ที่มา thaifreenews
โดย Porsche
“สื่อนอก” วิเคราะห์เส้นทางบินเครื่องขนอาวุธ “สุดวกวน” เผยผู้เชี่ยวชาญด้านค้าอาวุธผิดกม.ต่าง “พิศวง” ที่มาแวะกรุงเทพฯ เหตุมีการตรวจค้นสูงมาก ไม่สมเหตุสมผลที่สำหรับการวางแผนการบินของพวกค้าอาวุธ
หนังสือพิมพ์ “เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล” เผยแพร่รายงานบางส่วนของผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเส้นทางการบินและอาวุธของเครื่องบินขนส่ง อิลยูชิน-76 ซึ่งถูกตรวจจับได้ว่าพยายามลักลอบขนส่งอาวุธร้ายแรงจำนวนไม่น้อยกว่า 35 ตัน และถูกทางการไทยยึดทั้งเครื่องบินและอาวุธทั้งหมดเอาไว้พร้อมควบคุมตัวนักบินและลูกเรือรวม 5 คนเอาไว้ในขณะนี้ว่า เครื่องบินลำนี้เริ่มต้นที่ “อาเซอร์ไบจาน” ไม่ใช่ใน “ยูเครน” อย่างที่มีการเปิดเผยกันในตอนแรก และตามแผนการบิน ซึ่งวกวนและผิดปกติอย่างยิ่ง เครื่องบินกำหนดจะส่ง "สินค้า" ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน โดยมีจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เมืองพ็อดกอร์จก้า ประเทศมอนเตเนโกร
รายงานข่าวระบุว่า องค์กรวิจัยการค้าอาวุธระหว่างประเทศ 2 แห่งคือ “ทรานสอาร์ม” ซึ่งตั้งอยู่ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ร่วมกับสำนักข้อมูลข่าวสารเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (ไอพีไอเอส) ซึ่งตั้งอยู่ในนครอันต์เวิร์บ ประเทศเบลเยียม แลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาวิจัยกรณีนี้ และเตรียมจัดทำรายงานออกเผยแพร่ร่วมกัน โดยองค์กรทั้งสองได้ข้อมูลแผนการบินที่ละเอียดยิบตลอดเส้นทางของเครื่องบินลำนี้ พร้อมกับรายการสินค้าและกำหนดจัดส่งทั้งหมดนำมาใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ และพบว่า เครื่องบินออกเดินทางครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. จากสนามบินในเมืองนาสออสนายา ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในวันเดียวกันนั้นเครื่องบินลำดังกล่าวแวะลงจอดเติมน้ำมันที่อัล ฟูไจราห์ ในนครรัฐชาจาห์ 1 ใน 7 รัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยทางเจ้าหน้าที่ของยูเออียืนยันการลงจอดดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเครื่องบินเปล่ากำลังจะเดินทางมารับสินค้า
หลังจากนั้น เครื่องบินลำนี้เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ธ.ค. เพื่อแวะเติมน้ำมัน จากนั้นจึงเดินทางไปยังกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งมีสายของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) เห็นการนำอาวุธขึ้นบรรทุกบนเครื่องบินลำนี้ ซึ่งออกเดินทางจากท่าอากาศยานเปียงยางกลับมายังกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่อนลงจอดเพื่อเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนถูกตรวจและจับกุมในวันที่ 11 ธ.ค.
ตามการวิเคราะห์ของ “ทรานสอาร์ม” และ “ไอพีไอเอส” นั้น จุดแวะลำดับต่อไปก็คือ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ในวันที่ 11 ธ.ค.เช่นเดียวกัน และกำหนดจะไปถึงเมืองอัล ฟูไจราห์ ในชาจาห์อีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. จากนั้นจะบินไปแวะที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ก่อนออกเดินทางต่อมายังกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อถ่ายเทสินค้าทั้งหมดในวันที่ 13 ธ.ค. ก่อนเดินทางไปยังมอนเตเนโกร ในวันเดียวกัน
นายปีเตอร์ แดนเสิร์ต นักวิจัยด้านการค้าอาวุธระหว่างประเทศของไอพีไอเอส ซึ่งมีส่วนในการวิจัยกรณีนี้อยู่ด้วย ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าอาวุธผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ต่างพากันพิศวงกับการหยุดแวะที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นสถานที่ที่มีการตรวจค้นสูงมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้ายาเสพติด ขณะเดียวกันแผนการบินและเส้นทางการบินทั้งหมดถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง แม้จะเป็นเส้นทางการบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าปกติ และยิ่งไม่สมเหตุผลมากขึ้นไปอีกในกรณีที่เป็นแผนการบินของเครื่องบินค้าอาวุธ
“ทรานสอาร์ม” และ “ไอพีไอเอส” ยังได้รายละเอียดของรายการสินค้า ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารปูมการบินตามปกติ โดยระบุว่าเป็น "อะไหล่สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมัน" ในรายการสินค้ารายการหนึ่งแบ่งสินค้าออกเป็น 8 หมวด อาทิ "อะไหล่สำหรับชุดป้องกันความร้อนของแท่นขุดเจาะ รุ่นเอ็มทีอีซี 6" เป็นต้น
รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ใครก็ตามที่เป็นผู้จัดส่งและวางแผนการบินครั้งนี้ พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะปกปิดตัวเอง เครื่องบินลำนี้เดิมทีจดทะเบียนในจอร์เจีย เป็นของบริษัทแอร์เวสต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ปล่อยให้ “บริษัท เอสพี เทรดดิ้ง” จดทะเบียนในนิวซีแลนด์ เช่าเหมาลำไป ต่อมา “เอสพี เทรดดิ้ง” ปล่อยเครื่องให้บริษัทในฮ่องกงบริษัทหนึ่งเช่าเหมาลำไปอีกต่อหนึ่ง
นักวิเคราะห์ของไอพีไอเอส ระบุว่า บริษัทฮ่องกงที่เช่าเครื่องเป็นทอดสุดท้ายนั้น มีบริษัทฮ่องกงอีกบริษัทเป็นเจ้าของและบริษัทที่เป็นเจ้าของนี้ก็มี อีกบริษัทซึ่งใช้ที่ตั้งในเกาะบริติชเวอร์จิ้น เป็นเจ้าของ ไอพีไอเอสเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้นี่เองที่เป็นคนจัดการเรื่องสินค้าล็อตนี้ทั้งหมด
http://thaiinsider.info/2009news/the-news/general/5272-2009-12-21-15-24-46