ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ห้องกระจกริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง 1984 ร่วมเสวนาโดยรัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้แปล และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ โดยก่อนการเสวนา มีการอ่านวรรณกรรมเรื่อง 1984 โดยกลุ่มนักการละคร 4 คน (ฟังเสียงที่ http://www.prachatai.com/multimedia/radio/readweek/15)
รัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้แปลวรรณกรรมเรื่อง 1984 กล่าวถึงการคัดเลือกส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมาอ่านในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนหน้าการเสวนาว่า เป็นเพราะมีความสอดคล้องกับสิ่งที่ดำเนินไปในสังคม แต่ทุกคำพูดที่เลือกมาไม่ได้หมายความว่านี่คือประเทศไทย เพียงแต่ต้องการสื่อสารว่าวรรณกรรมมีหลายมิติ วรรณกรรมชิ้นนี้ออร์เวลล์ เขียนขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว และคงไม่ได้คาดคิดว่าโลกในปัจจุบันจะเป็นอย่างนี้ แต่หลายอย่างก็มาตรงกันอย่างน่าประหลาดใจ จึงอยากนำมาใช้เปิดประเด็น อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กับคณะผู้จัดพิมพ์ว่าหากเขียนความยาวสักครึ่งหนึ่งคงสนุกกว่านี้ เพราะมีการแจกแจงละเอียดมากจนทำให้เหลือพื้นที่ให้จินตนาการน้อย แม้สิ่งที่ออร์เวลล์เสนอจะเป็นจินตนาการที่น่าทึ่งและในวันนี้มันได้เกิดขึ้นจริง
รัศมีกล่าวต่อมาว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มองหนังสือดังกล่าวในเรื่องการเมือง แต่มองในแง่การพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาอำนาจของสื่อที่ไม่ได้รับใช้แค่การเมือง แต่รับใช้เศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจที่หมายถึงความสามารถที่จะบงการคนอื่นให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ฟังเพลงที่อยากให้ฟัง จนถึงขั้นอย่างที่เห็นใน 1984 ว่าสามารถบงการไปถึงจิตสำนึกของคนได้โดยวิธีการต่างๆ ผสมผสานกัน และสนใจบทบาทของสื่อที่กลายเป็นตัวครอบงำสังคมอย่างแท้จริงในทุกๆ ด้านของชีวิต และการเมืองก็ได้รับผลประโยชน์
หลายอย่างอาจไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าอย่างรัดกุม แต่บังเอิญประสานเข้าหากัน โดยรับใช้ผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะเจาะ และทำงานด้วยตัวของมันเองจนไปไกลกว่าใครจะควบคุมได้ แม้แต่ผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ที่เติบโตกลายเป็นยักษ์มหึมาจนเกินควบคุม และอาจพูดได้ว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่ามีส่วนทำให้ยักษ์ตัวนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
รัศมี ขยายความถึงการที่บอกว่าสื่อมีบทบาทสำคัญโดยให้เหตุผลว่า สื่อเป็นตัวกระจายความคิด ความเชื่อ หรือกระแสบางอย่าง และส่วนตัวเชื่อว่าคนจำนวนมากในสังคมไม่ได้กระทำบางอย่างด้วยความศรัทธา แต่เป็นความกลัวว่าจะไม่เหมือนคนอื่น แล้วยิ่งกระแสในสังคมดำเนินมาถึงขั้นที่พูดได้ตามข้อความใน Darkness at Noon ของ Koestler ว่า “ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ก็เป็นศัตรูของเรา” คนมีความกลัวในสิ่งนี้อยู่มาก เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยเกราะกำบังบางอย่างเพื่อที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง ให้ชีวิตตัวเองไม่ยุ่งยาก
ตั้งคำถามกับการสมยอม
ในส่วนทางออกที่เป็นรูปธรรม รัศมีกล่าวว่า หากมองในมุมกลับของความหดหู่ อาจทำให้คนอ่าน อ่านแล้วกลับไปสำรวจตัวเอง เกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำในชีวิตคือการสมยอมกับอำนาจรัฐที่อาจไม่มีความชอบธรรมในการกระทำบางอย่าง และการสมยอมนั้นได้ทำให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง และถ้าคนในสังคมมีความแข็งแรงในการตั้งคำถาม สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เกิดขึ้น
“อันนี้อาจเป็นลักษณะของคนในสังคมไทยก็ได้ ที่ไม่ค่อยมีกำแพง คือใครจะทะลักทะลวงเข้ามาในขอบเขตของเราก็ได้ อย่างที่เราจะเห็นว่าชาวต่างชาติชอบมากที่จะมาอยู่เมืองไทย เพราะว่าไม่มีกำแพงอะไรกั้น อ้าแขนรับหมดทุกอย่าง และพร้อมที่จะอ้าแขนรับกับอีกหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่จะเกิดขึ้น ด้วยความคิดว่ามันเป็นสิทธิของเขา เป็นความเชื่อของเขา แล้วต่างคนก็ต่างทำตามความเชื่อของตัวเอง แต่แล้วอยู่ต่อมาวันหนึ่งก็ได้พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางวงล้อมของสิ่งที่คิดว่ามันเป็นสิทธิที่ใครๆ ก็ทำได้” รัศมียกตัวอย่าง
ผู้แปลกล่าวด้วยว่า เมื่อพบว่าตัวเองตกอยู่ในวงล้อม ก็มีทางเลือกอยู่ 3 อย่าง คือ ทนอยู่อย่างขมขื่นแล้วก็เงียบๆ ต่อไป หรือสมยอมไปกับเขา หรือทางที่ 3 คือลุกขึ้นบอกว่ามันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ความจริงที่พูดถึงว่าสังคมเต็มไปด้วยคนที่สมยอมและคนที่กลัวอย่างน่าหดหู่ คงเป็นความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนมากในเวลานี้ และการต่อสู้อย่างน้อยที่สุดคือการทำตัวเองให้แข็งแรงแล้วหาคนที่มีความแข็งแรงด้วยกันช่วนกันตั้งสติ เมื่อถึงเวลานั้นคนที่เผลอตัว สูญเสียสติไปก็อาจได้กลับมามีสติขึ้นใหม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ในสังคม เพียงแต่อาจทำอะไรได้ไม่มากเท่าฝ่ายที่ไม่มีสติ
ต่อคำถามถึงการที่ 1984 ของออร์เวลล์ได้รับคำชมเชยมากในเรื่องก้าวหน้า เพราะชี้ให้เห็นภัยร้ายแรงของเทคโนโลยี รัศมีแสดงความคิดเห็นว่า ออร์เวลล์พูดถึงความก้าวหน้าและบทบาทของเทคโนโลยีโดยไม่ได้ให้บทบาทสำคัญ แต่คิดว่าเป็นมองในเชิงเสียดสีต่อสิ่งที่เป็นการคิดค้นของมนุษย์ ซึ่งมีสติปัญญามากมายแต่พยายามคิดค้นในสิ่งที่ทำลายล้างมนุษย์ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง และประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่นักเขียนหลายคนเขียนเอาไว้ เตือนว่าความก้าวหน้าทางวิชาการถ้ามนุษย์ไม่มีจริยธรรม ไม่มีความรับผิดชอบพอสามารถจะพาโลกไปสู่การทีมนุษย์ส่วนใหญ่กลายเป็นทาส และมีเพียงคนกลุ่มน้อยได้เสวยสุขจากความก้าวหน้าเหล่านั้น
รัศมี กล่าวถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการที่เป็นปัญหาโดยยกตัวอย่างถึงอินเทอร์เน็ตว่า ความก้าวหน้าของอินเตอร์เน็ตที่ทำให้สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในที่สุดแล้วมันกลับทำให้เรากลายเป็นทาสของมัน และมันได้เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนการมองโลกของเราไปอย่างมากมาย ทำให้เราไม่มีความอดทน หรือการแสดงออกในเว็บบอร์ดที่ทำให้สามารถที่จะด่าทอกันอย่างหยาบคายสุดขีด แสดงความตกต่ำสุดขีดของความเป็นมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีกำแพงอะไรทั้งสิ้นมากั้น ด้วยความรวดเร็วในการสื่อสารและประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าเราตีความบทบาทของเทคโนโลยีจากปัจจุบัน แต่สิ่งที่ออร์เวลล์คิดถึงนั้นไม่แน่ใจว่ามองมาไกลขนาดเห็นถี่ถ้วนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันหรือไม่
ทั้งนี้ในเวทีเสวนา ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็นต่างในประเด็นความก้าวหน้าทางวิทยาการ โดย ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตในมุมกลับอาจเป็นเครื่องมือทำลายความน่าเชื่อของรัฐ โดยทำให้พื้นที่จริงกับพื้นที่เสมือนคลุมเครือมาก ยกตัวอย่างปฎิกิริยาในช่วงหลังรัฐประหารที่ใช้คำว่าตาสว่าง เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอย่างน้อยก็เป็นพื้นที่เสรีในการแสดงความเห็น ขณะที่รัฐต่างหากที่อยู่กับสังคมแบบ 1984 ที่คิดว่าควบคุมทุกอย่างได้ ส่วนเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือที่ขึ้นอยู่กับการใช้ โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม
ด้านปาลิดา ประการะโพธิ์ ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาอีกคนหนึ่ง กล่าวถึงการพูดคำหยาบในโลกไซเบอร์ ซึ่งวิทยากรได้แสดงความเห็นว่าเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองว่า หากมองเช่นนี้ก็อาจเป็นการที่ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ขณะที่สนับสนุนให้คนอื่นมีเสรีภาพมีความเท่าเทียมกัน การพูดคำหยาบหากไปสกัดกั้นไม่ให้พูดหรือไม่ให้แสดงออก คิดว่าความเท่าเทียมกันคงไม่เกิดขึ้น
ความเห็นจากผู้แสดงการอ่าน ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาแสดงการอ่าน ได้ไปที่หมู่บ้านปกาเกอะญอ ที่บ้านสบลาน อ.อ๋อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวปกาเกอะญอที่นั่นอยู่ในภาวะที่ถูกทำให้เป็นผู้ทำลายป่า เพราะการทำไร่เลื่อนลอย โดยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เด็กชายปกาเกอะญอคนหนึ่งที่เรียนอยู่ชั้น ป.6 กลับมาเล่าให้ที่บ้านฟังว่า เขาไม่ยอมตอบคำถามข้อหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาที่ว่า “คนที่ทำลายป่าคือใคร?” เขาไม่ยอมตอบว่าชาวเขาคือคนที่ทำลายป่าและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งส่วนตัวมองว่าด้วยภาวะของข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดผลบางอย่างกับพวกเขา และเมื่อมาอ่านหนังสือเล่มนี้สิ่งที่ได้คือรู้สึกว่ามันมีภาวะของสื่อ และข้อมูลบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นแบบนั้นและคนอื่นคิดว่าเขาเป็น แบบนั้นจริงๆ นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งของหนังสือที่ทุกคนพยายามโห่ร้องเรียกว่า “ไอ้หมู” ภาวะร่วมแบบนี้สะท้อนให้คิดว่า ในชีวิตประจำวันมีเหตุการณ์อย่างนี้ที่เราตะโกนร้อง หรือมีภาวะร่วมตะโกนเรียกคนอื่นว่า “ไอ้หมู” โดยที่ไม่ได้รู้สึกหรือไม่ ทำให้กลับมาหันมองชีวิตของตัวเองว่า ทุกสิ่งที่ทำ ทุกสิ่งที่เห็นด้วย เคยตั้งคำถามกับมันไหมว่าทำไม ด้านสุมณธา สวนผลรัตน์ นักแสดงละครเวที แสดงความเห็นว่า ขณะที่อ่านเรื่องนี้รู้สึกคุ้นๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่ถ้าหากเป็นสังคมที่อยู่จริงคงหม่นมัวมากๆ และมีบางสิ่งที่คนที่อยู่ในเรื่องไม่ได้คิดตั้งคำถาม ส่วนคนที่ตั้งคำถามกลับถูกกระทำการบางอย่างให้ลดการถามลง ทำให้กลับมามองตนเองว่าเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ค่อยตั้งคำถามหรือเปล่า ตอนที่มีกระแสฮือฮา เราทำหน้าที่อะไรอยู่ หรือเราไปตามกระแสนั้นอย่างง่ายดาย ในฐานะที่เป็นคนอ่านรู้สึกว่าวิธีที่คนกระทำกับคนทำให้รู้สึกสะเทือนใจ การดึงความคิด กระชากความรู้สึก ความทรงจำ ของคนคนหนึ่งออกไป รู้สึกว่ามันโหดร้ายมาก สุมณธาแสดงความคิดเห็นด้วยว่าในขณะที่ทุกคน ตะโกนร้อง มีช่วงเวลาที่ตัวละครรู้สึกว่าเขาคิดอีกแบบ แต่ทำไปอีกแบบตามที่คนอื่นๆ ความเข้มแข็งส่วนตัวในภาวะที่เป็นอย่างนั้นมันผุดขึ้นมาแต่ก็ไม่ได้งอกงาม และถูกเหยียบย่ำและเหี่ยวเฉาลงไป ซึ่งน่ากลัวว่าเราจะหล่อเลี้ยงความคิดของตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเองให้คงอยู่ได้อย่างไรในภาวะที่ความรู้สึกรอบตัวมันฮึก เฮิมขนาดนั้น ส่วนทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร์ จากกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าหลังจากอ่านเรื่องนี้รู้สึกว่าเราอยู่กับเรื่อง สมมติมานานมาก จนบางทีมันอาจกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของเราไปแล้ว และตั้งคำถามว่าแล้วเราจะหลุดจากเรื่องนี้ได้อย่างไร |
"การเขียนบันทึกกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในบางสังคม
เพราะว่ารัฐไม่ต้องการให้คนมีพื้นที่ส่วนบุคคล
รัฐไม่ต้องการความทรงจำส่วนบุคคล
เพราะว่าความทรงจำเป็นวิธีเดียวที่คนในสังคมซึ่งไม่มีอะไรเลยจะต่อต้านรัฐได้"
“ถ้าไม่มีความเท่าเทียม เสรีภาพไม่มีความหมายอะไรเลย
จะมีคนบางคนที่มีเสรีภาพมากกว่าคนอื่นอยู่ตลอดเวลา”
1984: คนในสังคมที่ "เวลา" ไม่มีความหมาย
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เวลาฟังเรื่อง 1984 จะเหมือนกับว่า ออร์เวลล์พูดถึงสังคมในอนาคตเพื่อให้เห็นภาพว่าอนาคตเป็นเรื่องโหดร้าย อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านในหนังสือจะพบว่า เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายในหนังสือเล่มนี้ ตัวละครสำคัญอย่างวินสตันแทบไม่เคยรู้เลยว่าเวลาในชีวิตเขาคืออะไร นาฬิกากลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย
ดังนั้น ประเด็นที่ว่า คนในสังคมแบบไหนที่เวลาไม่มีความหมาย อาจจะสำคัญ ทุกวันนี้ที่เวลามีความหมายเพราะมีตัวตนของเราอยู่ เพราะเวลาจะบอกว่า เราจะเจอคนเมื่อไหร่ จะมีปฎิสัมพันธ์กับคนเมื่อไหร่ แต่สังคมที่เวลาไม่มีความหมาย นั่นอาจจะหมายถึงสังคมที่ตัวตนของบุคคลไม่มีความหมายอะไรเลย เราจะไปอยู่ไหนก็ไม่มีความหมาย เราจะสัมพันธ์กับใครในวันไหนก็ไม่มีความหมาย ปฎิสัมพันธ์ของเรากับคนแต่ละคนจะเกิดขึ้นวันไหนก็ไม่มีความหมาย
นอกจากนี้ น่าสนใจว่า หนังสือ 1984 พูดถึงสังคมแบบไหนกันแน่ ระหว่างสังคมในอนาคต หรือพูดถึงสังคมในขณะที่ออร์เวลล์เขียนหนังสือ นั่นคือปี 1947 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น มีการสะสมอาวุธ เป็นสังคมที่มีการโฆษณาชวนเชื่อระดับมวลชน
ศิโรตม์ เล่าว่า หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก ในช่วงที่เขายังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการแปลในช่วงนั้น อาจเพราะเป็นช่วงที่ปัญญาชนไทยเริ่มรู้สึกว่ากาารปฎิวัติไม่ใช่ทางออกหรือความหวังของสังคมได้อีกต่อไป โดยในวงวิชาการไทย มีปัญญาชนนักกิจกรรมอดีตฝ่ายซ้ายจำนวนมากออกมาวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ มีการพูดถึง 1984 อาร์เธอร์ คอฟเลอร์ ดาเนียส แอดมุน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ในบริบทแบบนี้ที่ปัญหาเรื่องการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ตกไปแล้ว ทำไมจึงมีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ อย่างในอเมริกาเอง 1984 ก็กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มหนึ่ง
1984: การปฎิวัติเพื่อล้มชนชั้นนายทุน
การปฎิวัติของพี่เบิ้ม ผู้นำในหนังสือ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำการปฎิวัติที่เกิดเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ทุกคนเชื่อว่ามีการปฎิวัตินั้นเป็นการปฎิวัติเพื่อล้มชนชั้นนายทุน โดยเริ่มต้นด้วยการบอกว่าจะสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้น แต่ที่สุดแล้ว การปฎิวัติได้นำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ไม่รู้ว่ามีนายทุนหรือไม่ แต่ชีวิตกรรมาชีพหรือคนส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเลย
ในเมืองไทย ประเด็นใหญ่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และหลังจากนั้น คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า รัฐประหารเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านประชาธิปไตยของนายทุน แต่หลัง 19 ก.ย. ถามว่าประชาธิปไตยดีขึ้นหรือเปล่า
การพูดเรื่องการโจมตีนายทุนกลายเป็นวาทกรรมที่คนนำมาใช้เหมือนกันหมดในโลกปัจจุบัน ใน 1984 พรรคปฎิวัติใช้ โดยอ้างว่าจะทำให้กรรมาชีพมีชีวิตที่ดีขึ้น ในเมืองไทย ปี 2549 ใช้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครบอกว่า ไม่เอานายทุน ต่อต้านนายทุน อย่าเพิ่งไปเชื่อ ในหนังสือเล่มนี้บอกว่า คนที่บอกว่าต่อต้านนายทุนในที่สุดโกหกได้ 2549 ก็เช่นกัน คนที่บอกว่าตัวเองต่อต้านนายทุน โกหกได้ทั้งนั้น
1984: คำถามต่อระบบรวมศูนย์
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นภาพว่า ปัญหาเรื่องของการเมืองสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องของการดูว่า สังคมหรือผู้นำในสังคมนั้นต่อต้านอะไร หรือบอกว่าเขาต่อต้านอะไร ไม่ใช่ดูแค่ว่าผู้นำในสังคมบอกว่า ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ไม่ชอบเศรษฐกิจเสรี หรืออยากให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ต้องดูว่า ในระดับแก่นสาร แต่ละสังคม มีสิ่งที่เป็นประเด็นใจกลางของ 1984 หรือเปล่า ซึ่งเขาคิดว่าประเด็นสำคัญของ 1984 ไม่ใช่การวิจารณ์การปฏิวัติ หรือการโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ แต่คือการตั้งคำถามกับระบบรวมศูนย์ทั้งหมด
ออร์เวลล์พูดไว้ในหนังสือผ่านวินสตันว่า ไม่ว่าจะเป็นโอชันเนีย หรือยูเรเชีย ในที่สุดมันเหมือนๆ กันหมด โอชันเนียปกครองด้วยพี่เบิ้ม ขณะที่ยูเรเชียปกครองด้วยอีกลัทธิหนึ่งซึ่งดูจะไม่เหมือนกับพี่เบิ้ม แต่จริงๆ ก็เป็นแบบพี่เบิ้มเหมือนกัน พูดง่ายๆ 1984 โจมตีทั้งเผด็จการฟัสซิสต์และเผด็จการคอมมูนิสม์ พูดอย่างซับซ้อนคือหนังสือเล่มนี้แตะปัญหาที่เป็นเรื่องสากล นั่นคือเรื่องระบบรวมศูนย์ทั้งมวล
"ระบบรวมศูนย์" ในภาษาไทย ชวนให้เรานึกถึงระบบซึ่งมีคนไม่กี่คนคุมสังคมทั้งหมด มีพรรคขนาดเล็กคุมทุกอย่าง หรือมีบุคคลซึ่งตรวจสอบไม่ได้บางคนคุมทุกส่วนในสังคม แต่ในกรณี 1984 จินตภาพหรือจินตนาการของระบบรวมศูนย์ไปไกลกว่านั้น เช่น 1984 พูดถึงพี่เบิ้ม แต่พี่เบิ้มคือใคร ไม่เคยมีใครรู้ พี่เบิ้มอาจพิการแล้ว หรืออาจตายแล้วก็ได้ ไม่มีใครรู้ ตัวตนของพี่เบิ้มจึงไม่สำคัญ แ่ต่ความรู้สึกว่าพี่เบิ้มมีอยู่นั้นสำคัญกว่า แม้ว่าในทางกายภาพแล้ว เราไม่เคยเห็นตัวพี่เบิ้ม ไม่เคยเข้าถึงตัวพี่เบิ้มได้เลย
เพราะฉะนั้น 1984 จึงพูดถึงเรื่องระบบรวมศูนย์ ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่จริงๆ แล้ว เลยตัวบุคคลออกไป ซึ่งโอไบรอันก็พูดไว้เหมือนกันว่า การสร้างระบบเผด็จการในสังคมแบบ 1984 สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การปกครองแบบสืบสายเลือด แต่คือการใช้วิธีอะไรก็ได้ รวมทั้งการเลือกตั้งด้วย ให้โลกทรรศน์แบบ 1984 ให้วิถีชีวิตแบบปกครองโดยมือที่มองไม่เห็น คงอยู่ต่อไป นั่นคือ อาจจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้งก็ได้ จะเป็นการปกครองแบบสืบสายเลือดแบบพี่เบิ้มไปสู่ใครก็ตาม หรือไม่เป็นก็ได้ แต่หลักการคือให้วิธีการปกครองแบบ 1984 คงอยู่ต่อไป
การปกครองแบบ 1984 คือวิธีการปกครองแบบที่ทำให้ระบบการเมืองหรือการตัดสินใจในเรื่องทางการเมืองทั้งหมดในที่สุดขึ้นอยู่กับใครก็ไม่รู้เพียงคนเดียวเหนือสังคมทั้งหมด ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใคร เข้าถึงเขาไม่ได้ เขาคิดอย่างไรก็ไม่เคยมีใครรู้ และไม่จำเป็นต้องรู้ด้วย โดยเบื้องต้นคือถือว่่าเขาไม่เคยทำผิด และถึงเขาทำผิด เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น การรู้ว่าผู้ปกครองทำอะไรจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยในชีวิตของคนใน 1984 ถึงรู้ก็ทำอะไรไม่ได้ และถึงเขาทำผิด เขาก็ใช้สื่อเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เขาทำถูกขึ้นมาได้
1984 วินสตัน: 2009 ดา ตอร์ปิโด
ขณะที่ฟังนักแสดงละครทั้ง 4 คนอ่าน 1984 ทำให้นึกถึงดา ตอร์ปิโด ที่ในแง่หนึ่งเป็นนักโทษทางความคิด และไม่ควรโดนอย่างที่เธอโดน วินสตันใน 1984 ก็คือ ดา ตอร์ปิโดในบ้านเรา เราไม่รู้ว่าอยู่ในคุกเขาโดนอะไรบ้าง เรารู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่แต่ไม่รู้ว่าเขาโดนอะไร นักโทษความคิดในทุกสังคมคือคนที่ไม่ได้ทำอาชญากรรมหรือทำร้ายอะไรใครเลย เขาถูกลงโทษเพราะมีความคิดแตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจคิด เขาผิดเพราะผู้มีอำนาจบอกว่าคิดแบบนั้นผิด เขากลายเป็นคนก่ออาชญากรรมทางความคิดจนเป็นนักโทษความคิด เพราะเขาคิดแบบที่พี่เบิ้มไม่ต้องการ
1984: อำนาจรวมศูนย์ที่ทำลายปัจเจกภาพ
ประเด็นที่เป็นใจกลางมากๆ ของ 1984 คือ อำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ต้องการทำลายปัจเจกภาพของคนลงไป ซึ่งอาจเหมือนสิ่งที่ผู้นำแบบฟาสซิสม์ในหลายๆ สังคมต้องการทำ คือ ทำให้คนแต่ละคนที่เป็นปัจเจกชนรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ เราเป็นแค่สวะ ไหลตามระบบไปเรื่อยๆ เราทำได้แค่หลบๆ ซ่อนๆ เช่น วินสตัน ที่สิ่งหนึ่งที่เขาทำมากที่สุด เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐคือการหลับนอนกับจูเลีย เพราะเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางเพศเป็นสิ่งที่รัฐห้ามมาตลอด
1984 พูดถึงอะไรแบบนี้เยอะมาก ที่บอกว่า ที่สุดแล้วการต่อต้านระบบรวมศูนย์เริ่มต้นด้วยปัจเจกชน การยืนยันเรื่องความคิดส่วนบุคคลและเสรีภาพส่วนบุคคลจึงสำคัญ โดยจะเห็นว่า อาชญากรรมแทบทั้งหมดใน 1984 คืออาชญากรรมที่ความปัจเจกแสดงออกมา
ในฉากแรกๆ ของเรื่อง วินสตันเริ่มคิดถึงชีวิตของตัวเอง ตอนที่เจอสมุดบันทึก แล้วคิดว่าจะเขียนบันทึกดีไหม ทุกวันนี้เราเขียนบันทึกกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในสังคมแบบ 1984 การเขียนบันทึกเป็นเรื่องผิด เพราะการเขียนบันทึกทำให้คนมีพื้นที่ส่วนบุคคลมากขึ้น มีความทรงจำส่วนบุคคลมากขึ้น มีโอกาสจะจำสังคมแบบที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เราจำมากขึ้น เช่น จำว่า 19 กันยา เกิดอะไรขึ้นอีกแบบหนึ่ง จำว่า 6 ต.ค.2519 เกิดอะไรแบบหนึ่ง หรือ 24 มิ.ย.2475 เกิดอะไรแบบหนึ่ง
"การเขียนบันทึกกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในบางสังคม เพราะว่ารัฐไม่ต้องการให้คนมีพื้นที่ส่วนบุคคล รัฐไม่ต้องการความทรงจำส่วนบุคคล เพราะว่าความทรงจำเป็นวิธีเดียวที่คนในสังคมซึ่งไม่มีอะไรเลยจะต่อต้านรัฐได้" ศิโรตม์ กล่าวและว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าสนใจจนน่าเศร้าว่า กิจกรรมซึ่งในสังคมทุกวันนี้ที่เราทำกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมแบบ 1984 ทำไม่ได้เลย การมีสมุดบันทึกกลายเป็นเรื่องถูกเพ่งเล็ง การมีนาฬิกา หรือที่ทับกระดาษกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น การมีกิจกรรมอะไรที่เป็นเรื่องสุนทรีศาสตร์ในชีวิตกลายเป็นเรื่องผิดไปหมด เพราะว่าผิดจากสิ่งที่รัฐต้องการ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งทั้งคุณรัศมีและผู้แสดงพูดกัน นั่นคือ ปัจเจกภาพของคนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทำให้หนังสือเรื่องนี้เป็นอมตะ
สังคมแบบไหนที่ทำลายปัจเจกภาพได้ คำตอบคือ สังคมที่บ้าเรื่องรวมศูนย์มากๆ สังคมที่ทุกคนต้องเป็นยูนิฟอร์มเดียวกัน จะเห็นว่า คนในสังคม 1984 ทุกคนใส่เสื้อเหมือนกันหมด เมื่อสองสามปีก่อน บ้านเราก็เป็นแบบนี้ใช่หรือไม่ ทุกคนต้องใส่เสื้อเหมือนกัน ถ้าไม่ใส่จะเป็นปัญหามาก ใครที่ไม่ใส่เสื้อจะโดนเกลียด
สังคมแบบ 1984 มีลักษณะรวมหมู่่ หรือ collective มากๆ ทุกคนต้องมีความคิดความเชื่อเหมือนๆ กัน อยู่ในพิธีกรรมแบบเดียวกัน มีรูปเคารพแบบเดียวกัน ใส่เสื้อสีเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน มีอัตลักษณ์แบบเดียวกัน นี่คือปัญหาที่น่าสนใจและท้าทาย เพราะสังคมที่มีลักษณะแบบ collective มากๆ สังคมที่ทุกคนถูกทำให้คิดเหมือนกันๆ หมดคือต้นตอของเผด็จการทุกชนิด
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว คนเราทุกคนรู้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดี อะไรถูกหรือไม่ถูก และทุกครั้งที่เราทำเรื่องที่ผิดเวลาเราเห็นว่ามันมีบางอย่างที่มันผิดมากๆ แล้วเราทำเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เหมือนกับเราเอาเท้าพี่เบิ้มมาลูบหน้าเรา เวลาที่คนบางคนถูกลงโทษในเรื่องซึ่งในประเทศอื่นเขาไม่ถูกลงโทษ บางคนถูกลงโทษในเรื่องซึ่งสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความผิดโดยธรรมชาติ แต่มันผิดเพราะกฎหมายบอกว่ามันผิด ผิดเพราะเขาคิดผิดจากที่ผู้มีอำนาจต้องการ การลงโทษคนแบบนี้ต่างหากคืออาชญากรรม
“ผมคิดว่าเราทุกคนรู้ว่ามันเป็นอะไร แต่เราพยายามจะทำเหมือนไม่เห็น”
เขาเชื่อว่าใน 1984 มีคนแบบวินสตันจำนวนมากแน่ๆ จึงต้องมีตำรวจลับคอยสอดแนม เพราะถ้าไม่มีคนอย่างวินสตันมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสอดแนม เหมือนกับในบ้านเราทุกวันนี้ที่กิจการของรัฐในการสอดแนมคนก็ขยายตัวขึ้น มีกระทรวงไอซีที มีตำรวจอินเทอร์เน็ต ซึ่งคอยสอดแนมพฤติกรรมในอินเทอร์เน็ตของคน การเกิดหน่วยงานลักษณะนี้โดยตัวมันเองสะท้อนว่ามีคนที่คิดไม่เหมือนรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ มันถึงต้องมีหน่วยงานในการสอดแนมเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคน
ใน 1984 ปัญหาที่วินสตันเจอคือ เขาไม่รู้ว่าคนที่ต่อต้านพี่เบิ้มเช่นเดียวกับเขาคือใคร อยู่ที่ไหน และมีมากแค่ไหน ชะตากรรมของคนในสังคมเราก็เช่นกัน เป็นแบบเดียวกันนี้ มีคนที่คิดไม่เหมือนคนอื่นแน่ๆ และคงมีเยอะด้วย เพียงแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือคนที่คิดไม่เหมือนคนอื่น ทำอย่างไรที่คนที่เชื่อว่าปัจเจกภาพสำคัญมากๆ จะรวมกัน หรือทำให้ตัวเองปรากฎขึ้นในที่สาธารณะ ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงสำคัญ
ศิโรตม์ แสดงความเห็นว่า ขณะที่ใน 1984 คนใส่ยูนิฟอร์ม ใส่เครื่องแบบ ใส่เสื้อผ้าชุดเดียวกันตลอดเวลา เพราะรัฐบังคับให้คนใส่ แต่ในเมืองไทย ก่อน 2549 คนจะต้องซื้อยูนิฟอร์มเป็นสีต่างๆ โดยรัฐไม่ได้บังคับ นี่คือความแตกต่าง เรามีประชาสังคม มีขบวนการมวลชนจำนวนมาก แต่ขบวนการเหล่านี้ถูกถักทอด้วยอุดมการณ์บางอย่างซึ่งที่สุดแล้วไม่ใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เป็นการตื่นตัวภายใต้วาทกรรมบางอย่างที่เน้นลักษณะ collective ของคนในสังคมมาก โดยเป็นได้หลายลักษณะ บางครั้งก็เป็นเรื่องชาติ ศาสนา หรือสถาบัน เป็นอะไรก็ได้ แต่ที่สุดแล้วทำให้สังคมเชื่อว่าคนต้องเหมือนๆ กัน
ทุกวัน ทุกเช้า เราจะตื่นมาพร้อมกับสารชุดนี้ตลอดเวลาว่า "คนต้องเหมือนกัน คนต้องเหมือนกัน" นี่คือปรากฎการณ์หลักที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
"ยูนิฟอร์มของคนในสังคมไทย เป็นยูนิฟอร์มที่คนในสังคมไทยยอมจ่ายสตางค์ไปซื้อเอง ไม่ใช่รัฐสั่งให้เราซื้อ นี่อาจจะเป็นเรื่องที่แตกต่างจาก 1984" ศิโรตม์ กล่าวและสรุปว่า แปลว่าสิ่งที่เรียกว่ารัฐหรืออำนาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่รัฐบาล ตำรวจหรือทหาร ในสังคมที่เป็นแบบนี้ ทุกคนมีสภาพมีเงื่อนไขที่จะลดทอนความเป็นปัจเจกของตัวเอง และทำให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐได้ตลอดเวลา
พลเมืองที่ดีในสังคมก็คือคนที่คิดเหมือนรัฐ คนที่ถ่ายทอดอุดมการณ์แบบของรัฐ เวลาเราพูดเรื่องสื่อในสังคมไทย เราก็จะเห็นภาพชัดขึ้น ว่าสื่อไม่ได้พูดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของคนเลย สื่อทำให้คนเป็นแบบเดียวกันหมด ทั้งยังทำหน้าที่ถ่ายทอดว่าคนในชาติต้องมีความเชื่อบางอย่างร่วมกันอยู่ตลอดเวลา อย่างทีวีไทยก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะตอนนี้กลายเป็นสื่อเพื่อสถาบันครอบครัวที่ดี แม้เวลาดูทีวีไทยจะเห็นว่ามีรายการแนวทางเลือกเยอะ แต่เมื่อดูเรื่องอุดมการณ์จะพบว่า พูดเรื่องครอบครัวที่ดี ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกพร้อมหน้ากันตลอดเวลา ลองนึกเล่นๆ ก็ได้ว่าในสังคมไทย คนที่มีพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตากับคนที่ไม่มี อย่างไหนเยอะกว่ากัน หลายๆ เรื่องจะมีลักษณะนี้ คือเราสร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมา โดยที่ไม่ได้มองคนซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับระบบคุณค่าแบบนั้น
การครอบงำของสื่อเป็นปัญหาก็จริง แต่การครอบงำของสื่อก็เกิดโดยการสถาปนาศีลธรรมบางอย่างซึ่งคนก็รู้สึกว่ามันดี คนเรายอมรับการครอบงำเพราะการครอบงำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรา
ความหมายสองชั้นของ “solidarity”
เขากล่าวถึงคณะของโกลด์สไตน์ที่ต่อต้านพี่เบิ้มซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะภราดร” ว่า ไม่ทราบว่าในต้นฉบับมาจาก solidarity หรือเปล่า แต่พอได้ยินคำว่า คณะภราดร ทำให้นึกถึงคำว่า solidarity ซึ่งมีความหมาย 2 ชั้นในโลกตะวันตก ความหมายแรกคือ ขบวนการโซลิดาริตี้ของคนงานในโปแลนด์ ที่เดิมไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง แต่จู่ๆ วันหนึ่งก็ลุกออกมาตามท้องถนนและล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ลงไป สำหรับคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ขบวนการโซลิดาริตี้เป็นต้นกำเนิดของการพังทลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกหลายๆ ที่ หมายความว่า คนตัวเล็กๆ จำนวนมากซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร พอมาถึงจุดหนึ่ง ก็ออกมาได้และมาเป็นคลื่นที่ใหญ่จริง ลองนึกถึงการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ที่คนเยอรมันตะวันออกเดินมาทุบกำแพง โดยไม่ได้มีการจัดตั้งมาก่อน
ความหมายขั้นที่สอง คือ ความหมายของการนึกถึงคนอื่น การเห็นอกเห็นใจคนอื่นและพยายามคิดว่า ความถูก ความยุติธรรม หรือความชอบธรรมคืออะไร ความหมายนี้สำคัญเพราะทุกวันนี้เราอยู่ในโลกซึ่งคนจำนวนมาก รู้สึกว่าไม่มีระบบคุณค่าหรืออะไรให้เชื่อถือหรือยึดเหนี่ยวร่วมกัน ระบบคุณค่าที่คนนับถือร่วมกันในโลกปัจจุบัน ถ้ามีก็มักเป็นเรื่องไม่ค่อยดี มันมักเป็นเรื่องที่อนุรักษนิยม อำนาจนิยม หรือฟาสซิสม์มากๆ ในบ้านเราหรือในที่ไหนก็เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบบคุณค่าร่วมที่จะทำให้เรายึดโยงเข้าหากัน หรือนึกถึงคนอื่นอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในทางทฤษฎีการเมือง คือในที่สุดเราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยหรือสังคมที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมคือหัวใจของประชาธิปไตยสมัยใหม่ทั้งหมด คนจำนวนมากคิดว่า เสรีภาพคือพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความเท่าเทียมคือพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้ามีความเท่าเทียม เสรีภาพก็จะมีความหมาย
“ถ้าไม่มีความเท่าเทียม เสรีภาพไม่มีความหมายอะไรเลย จะมีคนบางคนที่มีเสรีภาพมากกว่าคนอื่นอยู่ตลอดเวลา”
ถ้าถามคำถามอย่างเจาะจงว่าวงการวิชาการหรือวงการมหาวิทยาลัยทำอะไรได้บ้าง ศิโรตม์บอกว่า คนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาและคนที่มีการศึกษาสูง ควรจะเชื่อว่าคนที่อยู่ในสังคมเท่ากัน ถ้าไม่เชื่ออย่างนี้จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้
ปัญหาที่เกิดในบ้านเราทุกวันนี้โดยเฉพาะหลัง 19 ก.ย. เป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมของคน เราคิดว่า 19 ล้านเสียงที่เลือกคนบางคนมันโง่ ถูกซื้อ คนบางคนที่ represent 19 ล้านเสียงมันเลวและเราต้องรัฐประหารเขาออกไป เพราะฉะนั้น นี่คือ ปัญหาสำคัญว่า คนในสังคมเท่าเทียมกันได้ไหม คนซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารเท่าเทียมกับคนเก็บขยะได้หรือเปล่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่าเทียมกับผู้หญิงหากินได้ไหม ถ้าเราทะลุกรอบความคิดแบบนี้ได้ สังคมเราจะดีขึ้น
ราคาที่คนแบบ "วินสตัน" ต้องจ่าย
ศิโรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ธนาพลบอกว่า อินเทอร์เน็ตก็สามารถต่อต้านรัฐได้ แต่จากมุม 1984 จะเห็นว่าการต่อต้านในสังคมไซเบอร์มีปัญหาบางอย่างเหมือนกัน เช่น ปัญหาหลักของคนอย่างวินสตันคือเขาไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่ต่อต้านอำนาจรัฐเหมือนเขา เมื่อเจอโอไบรอัน เขาถึงหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ว่าโอไบรอันจะต่อต้านพี่เบิ้มเหมือนเขาด้วย ซึ่งสุดท้ายทำให้เขาถูกรวบ ในเมืองไทยก็อาจจะเหมือนกับปัญญาชนสาธารณะทั้งหลายที่เป็นหมอ เป็นนักกฎหมาย และอีกหลายนัก ซึ่งดูจะเป็นคนที่พูดเรื่องประชาธิปไตยเรื่องเสรีภาพ แต่พอเกิด 19 ก.ย. ขึ้นมาทุกคนแอบดีใจกันหมด หรือบางคนก็ดีใจออกนอกสื่อ
แต่คำถามก็คือว่าในกรณีสังคมไซเบอร์ของเรามันมีปรากฎการณ์อย่างที่คุณธนาพลพูดจริงๆ คือทำให้เกิดคนที่คิดไม่เหมือนบิ๊กบราเธอร์ใน 1984 จริงๆ และเป็นสื่อซึ่งมีพลังมากๆ ด้วย เช่น กรณีสื่อเสื้อแดง เห็นได้ชัดว่าพวกเสื้อแดงถูกปิดกั้นการใช้สื่อของรัฐทุกอย่าง แต่ก็มีการใช้วิทยุชุมชน ใช้อินเทอร์เน็ต สร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมา แต่ก็มีเงื่อนไขบางอย่างเหมือนกันที่ทำให้เรื่องบางเรื่องที่พูดกันมากๆ ในอินเทอร์เน็ต พูดกันได้แค่ในอินเทอร์เน็ต เช่น เรื่องคุณดา ตอร์ปิโด ที่คนจำนวนมากในอินเทอร์เน็ตรู้ว่าเรื่องอย่างนี้มันผิด ไม่ควรจะถูกดำเนินคดีแบบนี้ เขาอาจจะมีความผิดบางเรื่องจริง แต่ไม่ควรถูกดำเนินคดีแบบที่เขาโดนตอนนี้ กรณีคุณจิตรา คชเดช กับไทรอัมพ์ฯ หรือกรณีคุณโชติศักดิ์ อ่อนสูงก็เช่นกัน ในสังคมไหนก็ตาม การนั่งเฉยๆ หรือการใส่เสื้อไม่ควรจะเป็นความผิดในโลกนี้เลย แต่ว่าพอออกไปสู่โลกนอกอินเทอร์เน็ตแล้ว เราทุกคนกลายเป็นวินสตัน คือเราไม่มีทางรู้ว่ามีใครที่เป็นเหมือนเราอยู่กี่คน เพราะฉะนั้น ความผิดแบบนี้ก็กลายเป็นความผิดต่อไป ทั้งที่ทุกคนรู้ว่ามันไม่แฟร์ แต่สุดท้ายมันกลับมาสู่เรื่องความกลัวอยู่ดี
เช่นเดียวกันสิ่งที่ทำให้บิ๊กบราเธอร์ปกครองทุกคนได้ก็คือความกลัว โดยผิวหน้าสังคมที่มีบิ๊กบราเธอร์ปกครอง ดูดีมาก ทุกคนรัก สามัคคี และช่วยเหลือกัน ไม่ว่าตื่นเช้า หรือก่อนนอน คนก็ทำอะไรเหมือนๆ กันหมด แต่ในที่สุดแล้ว ข้างหลังมันคือความรุนแรง ทุกคนรู้ว่าถ้าทำอีกแบบหนึ่งจะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง ที่สุดแล้ว สังคมที่ดูไม่มีความรุนแรงซ่อนความรุนแรงเอาไว้ข้างหลังหมดเลย โดยเฉพาะความรุนแรงที่มาจากอำนาจทางการเมืองที่พยายามจะทำให้ทุกคนคิดเหมือนๆ กัน ในสังคมที่ดูเหมือนสันติ ไม่ใช้ความรุนแรงมากๆ อำนาจทำงานด้วยการใช้ความรุนแรงแทบจะทุกจุด อำนาจอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง นี่อาจจะเป็นปัญหาที่เราตัองพูดกันมากขึ้น คือ ความรุนแรงที่อยู่ในสังคมทำงานอย่างไร
สภาพของคนจำนวนมากที่พูดเรื่องที่พูดไม่ได้นอกสังคมไซเบอร์มีเยอะ แต่เป็นสภาพคล้ายๆ วินสตันกับจูเลีย ที่รู้สึกว่าเมื่อแอบร่วมรักกันคือได้ต่อต้านรัฐหรือพี่เบิ้มแล้ว เพราะที่สุดแล้วการต่อต้านในโลกไซเบอร์คือการต่อต้านใน text ในระดับความคิดเห็น แต่สิ่งที่พี่เบิ้มทุกสังคมทำ ไม่ได้ทำด้วยการควบคุมตัวอักษรหรือการแสดงความเห็นอย่างเดียว แต่ควบคุมด้วยอำนาจที่เป็นจริง เราอาจจะต้องคุยกันให้มากว่า ทำอย่างไรที่ความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ หรือการพูดสิ่งที่รัฐไม่ชอบ จะไม่จบแค่ที่ตัวหนังสือ เพราะการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่อาจต้องคิดว่าเซลล์ย่อยๆ จะเป็นพลังได้อย่างไร นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เราคุยกันน้อยเกินไป การต่อต้านรัฐอาจไม่ใช่แค่การโพสต์กระทู้ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี เป็นเรื่องดีที่ได้ต่อต้านและรัฐเองก็คงไม่ชอบ แต่นั่นไม่ได้ทำให้รัฐมีอำนาจอ่อนแอลงเลย มีความกระทบกระเทือนค่อนข้างน้อย
เขากล่าวเสริมว่า ขณะที่การต่อต้านรัฐในอินเทอร์เน็ตขยายตัวขึ้น การเล่นงานคนที่คิดแบบนี้ก็แรงขึ้นด้วย ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ของการเมืองไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่กระบวนการที่ระบบความหมาย ความเชื่อหรือแกนกลางที่คนในสังคมเคยยึดโยงกับเรื่องต่างๆ ถูกทำลายลงไป ด้วยการปฎิวัติต้านคำ ต้านภาษาผ่านตัวอักษรในไซเบอร์สเปซมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การต่อต้านคนแบบนี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เขาตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ทำอย่างไรที่การปฎิวัติต้านคำเหล่านี้จะหยุดการต่อต้านที่รัฐหรือตำรวจความคิดในบ้านเราทำกับคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด หรือคุณสมอลล์ บัณฑิตได้ เพราะไม่อยากให้คนเหล่านี้ถูกคุกคามโดยที่คนที่เป็นวินสตันในไซเบอร์สเปซก็รู้ว่าเขาถูกคุกคาม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้อีก