ที่มา ประชาไท
เรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในห้วงหลายปีมานี้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดระดับโลกได้เลยทีเดียว ค่าที่เป็นกรณีอันไม่มีใครเหมือนแลไม่เหมือนใคร สำนวนหนังฮอลลีวู้ดเรียกว่า “Only in Thailand” อันอาจจาระไนได้ดังนี้
1) เป็นประเทศเดียวในโลกจริงๆ ที่มีการขับไล่รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้ง ด้วยการกวักมือเรียกทหารให้มาทำการปฏิวัติ ครั้นก่อการสำเร็จ ก็มีคนนำเอาดอกไม้ไปคล้องปากกระบอกปืนรถถัง จนเป็นภาพข่าวฮือฮาไปทั่วโลก
2) เป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยให้ปวดสมองเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างพม่า อันมีทั้งไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะฉิ่น คะยา ฯลฯ ซึ่งเป็น potential problem ที่รัฐบาลของเขาเองก็กังวลอยู่ไม่น้อย ครั้นปัญหาไม่มี จึงแบ่งกลุ่มกันเองโดยใช้สีเสื้อเป็นสัญญลักษณ์ เริ่มจาก “เหลือง” ก่อน แล้วก็มา “แดง” บางครั้งก็มี “ขาว” โผล่มาแจม หลังสุดมาแรงคือ “น้ำเงิน” เหมือนประเทศมีมหกรรมกีฬาสี เพียงแต่เป็นกีฬาสีที่กะเอากันถึงตาย แต่ละกลุ่มจึงออกแนวอาฆาตมาดร้ายกันสุดๆ ทั้งที่ต่างก็ถือบัตรประชาชนออกโดยกระทรวงมหาดไทยใบเดียวกันแท้ๆ
เป็นกีฬาสีมาราธอนที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร และอย่างไร นับว่าเป็นปรากฏการณ์ Only in Thailand จริงๆ
3) เป็นประเทศที่มีรัฐบาล แต่บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ รัฐบาลชุดหนึ่ง นายกฯ ถูกให้ออกเพราะไปสอนทำกับข้าวทางโทรทัศน์ รัฐบาลชุดต่อมาต้องด่วนลงโรง เพราะพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ทั้งที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกเข้ามามากสุด (เป็นเรื่องประหลาดซ้อนประหลาด – ผู้เขียน) รัฐบาลหลังสุดก็ยิ่งบริหารลำบาก เพราะเป็นพรรคร่วมเสียงปริ่มน้ำ ต่างเกรงใจกันไปเกรงใจกันมา นายกฯ เองลงพื้นที่แต่ละทีต้องมีกำลังอารักขาเป็นเรือนพัน ครั้นจะจัดงานประชุมนานาชาติก็ต้องใช้กองกำลังจาก 3 เหล่าทัพมาดูแลโรงแรมที่พักของอาคันตุกะ โรงแรมละ 1 เหล่าทัพ
อย่างนี้ ไม่เรียก “Only in Thailand” จะให้เรียกว่าอะไรหนอ?!
4) เป็นประเทศที่รัฐบาลมีแนวคิดในการจัดการเรื่องใดๆ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ยกตัวอย่างกรณีการแก้ปัญหาโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แทนที่จะมุ่ง “ออกมาตรการ” ต่างๆ มาควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค กลับไป “แก้ไขตารางการรายงานสถานการณ์ของโรค” โดยเปลี่ยนจากรายงานทุกวันเป็นอาทิตย์ละหนแทน
เจ้า “หวัดใหญ่” ก็เลยเริงร่า ทำท่าว่าจะลงหลักปักฐานเป็น permanent residence อยู่ในสยามประเทศให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย (สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ตัวนี้ที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาสงบลงจนแทบจะไม่มีใครพูดถึงกันแล้วในตอนนี้ ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีข่าวการแพร่ระบาดและผู้คนเสียชีวิตขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน – ผู้เขียน)
5) เป็นประเทศที่อุดมไปด้วย “โฆษก” เฉพาะฝั่งรัฐบาลเองก็ปาเข้าไปอย่างน้อย 3 หน่อ คือ โฆษกรัฐบาล หรือโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อาจารย์ ปณิธาน) โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (เป็นหมอชื่อ บุรณัชย์) และโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคปชป. (เป็น สส. ชื่อ เทพไท) แต่ละท่านก็มีหน้าที่ออกมา “แย่งชิงพื้นที่ข่าว” อันเป็นวิถีทางการเมืองที่เชื่อกันว่าจะทำให้ฝ่ายของตนได้เปรียบคู่แข่งขัน ซีกฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย) ที่มีบทบาทเด่นหน่อยก็เห็นจะเป็นโฆษกพรรค (อดีตพระเอกหนังชื่อ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์) แถมให้อีก 1 ก็คือ ส.ส. เชียงใหม่อย่างคุณสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ซึ่งก็ไม่ได้เป็นโฆษกอะไร แต่มีชื่อโลดแล่นอยู่บนกระดานข่าวค่อนข้างมาก
เหตุที่ “โฆษก” มีความสำคัญก็เพราะ บ้านเมืองนี้เขาอยู่กันได้ด้วยกระแส วันๆ ผู้มีอำนาจจึงต้องคิดให้ได้ว่าจะใช้ข่าวอะไรไปกลบข่าวที่กำลังเป็นภัยกับตนเอง อาทิเช่น อาศัยข่าวคดีลอบสังหารแกนนำพันธมิตร กลบข่าวเสื้อแดงถวายฏีกา แล้วให้ข่าวปลดผู้บัญชาการตำราจแห่งชาติมากลบข่าวคดีลอบสังหารฯ อีกทอดหนึ่ง ที่ฮือฮาสุดก็คือข่าว “หมีแพนด้าตกลูก” บดบังเรื่องรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจไม่เอาไหนเสียอยู่หมัดนานเป็นแรมเดือนเลยทีเดียว
สงครามยึดพื้นที่ข่าวจึงเป็นเรื่อง “Only in Thailand” ที่ชัดเจนอีกเรื่องหนึ่ง
6) เป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนมีความอดทนกับนักการเมืองสูงมากๆ ดังตัวอย่าง
(1) ส.ส. ในสภายกมืออนุมัติให้รัฐบาลกู้เงินตั้ง 800,000 ล้านบาทไปทำอะไรก็ไม่รู้ ... ประชาชนก็ไม่ว่าอะไร
(2) ส.ว. (ซึ่งควรต้องเป็นกลาง) กินเงินเดือนเป็นเรือนแสน วันๆ ทำแต่เรื่องไม่สมานฉันท์ ... ประชาชนก็ไม่ว่าอะไร
(3) คนเป็นรัฐมนตรีสั่งให้ข้าราชการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อชาวบ้านมาสู้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน ... ประชาชนก็ไม่ว่าอะไร
ฯลฯ
เรื่องชวนพิศวงที่เกิดขึ้นกับสยามประเทศในห้วงหลายปีมานี้ยังมีอีกมาก แต่ละเรื่องล้วนบั่นทอนการพัฒนาชาติประเทศไม่ให้ก้าวรุดไปข้างหน้าเพื่อจะได้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย บางเรื่องก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง บางเรื่องเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรม แต่หลายเรื่องกลับเป็นความอ่อนด้อยทั้งในทางคุณภาพและทางทัศนคติของผู้คน
เป็น “ปัญหาในองค์รวม” ที่ต้องรีบหาจุดเริ่มต้นเพื่อการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครควรเป็นเจ้าภาพ แต่ความจริงก็คือเวลาที่มีอยู่เหลือน้อยลงไปทุกขณะแล้ว