ที่มา ไทยรัฐ
ดีเดย์ 17 สิงหาคม
เป็นวันระทึกของคนในสังคม
เพราะเป็นวันที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศระดมพลคนเสื้อแดงเรือนแสนเข้ากรุงเทพฯ
มาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก
โดยกลุ่มคนเสื้อแดงจะจัดส่งตัวแทนตั้งขบวน เข้ายื่นถวายฎีกาที่สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง
และในวันเดียวกัน ที่ศาลฎีกา สนามหลวง องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น
โดยในคดีนี้ มีนักการเมืองคนสำคัญหลายคนตกเป็นจำเลยร่วม อาทิ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตรฯ
รวมทั้ง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ แกนนำคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย
งานนี้มีลุ้นเสียว เพราะถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง ก็ถึงขั้นติดคุก ติดตะราง
แต่นายเนวินก็ออกมาประกาศชัดเจนว่า พร้อมที่จะไปฟังคำพิพากษาของศาล ถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิด ก็พร้อมที่จะรับโทษ ไม่หนีไปไหน
แน่นอน เมื่อนายเนวินไปฟังคำพิพากษา ย่อมต้องมีแนวร่วมกองเชียร์กลุ่มเสื้อสีน้ำเงิน แห่ไปให้กำลังใจเนืองแน่น
สถานการณ์ตรงนี้ ทำให้หลายฝ่ายอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า อาจจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน
หวั่นเกิดเหตุปะทะ ลุกลามบานปลาย
แต่แกนนำทั้ง 2 ฝ่าย 2 สีเสื้อ ก็ออกมายืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงปะทะกัน เพราะต่างฝ่ายต่างไปกันคนละภารกิจ ไม่เกี่ยวอะไรกัน
โดยเฉพาะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เน้นย้ำชัดเจนว่า เมื่อยื่นถวายฎีกาเสร็จแล้วก็จะยุติความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
ปล่อยให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม จากความเคลื่อนไหวในการเข้าชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่อดีตนายกฯทักษิณ
ชัดเจนว่า มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และกลุ่มคนที่คัดค้าน
มวลชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศที่ยังรักและชื่นชอบ "ทักษิณ" เข้าชื่อกันมาเป็นจำนวนมากโดยแกนนำ นปช.ออกมาประกาศว่า
มีผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านคน
ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งโต๊ะให้ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่เห็นด้วย ร่วมลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาดังกล่าว
ขณะนี้ยอดทะลุ 6 ล้านคนแล้ว และตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนมาร่วมลงชื่อคัดค้านไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
โดยฝ่ายที่สนับสนุนการยื่นถวายฎีกา มองว่าการยื่นเรื่องถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นเรื่องสามารถทำได้ ไม่ขัดกฎหมาย
ส่วนฝ่ายที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงก็มองว่า เป็นการกระทำที่ต่อขัดระเบียบกฎหมายไม่เหมาะสม ไม่บังควร
กลายเป็นความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำ ที่ออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อยื่นถวายฎีกา และตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการถวายฎีกา วุ่นวายไปหมด
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้สังคมหวั่นวิตกว่า จะกลายเป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรงในบ้านเมือง "เสื้อแดง" ปะทะ "เสื้อน้ำเงิน"
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ในการล่ารายชื่อถวายฎีกา มาโดยตลอด เราขอย้ำว่า
เกมนี้ "ทักษิณ" และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง บรรลุผลในการขับเคลื่อนไปแล้ว เพราะได้แสดงให้เห็นว่า
มีพลังมวลชนกว่า 5 ล้านคน ให้การสนับสนุน เรียกร้องให้ "ทักษิณ" กลับประเทศ
และมีความพร้อมที่จะยกระดับการต่อสู้ เพิ่มแรงกดดันไปรอบด้าน ทุกทิศทาง ทั้งระดับล่างและระดับบน
ส่วนรูปแบบการชุมนุมเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเพื่อยื่นฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการในวันที่ 17 สิงหาคมนี้
ถือเป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการเท่านั้น
ทั้งนี้ โดยเส้นทางของการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยื่นฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการแล้ว
ทางสำนักราชเลขาธิการก็จะต้องส่งฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการว่า นายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือจะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบว่า
ฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นฎีกาลักษณะใด
เป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษคดีอาญา หรือเป็นฎีกาเรื่องความเดือดร้อนทั่วไปของประชาชน
หากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ไม่สามารถตัดสินชี้ชัดออกมาได้ ก็อาจต้องส่งไปให้องค์อื่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาตีความอีกครั้ง
รวมทั้งอาจต้องมีการตรวจสอบรายชื่อของผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร
ถ้าผลตีความออกมาชี้ว่าเป็นเรื่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก็จะต้องส่งไปให้กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ พิจารณาว่าเข้าระเบียบหลักเกณฑ์หรือไม่
หรือถ้าเป็นฎีกาเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน นายกฯก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการพร้อมเสนอความเห็นประกอบการวินิจฉัย
ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย เป็นเรื่องของพิธีการ
และแน่นอนว่า ในกระบวนการต่างๆก่อนผ่านไปถึงการนำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ก็จะต้องมีการพิจารณาในกรณีที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าชื่อคัดค้านเรื่องการยื่นถวายฎีกาด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น การที่ฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง จะผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆหรือไม่
เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมายโดยเคร่งครัดและต้องใช้เวลา กว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา
ทั้งนี้ แม้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาประกาศชัดเจนว่า หลังจากยื่นฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการเรียบร้อยแล้วจะยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทันที
โดยให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัย
แต่ในห้วงเวลาที่หน่วยงานต่างๆดำเนินการพิจารณาว่าฎีกาดังกล่าวเข้าเงื่อนไขระเบียบหลักเกณฑ์กฎหมายตามกระบวนการหรือไม่
ก็ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะออกมาเคลื่อนไหวสำแดงพลัง กดดันรุกไล่ขยายผลทางการเมืองหรือเปล่า
ตรงนี้คือเงื่อนปมสำคัญ ที่สังคมต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เพื่อยื่นฎีกาต่อสำนักราช-เลขาธิการในวันที่ 17 สิงหาคมนี้
ซึ่งทำให้สังคมส่วนใหญ่หวั่นเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง เสื้อแดงปะทะเสื้อน้ำเงิน
ทีมของเราเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงลุกลาม
เพราะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชัดว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ยืดเยื้อ เสร็จภารกิจแล้วแยกย้ายกันกลับ
ที่สำคัญ หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงโดยการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง เหมือนเหตุการณ์จลาจลเดือนเมษายน
แน่นอน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ
เพราะจะเป็นการตอกย้ำข้อกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดี ที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกขึ้นมาโจมตีอยู่แล้ว ให้หนักขึ้นไปอีก
ฉะนั้น แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องคุมเกมอย่างเต็มที่
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง
เหนืออื่นใด ในสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่กลุ่มคนเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณในครั้งนี้
ก็อย่างที่ทีมของเราชี้ไว้แล้วว่า มาถึงวันนี้ "ทักษิณ" และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง บรรลุผลในยุทธศาสตร์การต่อสู้
ไปอีกระดับหนึ่งแล้ว
โดยแสดงให้เห็นว่า มีพลังมวลชนจำนวนมากหนุนอยู่
พร้อมที่จะยกระดับการต่อสู้ ต่อรอง กดดันทุกฝ่าย ทุกระดับ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความต้องการที่แท้จริงของ "ทักษิณ"
นั่นก็คือ ได้กลับเมืองไทยโดยไม่ต้องรับโทษจำคุก และทวงคืนขุมทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ที่ถูกอายัดไว้
ที่สำคัญ ในช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณได้ประกาศต่อหน้ามวลชนคนเสื้อแดงผ่านการโฟนอินและวีดิโอลิงก์ เน้นย้ำหลายครั้งหลายหนว่า
ปัจจัยสำคัญที่จะพาเขากลับประเทศไทยได้ ก็คือ พลังของประชาชน และด้วยพระเมตตา
วันนี้ ด้วยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในการล่ารายชื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ "ทักษิณ" ทำให้เห็นแล้วว่า
เขามีพลังประชาชนคนเสื้อแดง เป็นกำลังหนุน
ส่วนสำหรับปัจจัยที่เหลือ
ย่อมต้องมีการขยายผล กดดันหนักหน่วงรอบด้าน.
"ทีมการเมือง"