ที่มา สยามรัฐ
โดย จักรดาว บุณยดิษฐ์27/11/2552
“2มาตรฐาน” จะเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความ “อยุติธรรม” ในสังคมเราอีกครั้งหนึ่งจาก “อำนาจรัฐ” ที่มักจะเป็น “กับดัก” ของผู้ขึ้นมาบริหารบ้านเมือง
รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะเป็นรัฐบาลของประชาชนทั่วประเทศ แต่แล้วธาตุแท้ก็เปิดให้เห็นแก่นของขั้วหัวใจว่า เขาเป็นรัฐบาลสีเหลือง และเริ่มเพิ่มความเหลืองขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนขณะนี้เป็นรัฐบาลเหลืองเข้ม-เข้ม
เขาได้แปรสภาพจาก “แนวร่วม” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการโค่นล้มศัตรูทางการเมืองอย่างรัฐบาลทักษิณและนอมินี พอครองอำนาจนานวันเข้า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็น “แก่นแกน” ของการบดขยี้ขบวนการเสื้อแดงและพลพรรคทักษิณ โดยมีคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อเขียวเป็น “แนวร่วม”
ฉะนั้น วินาทีนี้ ขั้วความขัดแย้งในสังคมที่ก่อวิกฤติทางการเมืองแจ่มชัดยิ่ง ขั้วแรกคือขั้วรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์กับขั้วคุณทักษิณ การเมืองของเราจึงวางฐานอยู่บนการต่อสู้ที่เข้มข้น-รุนแรง
รัฐบาลมาร์คจึงไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่เป็นรัฐบาลของคนเสื้อเหลืองและกลุ่มอำมาตยาธิปไตย เห็นคนเสื้อแดง คนรากหญ้า พรรคเพื่อไทยและรากเหง้าของคุณทักษิณเป็น “ศัตรู”
เครือข่ายทักษิณ ต้องการโค่นล้มรัฐบาลมาร์ค ภายใต้ความเชื่อและเรียกร้องความเป็นธรรม ประกาศตัวว่าเป็นนักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ทว่าก็ซ่อนปมผลประโยชน์ทั้งทางอำนาจทางการเมืองและอำนาจของกระบวนการยุติธรรมด้วยการปลด “โซ่ตรวน” ทั้งทางคดีและเงินตรา
“ความปรองดอง” หรือ “ความสมานฉันท์” มันจึงเป็นเพียงประติมากรรม “น้ำลาย” เป็นเพียงกลยุทธ์ในการเอาชนะศัตรูทางการเมืองเท่านั้น
“สงคราม” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมแล้ว และจะเห็นความรุนแรงที่ปรากฎและที่ซ่อนเร้น รอวันปะทุ-ระเบิด นำสู่ความสูญเสียชีวิต-เลือดและน้ำตา
สิ่งที่เจ็บช้ำน้ำใจและปวดร้าวก็คือ ทั้งสองขั้วอำนาจที่ต่อกรกัน ต่างก็อ้างสถาบันสูงสุดอันเป็นที่รักยิ่งของมวลมหาประชาชน นำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” นำมาเป็นอาวุธที่สาดใส่อีกขั้วอำนาจหนึ่ง ด้วยความไม่ระมัดระวังและใส่ใจ-รักษาและเทิดทูลจริง-จริง
เฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐ มีอุดมการณ์ที่ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ไม่เลื่อมใส-ศรัทธาสถาบันใด-ใด มาวันนี้ทิ้งปืนเข้าสู่แวดวงทางการเมืองทั้งในระบบรัฐสภาและการเมืองข้างถนน กลับมาบอกว่า ตัวเองเทิดทูล-จงรักภักดี สุดจิตสุดใจ แล้วอีกฝ่ายหนึ่ง-ไม่ว่าจะแดงหรือเหลืองก็ตาม “ไม่จงรักภักดี” จนเกิดคำถามว่า พวกนี้กำลังทำอะไรกันอยู่หรือ???
อำนาจพิเศษและบริสุทธิ์ของสถาบันอันเป็นที่รัก นับเป็น “ยูโทเปีย” ของเราชาวไทย ที่เข้าแก้ไขปัญหาทั้งทางการเมือง ในเหตุการณ์สำคัญๆให้สงบลงอย่างนุ่มนวล และถอดปมความอยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เดินหน้ามุ่งสู่ความสุขที่ยั่งยืน เป็นตัวของตัวเองอย่างสง่างาม รู้จักรับและทิ้งด้วยการคัดสรรแนวทางแห่งความสุขสู่มวลชน
ฉะนั้น อย่าให้อาจมของนักการเมืองหรือคู่ต่อสู้ทางอำนาจ ระรานก้าวเข้ามาจนสถาบันพิเศษนี้ต้องแปดเปื้อน-ดีกว่ากระมัง
กล่าวสำหรับคุณอภิสิทธิ์และคุณทักษิณ พร้อมกับพลพรรคของทั้งสองฝ่าย ใช้เวลาว่างๆสงบๆทำจิตให้โปร่งใส เปิดทางให้กับปัญญาแล้วทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง ท่านจะค้นพบสัจธรรมที่จะนำทางให้ทั้งส่วนตัวและสังคม
“รากเหง้า” แห่งปัญหาและจำต้องแก้ไขให้ “ลดทอน” ลงเรื่อยๆ คือความยุติธรรมในสังคม...
ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่ชี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ มีอยู่ในระดับสูงมาก นโยบายของรัฐเปิดช่องให้มีการแสวงหา “ผลกำไรส่วนเกิน” ในรูปแบบต่างๆ มีการผูกขาดด้วยการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงสร้างของรัฐ
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงมีโอกาสเรื้อรังต่อไป เพราะการปฏิรูปทางการเมืองที่เน้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฏ กติกา การเลือกตั้ง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆได้ ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนกลุ่มต่างๆยังไม่ได้รับการแก้ไข
ครับ โจทย์ใหญ่ของเราก็คือ จะต้องมีการลงมือปฏิรูปหรืออาจจะปฏิวัติทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลี่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน “ถ่าง-ห่าง” กันอย่างลิบลับ
รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ป่าวประกาศเต็มๆรูหู แบบกรอกเช้า สาย บ่าย เย็น ทั้งก่อนอาหารและหลังอาหารวันละ 4 เวลา ว่า จะสร้างเศรษฐกิจให้ไทยเข้มแข็ง แต่เมื่อเจาะเข้าไปดูนโยบายหรือมาตรการที่ออกมารองรับเงินกู้ 8 แสนล้านบาทแล้ว มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เป็นโคตรประชานิยม หาเสียงล่วงหน้าเพื่อฐานทางการลงคะแนนเท่านั้น และก็เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการเอาชนะอีกขั้วอำนาจหนึ่ง ขาดความจริงใจในการรังสรรนโยบายสาธารณะ
ซึ่งคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยเห็นว่า โครงการไทยเข้มแข็งที่ออกมาเป็นมาตรการชั่วคราวทั้งนั้น
“โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การคมนาคม การศึกษา กฏหมาย”
หรือจะให้รวบรัดที่สุดก็คือ รัฐบาลนี้ไม่ได้นำแนวทางปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มองไปที่รากเหง้า แต่ผลิตมาตรการมาอย่างฉาบฉวย
ขณะที่มีการต่อสู้ของสองขั้วอำนาจ จะมีกระแสข่าวถึงการยึดอำนาจรัฐประหารจากผู้นำในกองทัพที่มีอาวุธออกมาเป็นระยะๆเช่นกัน เพื่อว่าจะ “ล้างไพ่” ใหม่
ในวิธีการอย่างนี้ ยังไม่รู้ว่า จะเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือยิ่งเป็นการสร้างปมปัญหาขึ้นมาอีก บทเรียนในอดีตของวงจรอุบาทว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เฉพาะอย่างยิ่งในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มันได้กดหัวจักรของความเจริญและระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอุดมการณ์ของสังคมโลกให้ “จมดิ่ง” ลงไป-ลงไป เพราะการจะใช้วิธีการยึดอำนาจมาสร้างประชาธิปไตยนั้น ผมว่าดูจะเป็นเรื่องที่ “ไร้เดียงสา” ยิ่งนัก
และความไร้เดียงสานี้ไม่ได้อยู่ที่พื้นฐานความรู้ใด-ใด แต่อยู่ที่จิตวิญญาณและความโปร่งใสในอำนาจ-ในผลประโยชน์ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
ผมเห็นด้วยและอยากเห็นจริงๆอย่างเร่าร้อนในลักษณ์ของ “ว่าด้วยการปฏิบัติ” หาใช่เพียงเล่ห์เพทุบายทางการเมืองในสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์สร้างเป็นเงื่อนไขหากจะมีการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนตัดสินไว้ 3 ประการ
1.อยากเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง (แต่นโยบายที่ออกมามันระยะสั้น- ฉาบฉวยและขาดความจริงใจ มันจะยั่งยืนได้อย่างไร)
2.อยากเห็นกติกาในการเลือกตั้งใหม่ (เป็นถึงนักการเมืองดาวสภา เป็นถึงผู้บริหารสูงสุด มองสั้นมากแค่ กติกาเลือกตั้ง)
3.อยากเห็นทุกฝ่ายเลิกขัดขวางการทำงานการเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง (แล้วตอนเป็นฝ่ายค้านไปสุมหัวกับใครเล่า ตอนเป็นรัฐบาลก็ใช้กลไกรัฐเพื่อประชาชนหรือเพื่ออะไร)
ฉะนั้น เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ไม่ได้เป็นประเด็นที่คุณอภิสิทธิ์มีความจริงใจจะทำให้เกิดขึ้นจริง เพียงพูดสร้างเกมเท่านั้น หรือว่าไม่จริง-เด็กแสบ