ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
รัฐบาลประกาศว่าจะส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความเข้มแข็ง ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ จำนวนมหาศาลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่การใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยปราศจากระบบตรวจสอบหรือควบคุมที่ดี หากนำมาซึ่งการทุจริตที่แพร่หลายกว้างขวาง
ก็อาจทำให้สังคมไทยอ่อนแอลงมากกว่าเข้มแข็งขึ้นอย่างที่ปรารถนา
หากไม่ต้องการให้การทุจริตฉ้อฉลขยายวงขึ้นตามจำนวนเงินที่จะทะลักออกมา รัฐบาลจะต้องแสดงความเอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาทุจริตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อย่างน้อยก็ใน 3 กรณีล่าสุดที่สังคมให้ความสนใจ และความคืบหน้ายังไม่เป็นที่ น่าพอใจ
กรณีแรก คดีทุจริตในโครงการเศรษฐกิจชุมชนพอเพียง ซึ่งมีรายงานข่าวว่าสำนวนคดีที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีหลักฐานอ่อนยวบลงไปเมื่อเทียบกับการทุจริตที่เกิดขึ้นจริง
กรณีต่อมา คือการลาออกจากกรรมการโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข ของประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างสูงเกินไป
และกรณีสุดท้ายก็คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม บุกเข้ายึดหลักฐานในคดีจัดซื้ออุปกรณ์มูลค่านับหมื่นล้านบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งส่อเค้าว่าจะมีข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก เข้ามาเกี่ยวข้อง พัวพัน
แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองด้วยความกระตือ รือร้นเท่าที่ควร
ก่อนหน้านี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ราคาว่า ประเด็นในเรื่องความสุจริตเป็นจุดที่แตกต่างที่สุดระหว่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน กับรัฐบาล ชุดที่ผ่านๆ มา
ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ปวารณาตัวอย่างชัดเจน ว่า จะให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายลำดับต้นๆ
รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ใช้จุดแข็งดังกล่าวเป็นเครื่องสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง และโจมตีพรรคการเมืองคู่แข่ง
วันนี้ถึงเวลาของการพิสูจน์จุดยืนและคำพูดว่า จะมีค่าควรแก่การให้ความเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด
เป็นวันที่รัฐบาลจะต้องใช้การกระทำเป็นเครื่องค้ำประกันเกียรติยศของตนเอง