WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, December 3, 2009

5ธันวา100ปีชาตกาลขุนพลภูพาน:วีรบุรุษกู้ชาติ

ที่มา Thai E-News


สหายศึก-เตียง ศิริขันธ์ กับทหารอังกฤษ พันตรีเดวิด สไมเลย์(ซ้าย)และสิบเอก"กันเนอร์"คอลลินส์ พนักงานวิทยุของผู้พันสไมเลย์


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา หนังสือตำนานเสรีไทย โดยดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
3 ธันวาคม 2552

ไทยมีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณ


ภารกิจของกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง"พลพรรคเสรีไทย"สามารถบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ก็ด้วยความร่วมมืออย่างเอาชีวิตเข้าแลกของบรรดาผู้แทนราษฎรที่มีความรักชาติและมีความศรัทธาในตัวนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย

โดยรับคำสั่งและนโยบายไปปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพ ผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยส่วนใหญ่เป็นส.ส.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นปึกแผ่นของพลพรรค มีการจัดสร้างสนามบินลับเพื่อรับส่งบุคคลากร ตลอดจนอาวุธยุมโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร

เตียงขณะปฏิบัติภารกิจลับเสรีไทยกู้ชาติบนเทือกเขาภูพาน


นายเตียง ผู้แทนราษฎรังหวัดสกลนครเป็นเสรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดผ้หนึ่ง จนกระทั่งได้รับสมญาว่า"ขุนพลภูพาน"

นายเตียงเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปพบนายปรีดีที่บ้านถนนสีลมในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นบุกเข้ายึดประเทศไทยในรุ่งสางวันนั้น และรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามได้มีมติยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีมลายูและพม่า อาณานิคมของอังกฤษ

การประชุมในวันนั้นทุกคนได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง"องค์การต่อต้านญี่ปุ่น"ขึ้น และมอบให้นายปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้า

ผู้ที่มาพบนายปรีดีเพื่อร่วมกันก่อตั้งหน่วยใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นค่ำวันนั้นประกอบไปด้วย หลวงบรรณกรโกวิท(เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัตน์(ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

ทั้งหมดมอบหมายคณะกู้ชาติให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายปรีดีโดยเด็ดขาด และกระทำสัตย์สาบานว่า จะอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอุทิศตัว หรือแม้กระทั่งชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ

องค์การใต้ดินนี้ ซึ่งต่อมาคือเสรีไทย มีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติอยู่ 3 ด้านคือ
1.ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังของคนไทยผู้รักชาติและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ2.ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยนั้นไม่ได้เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร และ3.การปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามยุติ


นายปรีดีได้ขอให้ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการรักษาความลับและปิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูทำลายขบวนการได้ และให้ถือว่าเขตปฏิบัติการของขบวนการภายในประเทศคือ ดินแดนของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น ทั้งนี้จนกว่าจะยึดพื้นที่นอกกรุงเทพฯได้ แล้วจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น การต่อสู้จึงจะกระทำการอย่างเปิดเผย

หลังจากพยายามจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในหลายที่ใกล้เคียงกับไทย รวมทั้งพม่าไม่บรรลุผล ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดีตัดสินใจส่งนายจำกัด พลางกูร นักเรียนนอกอังกฤษ บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นผู้แทนขององค์การเล็ดลอดออกจากประเทศไทยไปนครจุงกิงของจีน เพื่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือจีน อังกฤษ สหรัฐฯ เพื่อขอการสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น

หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้เตียงเป็นผู้นำทางจำกัดไปยังจังหวัดนครพนมเพื่อลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงไปยังเมืองท่าแขกของลาว และเล็ดลอดเข้าประเทศจีน

เตียงกับจำกัดเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเป็นคนต้นคิดตั้งขบวนการองค์การต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกัน ก่อนจะไปขอให้ปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการ

เตียงกับภรรยา นางนิวาศน์ ศิริขันธ์

เตียงได้ถอดแหวนนามสกุลของเขาที่สวมอยู่ให้จำกัดเอาไว้ขายยามที่ต้องการใช้เงิน นอกจากนั้นได้ขอยืมกำไลและสร้อยล็อกเก็ตฝังเพชรของนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ ผู้ภรรยาให้จำกัดนำไปใช้ติดตัวในภารกิจกู้ชาติ ก่อนส่งจำกัดข้ามโขง

นั่นเป็นหนสุดท้ายที่สหายร่วมอุดมการณ์ได้พบกัน เพราะหลังจากไปปฏิบัติภารกิจกู้ชาติในจีนอย่างยากลำบาก จำกัดได้เสียชีวิตลงในจีนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 นั่นเอง

แต่ด้วยผลงานของจำกัดที่ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจนสำเร็จ ในกลางปี2487 กองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯสามารถติดต่อกองบัญชาการสูงสุดของพันธมิตรได้ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้เสรีไทย โดยทิ้งร่มลงมาทางเครื่องบิน

เตียงกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สหายร่วมรบเสรีไทย 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหารโหดทางการเมืองในเวลาต่อมา

นายเตียงได้รับมอบหมายจากปรีดีให้เป็นหัวหน้าเสรีไทยอีสาน ทำงานร่วมกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด โดยเตียงใช้รหัสลับว่า"พลูโต"เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด

เตียงได้จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยหน่วยแรกขึ้นที่บ้านโนนหอม อยู่ห่างจากจังหวัดสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อมาจัดตั้งหน่วยอื่นๆขึ้นที่บ้านเต่างอย และบ้านตาดภูวง เป็นต้น และร่วมกับจำลอง ดาวเรือง จัดตั้งค่ายที่บ้านนาคู กุจินารายณ์ กาฬสินธุ์ เชิงเทือกเขาภูพาน และสร้างสนามบินลับนาคูขึ้นเพื่อใช้สำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร

การจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยอีสานนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากส.ส.อีสานที่รักชาติ ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำครู รวมทั้งครูครอง จันดาวงศ์ (ซึ่งต่อมาถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ สั่งยิงเป้าข้อหาคอมมิวนิสต์) และสงวน ตุลารักษ์ ซึ่งเดินทางกลับจากจีนได้มาร่วมมือกับเตียงในการตั้งสถานีรับส่งวิทยุที่เทือกเขาภูพาน

นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ และสหรัฐฯที่เดินทางเล็ดลอดเข้ามาร่วมภารกิจกู้ชาติกับนายเตียง เช่น ร.อ.กฤษณ์ โตษยานนท์ ร.อ.ฉลอง ปึงตระกูล ร.อ.อำนวย พูนพิพัฒน์ เป็นต้น

ภารกิจเสรีไทยนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เพราะกองทหารญี่ปุ่นกระจายไปยึดครองทั่วประเทศ ไม่ใช่การใช้ประเทศไทยเป็นทางเดินทัพผ่านอย่างที่พูดกัน

นายสุจิต โรจนชีวะ อดีตครูโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เขียนบันทึกไว้ว่า ในเดือนมกราคม 2488 นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่มาอบรมให้พวกเราเป็นกองโจรกู้ชาติ ต้องทนต่อความลำบากหลายอย่าง ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2488 ขณะหัวหน้าใหญ่(เตียง)กำลังฝึกอบรมอยู่ก็มีรายนงานว่าทหารญี่ปุ่น 12 นายเดินทางมาใกล้ค่ายของเรา หัวหน้าใหญ่ได้รวมพลและสั่งให้พวกเรารักษาค่าย และออกสกัดจับทหารญี่ปุ่นทั้ง 12 นายให้ได้ โดยเราติดตามทหารญี่ปุ่นไปจนเวลาตีหนึ่งกว่าจึงทราบพิกัด และวางแผนจับในเช้าวันรุ่งขึ้น หากพบญี่ปุ่นคนใดขัดขืนก็คงต้องยิงกัน และจับไม่ให้เหลือรอดแม้แต่คนเดียว แต่ราว16.00น.ก็มีรายงานว่าญี่ปุ่นเล็ดรอดดงหลวงเข้าไปตัวเมืองสกลนครเสียแล้ว เราจึงถอนตัวกลับเข้าค่าย

ในวันที่ 28 กรกฎาคมเมื่อหัวหน้าใหญ่(เตียง)ได้กลับจากสนามบินลับนาคู พวกเราก็รายงานเรื่องนี้ให้ทราบ หัวหน้าใหญ่กล่าวว่า ที่พวกเรามิได้ทำอันตรายใดๆให้แก่ญี่ปุ่นเป็นการดีแล้ว เพราะถ้าญี่ปุ่นได้รับอันตรายกจะเป็นชนวนให้เกิดเรื่องใหญ่ระดับชาติ "รูธ"(ปรีดี)หัวหน้าใหญ่เสรีไทยได้สั่งการมาว่าอย่าเพิ่งทำอันตรายแก่ญี่ปุ่นเป็นอันขาด

รุ่งขึ้นพวกเราต้องอพยพย้ายค่ายไปยังถ้ำผาด่าง,ถ้ำผานาง เพราะญี่ปุ่นสงสัยว่ามีกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ที่ค่ายนี้ ส่วนรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นที่หลบภัยของรัฐบาลไทย เมื่อพวกเราอพยพไปแล้วก็ได้ดัดแปลงให้เป็นที่หลบภัยของฝ่ายรัฐบาลไทยตามที่อ้างไว้กับญี่ปุ่น การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องขนยุทโธปกรณ์ไปด้วย การอยู่ในถ้ำก็ลำบากมาก เพราะอยู่ในชะเง้อหินใต้เขายาวไปตามไหล่เขา อีกข้างเป็นเหวลึก เมื่อโผล่ออกจากถ้ำจะเห็นพื้นดินชันลง45องศา กลางวันแทบไม่เห็นพระอาทิตย์

ต่อมาทหารญี่ปุ่น200นายขอเข้าค้นค่ายกองโจรของเรา เราก็เตรียมปะทะเต็มที่ แต่พอถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2488 ได้รับทราบจากวิทยุสนามของอังกฤษว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้วหลังจากถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณู วันที่15สิงหาคมข้าพเจ้าพร้อมกับหัวหน้าใหญ่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองที่ญี่ปุ่นยอมยุสงครามในโรงเรีบนประจำอำเภอพรรณานิคม

ในปลายเดือนกันยายน2488เมื่อสงครามสงบลง มีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ จังหวัดสกลนครได้ร่วมขบวนสวนสนามจำนวน 4 กองร้อย เดินสวนสนามจากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนินใน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงพระบรมรูปทรงม้า เป็นการสิ้นสุดสวนสนาม นับเป็นอันสิ้นสุดภารกิจเสรีไทย

การเดินสวนสนามของเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนิน เมื่อ 25 กันยายน 2488

ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็กลับไปรับราชการครู โดยมิได้รับอะไรเป็นเครื่องตอบแทนในการทำงานเสรีไทยแต่ประการใด มีแต่ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องพร้อมสละกระทั่งชีวิต โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น นอกจากเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ

ส่วนปผู้ปฏิบัติงานเสรีไทยที่สนามบินลับนาคูเล่าว่า ในภารกิจกู้ชาติร่วมกับเตียงและส.ส.ถิล ส.ส.จำลองนั้นเกิดการปะทะกับทหารญี่ปุ่น2ครั้ง ครั้งแรกพลพรรคเสรีไทยที่เป็นครูประชาบาลเสียสละชีพ 1 นาย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหมด หนที่สองปะทะกันที่บ้านหนองห้างห่างจากสนามบินลับ 17 กิโลเมตร ทหารญี่ปุ่นถูกสังหาร 18 นาย พลพรรคเสรีไทยปลอดภัย

ปรีดี พนมยงค์ "รูธ"หัวหน้าขบวนการเสรีไทยประกาศสันติภาพ ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทยและรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

หลังญี่ปุ่นประกาศยอมยุติสงคราม นายปรีดีได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 18 สิงหาคม 2488 วีรกรรมของเสรีไทยทำให้ประเทศไทยพ้นจากสภาพประเทศแพ้สงคราม ไม่ต้องถูกมหาอำนาจผู้ชนะต้องยึดครอง หรือแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นเสี่ยงๆเหมือนที่กระทำกับประเทศผู้แพ้สงครามโดยทั่วไป

ไทยมีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณ

ปฏิทิน 100 ปีชาตกาลขุนพลภูพาน:วีรบุรุษที่ยังไร้อนุสาวรีย์

-5 ธันวาคม 2452 เตียง ศิริขันธ์ เกิดที่จังหวัดสกลนคร หากมีชีวิตถึงวันนี้จะอายุครบ 100 ปี
-พ.ศ.2473 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
-พ.ศ.2477 ถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ขณะเป็นครูที่อุดรธานี
-7พ.ย.2480เป็นส.ส.สมัยแรก และเป็นต่อมาอีก5สมัย
-8ธ.ค.2484วันญี่ปุ่นบุกยึดไทย นายเตียงเข้าพบปรีดี พนมยงค์ขอให้ตั้งขบวนการเสรีไทย
-ปฏิบัติงานเสรีไทยใช้รหัสชื่อ"พลูโต"เป็นหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานจนถึงวันประกาศสันติภาพ16ส.ค.2488
-31ส.ค.2488 เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก
-9 มิ.ย. 2489 เกิดกรณีร.8สวรรคต นายปรีดี พนมยงค์ลาออก
-8 พ.ย.2490 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจ กลุ่มนายปรีดีถูกขจัดออกจากอำนาจ
-26ก.พ.2492 นายปรีดีพยายามยึดอำนาจคืนแต่พ่ายแพ้กลายเป็นกบฎวังหลวง
-4 มี.ค.2492 อดีต4รัฐมนตรีสายปรีดีถูกสังหารโหดที่บางเขนคือดร.ทองเปลว ชลภูมิ,ถวิล อุดล,จำลอง ดาวเรือง,ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แต่ครูเตียงรอด
-12 ธ.ค.2495 ครูเตียงถูกพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เชิญไปพบและหายสาบสูญ หลายปีต่อมาถูกเปิดเผยว่าโดนฆ่ารัดคอและเผาที่กาญจนบุรี เมื่อ14 ธ.ค.2495 เสียชีวิตในวัยเพียง 43 ปี
-วันนี้ ชาวสกลนครกำลังระดมทุนราว3ล้านบาทเพื่อสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติขุนพลภูพานให้ทันวันชาตกาล 100 ปี 5 ธันวาคม2552
-5 ธันวาคม 2552 ยังไม่สามารถเปิดอนุสาวรีย์ได้เนื่องจากมีข้ออุปสรรคหลายประการ


วีรบุรุษ"พลูโต"100ปีที่ยังไร้อนุสาวรีย์

*บริเวณวนอุทยานที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์(พลูโต)แต่ปีนี้ครบรอบ100ปีชาตกาล ก็ยังไม่ได้ลงมือสร้าง


"สำนึกในบุญคุณของนายเตียงที่มีต่อชาวจังหวัดสกลนคร ชาวภาคอีสาน และต่อประเทศไทยนั้นมากล้น เพราะท่านเคยเสียสละอุทิศตัวให้กับงานกอบกู้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งไทยถูกญี่ปุ่นยึดครอง จนสามารถทำให้ไทยมีอิสรภาพต่อมาได้ทุกวันนี้ แต่มาถึงทุกวันนี้คนรุ่นหลังๆก็คงจำนายเตียงไม่ได้แล้ว เลยอยากสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้รำลึกนึกถึง"คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธ์ นายกสมาคมข้าราชการบำนาญ จังหวัดสกลนครกล่าว

อย่างไรก็ดีหลังจากเริ่มตั้ง"กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)"ผ่านไป 3 ปีมาถึงปีนี้ ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของขุนพลภูพาน ผู้มีฉายาชื่อรหัสกู้ชาติ"พลูโต"ยังไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง

ประการแรก การประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการสะดุดหยุดลงเรื่อย ตามการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายกันถี่ 6เดือนไม่ถึงปีย้ายแล้ว ทำให้การประสานงานสะดุดลง

ประการต่อมา กรมศิลปากรไม่อนุมัติแบบที่คณะกรรมการกองทุนฯเสนอไป โดยล่าสุดตีกลับมาเป็นรูปนั่งบนขอนไม้แทนแบบยืนที่ออกแบบไว้เดิม

ประการสุดท้าย คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเป็นข้าราชการบำนาญที่เคยมีสำนึกร่วมกันในบุญคุณของครูเตียงต่อประเทศเป็นหลัก ส่วนคนชั้นหลังอาจลืมเลือนวีรกรรมของวีรบุรุษผู้นี้ หรือถูกทำให้ลืม เพราะคณะกรรมการกองทุนฯได้ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนทุนไปทั้งส.ส. ส.ว. สมาคมชาวสกลนครในกรุงเทพฯ โรงเรียนเก่าที่อุดรธานีที่ครูเตียงเคยสอน ตอนนี้ได้เงินทุนมาประเดิมเพียง6แสนบาท จากที่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น 3 ล้านบาท

"ในเมื่อ100ปีชาตกาลของท่านทำไม่ทัน ก็ต้องพยายามกันต่อไป ไหนๆก็รอมานานแล้ว ก็รอแบบกรมศิลป์อนุมัติมาคงได้ฤกษ์สร้างเสียที"คุณวิเชียรกล่าว

ประชาชนคนไทยที่รักชาติรักประชาธิปไตย สำนึกในวีรกรรมของครูเตียง อยากร่วมสร้างอนุสารีย์ของ"พลูโต"เชิญบริจาคได้ที่

กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)
ธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญเมือง สกลนคร
เลขที่บัญชี 442-0-01485-7

สอบถามเพิ่มเติมที่คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธุ์ 042-711915