค้าน แต่ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้อภัยโทษกับคนคนเดียวเนี่ย กลับมีคนสนับสนุน ผมว่านี่มันเป็นปัญหาของบ้านเมือง เป็นเรื่องที่เราต้องดูว่ามันจะออกอย่างไร มันจะจบอย่างไร และแน่นอนที่สุด ผมก็ไม่ปฏิเสธอีกอันครับว่ารากเหง้าจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งหมด นอกจากการ set zero โดยการนิรโทษกรรมแลว ก็ต้องนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประชาธิปไตยที่ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญยอมรับได้ว่าแม้ตนเองจะเป็นเสียงข้างน้อย ก็ยอมรับในเสียงข้างมากโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือการต่อสู้ที่เป็นความขัดแย้งทางสังคมซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมือง เพราะฉะนั้น ผมขอสรุปว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นเรื่องที่ดีครับ ผมยอมรับ แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ปลายเหตุ ผมมองว่า ถ้าจะกลับไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงต้องกลับไป set zero ไปเริ่มต้นกันใหม่จบเรื่องเก่าให้ได้ แล้วก็ภายใต้การทำ 2 เรื่องคือการนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
นายเนวิน กล่าวด้วยว่า หนทางสมานฉันท์ต้องจบเรื่องเก่าให้ได้และต้องจบให้เร็วที่สุดและต้องเริ่มต้นใหม่ให้ได้ให้เร็วที่สุด จะเริ่มตรงไหนไม่สำคัญแต่ต้องเริ่มไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มเป็นรูปธรรมจริงจังก็จะลำบาก ควรทำสักเรื่องให้เกิดความสมานฉันท์ โดยไม่มีคำว่า "แต่" ได้ไหม โดยไม่มีฝ่ายได้ไหม มิเช่นนั้น เราจะมีปัญหาไปหมดเลยทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งปัญหาเรื่องตัวบุคคล
"คนพวกหนึ่งเห็นว่าคนคนหนึ่งเป็นปัญหาของชาติ คนอีกพวกหนึ่งบอกว่าคนคนหนึ่งมีความสำคัญต่อชาติที่จะต้องเอากลับมาเพื่อแก้ปัญหาของชาติ มันไม่จบหรอกครับ และมันไม่มีการส่งสัญญาณอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนที่เขาอยู่ตรงกลางมีความหวังว่ามันได้มีคนกลุ่มหนึ่งเริ่มต้นทำแล้วนะ ผมคิดว่าวันนี้การชักฟืนออกจากกองไฟเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด"
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความคิดของนายเนวินที่ว่ากลับไปเริ่มต้นกันใหม่ ก็เป็นความคิดที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือจะไปเริ่มตรงไหนหรือขั้นตอนไหนดี เพราะวันนี้อีนุงตุงนังไปหมด ถ้าเป็นด้ายก็เป็นขยุ้ม ไม่รู้จะสาวไปตรงไหน จะย้อนเลยทีเดียวไม่ได้ หากย้อนได้ต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย. แบบนี้เอาไหม กลับไปอยู่จุดนั้น แล้วให้มีเลือกตั้งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ แต่ในความจริงคงเป็นไปไม่ได้
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ถ้าบอกว่าเริ่มใหม่ล้างเรื่องเก่าก็ต้องมาดูว่าล้างได้จริงหรือ และเริ่มต้นสมานฉันท์ได้จริงไหม หากบอกนิรโทษคนชุมนุมทางการเมือง แล้วจะเกิดอะไร แล้วหากวันรุ่งขึ้นจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะมีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และคงออกมาชุมนุม โดยการชุมนุมยึดทำเนียบทำได้ไหม เมื่อยึดได้อีก ก็นิรโทษกรรมได้อีก ก็จะชุมนุมแบบนั้นทำผิดกฎหมายแบบนั้นไม่เลิกจะทำอย่างไร ปัญหาคือมีคนมีความคิดต่างกันแต่ไม่มีวิธีที่ทำให้อยู่ร่วมกันโดยไม่แตกแยก หรือใช้อำนาจนอกเหนือมาแก้อย่างการรัฐประหาร
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่จากการรัฐประหารไม่ใช่ถอยก้าวเดียวแล้วเดินหน้าประชาธิปไตยไปมากๆ เหมือนที่พูด แต่การรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นการดึงประเทศสู่เผด็จการแล้วแทนที่จะเดินหน้ากลับมีการวางระบบโดยรธน. และนอก รธน. ให้ประทศไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รธน.และอำนาจนอก รธน. ร่วมกันทำลายกระบวนการยุติธรรม และความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดไม่เคยมีมาก่อน ระบบยุติธรรมพึ่งไม่ได้และ กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเบื้องต้นเหตุและจะมีไปเรื่อยๆ
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ได้ล้มรัฐบาลและนายกฯไปสองคน โดยไม่มีหลักการของนิติธรรม คนไปทำครัวบอกขัดแย้งผลประโยชน์ ไม่เป็นไปตามหลักนิธรรม คนๆเดียวทำผิด กกต.ให้ใบแดง พรรคถูกยุบโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แบบนี้ทั่วโลกไม่มีใครยอมรับ ทั้งยังตั้งคนเป็นปฏิปักษ์มาดำเนินคดีมีอำนาจเหนืออัยการฟ้องเองได้อยากสอบใครก็สอบ สุดท้ายก็ไม่เห็นด้วยและแตกแยกกัน
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า การที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการเลือกตั้งของการบริหาร และจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ผู้คนในสังคมยอมรับกันได้ แต่ต้องแก้กติกาให้การเลือกตั้งน่าเชื่อถือ เลิกการยุบพรคคง่ายๆโดยแค่ความเชื่อว่าคนนี้ทำผิดโดยไม่มีหลักฐานมันใช้ไม่ได้ และต้องลดอำนาจ กกต. โดยเฉพาะการให้ใบแดงต้องเลิก ต้องให้สรรหา กกต. ใหม่ตามรธน.ปัจุบัน คนที่เป็นอยู่ต้องออกไหม้หมดไม่ใช่ใช้อำนาจอย่างนี้เพราะ พล.อ.สนธิตั้งท่านมา แต่เมื่อยังเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องลดอำนาจท่าน เสร็จแล้วค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีทั้งคนที่ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้ปกครองประเทศ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาต้องเลือกตั้งและแก้รัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นธรรม โดยจะทำสองอย่างพร้อมๆกันก็ได้คือ แก้ในประเด็นที่เร่งมากๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวเลือกตั้ง แก้เพื่อได้รัฐบาลที่ปนระชาชนยอมรับ และแก้มาตรา 291 เพื่อให้มี สสร. ด้วย และให้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็เลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนลงมติอีกครั้ง การทำเช่นนี้จะเป็นการลดปัญหาความเห็นไม่ตรงกัน ตนเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้ง
“ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมใครหรือไม่ รวมถึงพวกผมด้วย ไม่ต้องนิรโทษฯวันนี้พรุ่งนี้ เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง อย่าเพิ่งมาแตะต้องประเด็นพวกผม รอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าเราไม่รีบจะไม่ได้แก้ ยกตัวอย่างวันจันทร์ที่ผ่านมาที่มีการถวายฎีกา ถ้ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นอีกหน่อยแล้วทหารก็เข้ามายึดอำนาจ แล้วบอกเพื่อป้องกันความรุนแรง วันนี้เราอยู่แบบเส้นยาแดงผ่าแปดไม่รู้จะยึดเมื่อไหร่ รัฐบาลเสียศูนย์ ตั้ง ผบ.ตร.ไม่ได้ ตอนนี้เสียสภาพการนำจะอยู่ได้กี่วัน นายกฯต้องกล้า ประกาศแก้ รัฐธรรมนูญจึงจะได้รับเสียงสนับสนุน คนที่ค้ำๆ อยู่เขาก็จะจำเป็นต้องหนุน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นท่านก็อยู่ไม่ได้ และ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญคนไทยจะฆ่ากันเอง เมื่อรุนแรงแล้วอาจจะรัฐประหารอีก อย่าไปรอถึงตอนนั้น แต่ถ้ายังดื้อชิงไหวชิงพริบสังคมไทยจะก้าวไปสู่ความรุนแรงและเสียหายยับเยิน”นายจาตุรนต์กล่าว
ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า วันนี้เราลืมแล้วว่า เม.ย. เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ตนเห็นด้วยกับบเรื่องความเป็นธรรม ความสามัคคีและทพเพื่อชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ กก.สมานฉันท์บอกให้ถอยคนละก้าว เพราะถ้าจะถอยต้องถอยอย่างเป็นธรรม ความเป็นธรรมไม่มีความสามัคคีเกิดในชาติไม่ได้
นายคำนูณยังโจมตีรายงานของกก.สมานฉันท์ว่า ในบทนำมีการบอกว่ารธน. 40 เป็นประชาธิปไตยที่สุด และรัฐบาลที่มาจากนั้น เป็นรัฐบาลที่มั่นคงก้าว หน้า การรัฐประหารเป็นการหยุดชะงักพัฒนาการ แต่เราต้องพูดสองด้าน การรัฐประหารตนไม่เห็นด้วย คนทำก็ไม่อยากทำ ไม่ใช่นึกอยากก็ทำ แต่มันต้องมีเหตุก่อนรัฐประหาร แถลงการณ์ของ คปค. ฉบับหนึ่งมันมีเหตุอยู่จริง นายเสน่ห์ จามริก อีตประธาน กก. สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า รัฐประหารไม่ใช่ถอยหลัง เพราะบ้านเมืองก่อนหน้านั้นถอยหลังมามากแล้ว มีการครอบงำองค์กรอิสระ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ชัยชนะการเลือกตั้งก็มีความถามถึงการใช้เงิน การทุจริตเชิงนโยบาย การได้พรรคเสียงข้างมากชนิดเปิดอภิปรายนายกฯไม่ได้ ก็เกิดจากการควบรวมพรรค เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ผู้เลือกตั้ง เหตุการณ์ก่อนรัฐประหารมีจริงแต่ไม่พูดถึง คนไม่พูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น
นายนิกร กล่าวว่า ความขัดแย้งใน สังคมไทยไม่เคยเกิดจากข้างล่างแต่เกิดจากชนชั้นนำเสมอ เกิดจากฝ่ายการเมือง ความขัดแย้งเริ่มลุกลามสู่สถาบันที่เราเคารพและจบลงที่การยึดอำนาจ ความขัดแย้งตอนนี้ใช้ประชาชนเป็นกำลังในการต่อสู้ เป็นกองกำลังไม่ติดอาวุธที่ใช้ในการปะทะ และยังดำเนินอยู่ มีความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การสร้างความสมานฉันท์ เป็นนามธรรมใช้เวลานาน เช่นเดียวกับการปฏิรูปการเมือง แต่รูปธรรมคือการแก้รัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐธรรมนูญเหมือนลิ่ม ตอกลงในความขัดแย้ง สังคมกำลังแยกออก รัฐธรรมนูญกำลังเป็น สมรภูมิการเมือง
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่าทางออกของประเทศไทยจะหาอย่างไร ปัญหาคือรัฐธรรมนูญและตุลาการภิวัฒน์ ตน ไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญไหนที่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติมากเท่าฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ร่างบนพื้นฐานเดียวกับฉบับนี้ก็ย่อมสร้างความแตกแยกแน่นอน เพราะฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด โดยเขียนไว้ในมาตรา 309 แต่อีกฝ่ายแม้ไม่ได้ทำผิดก็อาจจะผิด มันจะไม่แตกแยกได้อย่างไร ขนาดมีเจตนาว่าจะไม่ทำผิดยังเอาตัวแทบไม่รอด ยิ่งปล่อยไว้นานก็เกิดความขัดแย้งมากขึ้น จุดจบอยู่ตรงไหนจะรอให้สิ้นชาติหรือไง นักการมืองบางคนก็ผสมโรง ระวังจะไม่มีเวทีให้ยืน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาคือความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ทางออกก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ตนในฐานะกรรมการสมานฉันท์ แก้ไปก็ไม่สมานฉันท์ แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในนั้นก็เห็นด้วย เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ถ้าจะให้ดีก็ แก้มาตรา 291 ตั้ง สสร. สาม ให้เวลาทำงาน สองปี ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นของประชาชนแล้วมานับหนึ่งกันใหม่ก่อนสิ้นชาติ ประเด็นคือจะยอมกันหรือเปล่า ทางออกมีทางเดียวคือแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อย่ามาเล่นแง่กันเลย และต้องแก้บนพื้นฐานเงื่อนไขเจรจา ถึงเวลาที่เราต้องลดละเลิกทิฐิ แล้วหันหน้ากัน ปัญหาที่เกิดขึ้นสุดท้ายบทจบ ไม่มีใครชนะแพ้แน่นอน
ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายเนวิน ได้ตอบคำถามจากผู้ร่วมรับฟังซึ่งถามว่าการนิรโทษกรรมให้จบเรื่องเก่านั้น รวมถึงการจบเรื่องตรวจสอบของศาลหรือไม่ โดยนายเนวินกล่าวว่า ไม่เกี่ยว เพราะสิ่งที่ตนนำเสนอในเรื่องการนิรโทษกรรม หมายถึงการนิรโทษกรรมให้แก่พี่น้องประชาชนที่เขามาร่วมชุมนุมทั้งเหลืองทั้งแดงที่ผ่านมา
"เขามาโดยความสุจริตใจในการแสดงออกทางการเมือง แต่ต้องถูกดำเนินคดีเพราะถูกชักจูงให้ไปละเมิดสิทธิ์คนอื่นเขา ทำไมเราไม่แกะเอาคนเหล่านี้ออกไปก่อนทั้งเหลืองทั้งแดง แสดงความสุจริตใจว่าเอาล่ะ เราอยากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย ผมเรียนยืนยันว่าสิ่งที่ผมนำเสนอ ไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้นักการเมือง หรือตัวผม ผมเรียนยืนยันนะครับและผมก็ไม่เห็นด้วยว่า จำเป็นอะไรที่จะต้อง มาเร่งนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองในขณะที่มีความขัดแย้งด้านการเมืองอยู่ แต่ผมกำลังมองว่าประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสุจริต ไม่ว่าเหลืองหรือแดงและไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย แล้วต้องมารับกรรม เขาควรได้รับการนิรโทษกรรมไปก่อน เอาฟืนออกจากกองไฟให้หมด แล้วจะเหลือไฟอยู่เท่าไหร่ก็ค่อยมาช่วยกันหาทางดับ นี่คือความเห็นของผม รัฐธรรมนูญก็เหมือนกันครับ มาตราไหนเห็นตรงกัน ไม่ขัดแย้งกันเลย เอ้าแก้ๆ มาตราไหนที่ยังเห็นต่างกันถ้าจำเป็นอยากจะแก้ก็ไปทำประชามติ ฟังเสียงส่วนใหญ่แล้วกลับมาแก้ คนเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าไม่ลืมเรื่องเก่า ลืมเรื่องส่วนตัวไม่ได้ คิดแต่เรื่องส่วนตัวแล้วไม่คิดถึงเรื่องส่วนรวม ผมว่าบ้านเมืองก็ลำบาก
ผมต้องเรียนตรงๆ นะครับ ผมเป็นคนทำใจได้ ผมอาจจะเป็นคนที่สังคมมองว่าผมเป็นคนอะไรก็ตามแต่ แต่ผมทำใจได้กับการที่ผมมานั่งหน้าท่านพล.อ.สนธิ (บุญรัตกลิน) ทั้งๆ ที่ท่านเป็นคนส่งผมไปนอน 10 วัน 11 คืน ผมไม่เป็นไร แล้วก็คุยกันได้ยกมือสวัสดีกันได้ ทักทายกันได้ ผมพบภรรยาท่าน ภรรยาท่านพบภรรยาผม ที่ไหนเราก็ทักทายพูดคุยกัน เพราะว่าเราต้องคิดถึงเรื่องส่วนรวมก่อนเรื่องส่วนตัว ผมยังยืนยัน เพราะฉะนั้น ผมเรียนยืนยันว่าถึงเวลาแล้วต้องกล้าทำให้คนสังคม และในสังคมโลกได้เห็นว่าประเทศไทย มันก้าวสู่จุดเริ่มต้นของการหันหน้าเข้าหากันแก้ปัญหาแล้วนะ
คือวันนี้ผมดูทุกอย่างกรรมการสมานฉันท์ทำงานตั้งแต่เดือนเมษา 3 เดือนกว่า เสร็จแล้วไปฉันท์กันข้างใน เสร็จแล้วออกมาแล้วก็ยังมาฉันท์กันต่อข้างนอก แล้วก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะทำอะไร มีข้อยุติไหม มีอะไรเป็นรูปธรรมไหมที่จะต้องทำ ถ้าเรากล้าพูดทั้งหมด แต่ไม่กล้าทำ บ้านเมืองเดินต่อไม่ได้ ในความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าต้องเริ่มต้นทำนับตั้งแต่วันนี้ แล้วเริ่มจบเรื่องเก่าให้ได้นับแต่วันนี้ ผมคงไม่ไปไกลกว่าที่พี่อ๋อย(จาตุรนต์ ฉายแสง) พูดว่าจะไปจบกันเมื่อไหร่ แล้วจบถึงตรงไหน หรือไปเริ่มกันใหม่ตรงไหน ไม่ครับ เอามันวันนี้ละครับ เพราะว่ามันไม่มีไทม์แมชชีนของโดเรมอนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่วันนี้ ถ้าเราเห็นตรงกันว่าต้องแก้ ต้องทำวันนี้แล้วลืมเรื่องเก่าให้ได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายเนวินพูดพาดพิงพล.อ.สนธิ ซึ่งนั่งรับฟังอยู่แถวหน้าของผู้ร่วมรับฟังเสวนา พล.อ.สนธิได้แต่ยิ้ม และรับฟังต่อไป
นายเนวินกล่าวด้วยว่า เรื่องไหนที่เห็นตรงกันก็ทำ เรื่องไหนที่เห็นยังไม่ตรงกันก็อย่าเพิ่งทำ ผมเชื่อว่าเรื่องท่านนายกฯทักษิณเนี่ย ยังเห็นไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งไปทำ ก็ทำเรื่องที่เห็นตรงกัน ก็เหมือนกับที่ท่านจาตุรนต์พูดว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำเรื่องนิรโทษกรรมพรรคการเมือง ทำเรื่องอื่นให้เสร็จ เลือกตั้งให้เสร็จ ถ้าเห็นว่าไม่ควรก็ไม่ควร
"คนเป็นนักการเมือง คนเป็นนักประชาธิปไตย ต้องพร้อมเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมครับ ผมก็อยากเห็นท่านนายกฯ ทักษิณ เสียสละเพื่อส่วนรวมเหมือนกันครับ ถ้าฝากข้อความนี้ไปถึงได้ผมก็อยากจะบอกว่าให้ท่านห้ามคนของท่าน ทำให้บ้านเมืองสมานฉันท์และสงบสุขไปสักพักหนึ่งแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จ บ้านเมืองเข้าที่เข้าทางแล้วเนี่ย เลือกตั้งกันใหม่แล้ว ถ้าสภาจะเห็นว่าควรจะออกกฎหมายให้ท่านกลับมา ก็ให้ท่านกลับ ก็ทำอย่างที่ท่านจาตุรนต์พูดนั่นแหละครับ หลักการเดียวกัน ผมก็คิดว่าควรจะต้องเป็นอย่างนั้น" นายเนวินกล่าว