ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
สรุปว่ายังไงก็วุ่นแน่ๆ สำหรับสถานการณ์ของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงเวลานี้
ด้วยเหตุที่ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายกลุ่มก๊วนในพรรคเริ่มรวมตัวกันกดดันเรียกร้องให้มีการปรับครม.ครั้งใหญ่
หลังจากบริหารประเทศกะโผลกกะเผลกมาจนครบ 1 ปีเต็มในเดือนธ.ค.
ถ้าไม่นับรวมพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เห็นจะมีแต่ส.ส.ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นดูเหมือนจะเฉยๆ
หรือหากจะมีบางพรรคที่แสดงความเห็นบ้างแต่ก็จะออกมาในเชิงไม่เห็นด้วยมากกว่า
อย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้ดูแลกระทรวงใหญ่เกรดเออย่างกระทรวงคมนาคม พาณิชย์ และมหาดไทยมาตั้งแต่ต้น
คงไม่อยากให้มีอะไรมากระทบกระเทือนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้
และยังอาจเลยไปถึงความไม่ต้องการให้เกิดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่เสียด้วยซ้ำ
ถึงแม้แกนนำพรรคจะบอกว่าพร้อมลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งใหม่ทุกเมื่อ
แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จสูงสุดถึงขั้นได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองแล้ว
โอกาสจะได้กลับมาคุมกระทรวงใหญ่ๆ พร้อมกันทีเดียวหลายกระทรวงแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้
ต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ก็ไม่น่าจะให้ความสำคัญกับพรรคภูมิใจไทยมากเท่ากับการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมาอีกแล้ว
เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเงื่อนไขอะไรต่างๆ คงเปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาที่กำลังไปได้ดีกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เหมือนกับพรรคเพื่อแผ่นดินที่กำลังไปได้ดีกับกระทรวงไอซีที
จะมีก็แต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่แฮปปี้กับโชควาสนาของพรรคร่วม เพราะมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล
จึงไม่แปลกที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับครม. จะพุ่งเป้าไปที่กระทรวงบิ๊กๆ อย่าง คมนาคม มหาดไทย และพาณิชย์ ในความดูแลของพรรคภูมิใจไทย
แต่ที่ซับซ้อนกว่านั้นคือการที่โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาเปิดโปงกระบวนการปล่อยข่าวของคนไม่ใกล้ไม่ไกลในรัฐบาลแต่ต่างพรรค
เพื่อหวังจะฮุบกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปดูแลเอง
เมื่อเป็นกันแบบนี้แล้วจะไม่ให้บอกว่าปรับก็วุ่น ไม่ปรับก็วุ่น ได้อย่างไร