ที่มา มติชน
บทนำมติชน
การประเมินสถานการณ์ความไม่สงบและความไม่เรียบร้อยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกนำมาแถลงโดยนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า จะวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อป้องกันการก่อกวน สร้างสถานการณ์ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยที่มีการระเบิดพร้อมกัน 9 จุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เมื่อค่ำวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และจากนั้นก็มีการยิงปืนเอ็ม 79 การขว้างระเบิดเข้าใส่สถานที่ราชการหลายแห่ง พรรคการเมือง บ้านบุคคลสำคัญ ที่ชุมนุมของมวลชน ฯลฯ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งแตกแยกและชาวบ้านทั่วไป เกรงจะเกิดอันตรายไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ความไม่ประมาทของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกทางการเมืองเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุขึ้นและทำลายชีวิตผู้คน ตลอดทั้งสรรพสิ่งต่างๆ ให้มอดไหม้กลายเป็นจุณได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคนเสื้อแดงโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดชุมนุมใน กทม. เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่หรือไม่ก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวใต้ดินหรือในมุมมืดของกลุ่มคนซึ่งยากต่อการชี้ชัดว่า เป็น "มือที่สาม" หรือสังกัดฝักฝ่ายในการใช้ระเบิด ปืน เชื้อเพลิงสำหรับเผาไหม้ ฯลฯ มีสิทธิเกิดได้ตลอดเวลา เมื่อเกิดขึ้นแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับมือใครดมได้ ทิ้งไว้แต่ความเสียหายทั้งชีวิตผู้คนและภาพลักษณ์ของประเทศที่ใครๆ ก็มองว่าไม่อยากย่างกรายเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย
เป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินที่อาวุธสงครามหรืออาวุธธรรมดาจะถูกคนร้ายนำมาใช้ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่บ้านเมืองมีกฎหมาย มีคุกตะราง มีตำรวจ แต่ก็หาได้เกิดความเกรงกลัวจากคนที่จะกระทำผิดกฎหมายไม่ เพราะมั่นใจว่า เมื่อก่อเหตุแล้วจะสามารถหลบหนีลอยนวลไปได้อย่างปลอดภัย การที่นายสุเทพรายงานต่อคณะรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น แต่สิ่งที่คณะรัฐมนตรีและประชาชนกังวลอย่างที่สุดก็คือ นายสุเทพจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างหลักประกันได้ไหมว่ากำลังพลที่มีอยู่จะคอยระแวดระวัง ตรวจตราเพื่อป้องกันเหตุร้ายต่างๆ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะสามารถดึงประชาชนมาร่วมมือในการระแวดระวังสอดส่องสิ่งผิดปกติ ได้หรือไม่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสุเทพได้ถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่มีฝีมือในการรักษาความมั่นคงของชาติ การประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรถึง 6 ครั้ง และประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 ครั้ง แต่ก็กลายเป็นเรื่องตลกในสายตาของคนบางกลุ่ม อีกทั้งเป็นช่องทางการรั่วไหลเงินงบประมาณ สุดท้ายอำนาจตามกฎหมายทั้งสองฉบับก็มิได้ทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ตรงกันข้าม กลับจะสร้างรอยเจ็บแค้นให้กับคนส่วนหนึ่งที่ถูกกระทำซึ่งรอวันที่จะคิดบัญชีแค้นกับคนในรัฐบาล นอกจากนี้ การออกมาเปิดเผยว่ามีการเกณฑ์คนกัมพูชามาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง โดยไม่มีการดำเนินการอะไรอย่างเป็นกิจจะลักษณ์ให้สมกับการเป็นผู้บริหารประเทศ ยิ่งทำให้ความร้าวฉานในความรู้สึกแผ่ขยายไปมากยิ่งขึ้น
เดือนธันวาคมนับจากนี้ไปเป็นเดือนแห่งความสุขของประชาชนชาวไทยในการร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเตรียมตัวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไม่มีใครอยากเห็นความโกลาหล ความปั่นป่วน วุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง ยิ่งความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการลอบวางระเบิด การลอบสังหาร การวางเพลิง ฯลฯ เกิดขึ้น เพราะประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มักตกเป็นเหยื่อแห่งความเคราะห์ร้ายอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ใส่เสื้อสีอะไร มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันอย่างไร ควรจะตั้งสติแล้วหยุดพูดจาใส่ร้าย หยุดการกระทำที่เพิ่มความเกลียดชังไปมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลถือว่ามีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา รักษาความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน หากทำไม่ได้ก็ไม่สมควรจะมาขอความเห็นใจเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไปนานๆ