ที่มา ข่าวสด
เหล็กใน
ล่าสุดอาศัยวิกฤตปัญหามาบตาพุด ที่รัฐบาลเย็นใจปล่อยให้เกิดเรื่องจนกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าหากปัญหามาบตาพุดยืดเยื้อเกิน 1 ปี จะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และจะส่งผลให้จีดีพีทรุดตัวลง เนื่องจากต่างชาติจะไม่มั่นใจในการเข้ามาลงทุนในไทย!??
เอาเถิดไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากอะไร แต่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก้กันไป ซึ่งหมายรวมถึงการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย
ย้อนกลับมาที่เรื่องแอลพีจี แต่เดิมรัฐบาลกำหนดว่าจะตรึงราคาไปถึงเดือนสิงหาคม ปีหน้า จากนั้นค่อยตัดสินใจอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไป!??
แต่ไปๆ มาๆ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน แบะท่าว่าอาจจะพิจารณาก่อนถึงกำหนด
อันที่จริงปัญหาราคาแอลพีจี ที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยตรึงเอาไว้เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน ถูกพูดถึงหลังราคาน้ำมันแพงขึ้นเรื่อยๆ จนคนใช้รถหันมาติดตั้งระบบแอลพีจีกันจำนวนมาก
ทำให้ประเทศไทยที่เคยส่งออกแอลพีจี เริ่มนำเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
และทุกครั้งที่อ้างเหตุผลเพื่อปรับราคา คนใช้รถจะเป็นแพะทุกคราไป
ทั้งๆ ที่ก๊าซซึ่งนำมาใช้ในรถมีสัดส่วนน้อยมากหากเทียบกับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม
โดยภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซแอลพีจีมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนมีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัทในเครือ ปตท.
ในการขอปรับราคาก๊าซแอลพีจี มักจะอ้างแต่เรื่องราคาตลาดโลก แต่ไม่ยอมบอกถึงที่มาของก๊าซว่า 80-90% ที่ใช้ในประเทศสามารถขุดได้ในบ้านเราเอง
แต่กลับอ้างโน่น อ้างนี่ ให้คนไทยต้องใช้ก๊าซแอลพีจีในราคาตลาดโลก ทั้งๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าขนส่งข้ามประเทศ หรือค่าประกันใดๆ หรือถ้าจะเสียก็น้อยมาก
คงห้ามไม่ได้ถ้ารัฐบาลต้องการปรับราคาขายก๊าซแอลพีจี แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่าทำไมเราต้องใช้ราคาเท่าตลาดโลก ทั้งๆ ที่เราขุดขึ้นมาจากหลังบ้านของตัวเอง
ถ้าอยากให้คนไทยใช้ก๊าซราคาแพงขนาดนั้น ก็นำเข้ามาเลย 100% แล้วเก็บก๊าซในเมืองไทยไว้ให้ลูกหลานเราใช้ไม่ดีกว่าหรือ