ที่มา ประชาไท
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดเทศกาล มองและอ่านสัปดาห์หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยเมื่อ 12 พ.ย. มีการจัดเวทีเสวนา “ความรู้และความไม่รู้และการเมืองของคนเสื้อแดง” โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญาญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชัยธวัช ตุลาฑล กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
พฤกษ์ เถาถวิล ได้เสนอว่า การศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงต้องเริ่มจากการรื้อถอนกรอบความคิดที่มองว่า ชาวบ้านเป็นผู้เฉื่อยชาทางการเมือง ตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์อย่างไร้ความคิด เลิกมองว่าการเลือกตั้งคือการซื้อขายเสียงอย่างไร้สติ และหลุดจากความคิดแบบสองนัคราประชาธิปไตย ที่ไม่ช่วยให้เข้าใจเงื่อนไขหรือความซับซ้อนของชนบทแต่อย่างใด แต่เราควรเริ่มจากมองเห็นชาวบ้านเป็นผู้กระทำการ มีการเรียนรู้ มีการต่อรองเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น แต่ก็อย่ามองชาวบ้านเกินความเป็นจริง ที่จะต่อสู้ทางการเมืองอย่างมีเป้าหมาย อุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ชัดเจน แต่พวกเขาต่อสู้ภายใต้เงื่อนไขที่เผชิญอยู่ ด้วยกลยุทธต่างๆที่พวกเขาจะใช้ได้ “พูดอีกอย่างพวกเขาพยายามปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่เขาเสียเปรียบให้เป็นไปในทางที่ดีเสมอ ด้วยวัสดุอุปกรณ์เท่าที่จะมี”
พฤกษ์เห็นว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้มากขึ้นเสมอ ปัจจุบันการซื้อเสียงไม่อาจใช้เงินอย่างเดียว แต่ชาวบ้านเรียนรู้ว่าต้องมีอย่างอื่นที่เหนือกว่านั้น ชาวบ้านรู้มากขึ้นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่เขาได้คนอย่างทักษิณมา ได้ประชานิยมมา คือสิ่งที่เข้าต้องการ เขาเป็นเจ้าของ เขาได้ประโยชน์ ถ้าแปลความหมายก็คือ เขาเป็นเจ้าของอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง หรืออำนาจในการปกครอง การออกมาแสดง ความรักความภักดีต่อทักษิณ จะแปลความได้ไหมว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคล แต่คือการแสดงออกซึ่งการปกป้องการมีส่วนแบ่งทางอำนาจของพวกเขา
เมื่อไปเก็บข้อมูล พฤกษ์ ได้พบกับผู้คนที่ไม่เฉพาะเป็นคนรากหญ้าที่ยากจนเท่านั้น แต่กลับมีบุคคลที่หลากหลายฐานะและอาชีพ เมื่อถามว่าพวกเขามาทำไม??? ในเบื้องต้นพวกเขาตอบว่ารักและศรัทธาทักษิณ แต่เมื่อพูดคุยสร้างความคุ้นเคยและสอบถามเจาะลึกลงไป คำตอบที่ได้รับอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นก็คือความชื่นชอบในนโยบายและความสามารถในการบริหาร อย่างนี้จะแปลได้ไหมว่า นี่คือ ความภักดีต่อพรรคการเมืองนโยบายพรรคการเมืองและความสามารถในการบริหารของผู้นำ อย่างนี้ไม่ใช่หรือที่นักรัฐศาสตร์เห็นว่าคือการเมืองที่ก้าวหน้า เหมือนที่เป็นอยู่ในอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น
กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดที่เก็บข้อมูล มีการแตกตัวออกไปหลายกลุ่ม มีการจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองในท้องถิ่นอย่างชัดเจน มีด้านที่นักการเมืองพยายามเข้ามามีบทบาทในการชักนำ แต่ก็มีด้านที่กลุ่มคนเสื้อแดงต่อรองกับนักการเมืองให้มาออกหน้า มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขาอย่างเปิดเผย และกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แน่ชัดว่าจะต่อสู้ร่วมกับพวกเขาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและกำลังศึกษาต่อไป