ที่มา ข่าวสด
รัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ต้องจัดทำรายงาน แสดงผลการดำเนินการเสนอต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งยังตระเตรียมแถลงผลงานให้ประชา ชนได้รับรู้ไปพร้อมกันวันที่ 23 ธ.ค.
แน่นอนว่าผลงานที่แถลงออกมา จะอย่างไรก็ต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแตกต่างไปตามสภาพสังคมการเมืองที่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย
มีกองเชียร์ของใครของมันคล้ายงานกีฬาสีแต่ดุเดือดกว่าหลายเท่า
ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ
พรรคประชาธิปัตย์สามารถ "พลิกขั้ว" จากฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ผลักดันนายอภิสิทธิ์ ขึ้นสู่จุดสูงสุดทาง การเมือง
ท่ามกลางข้อครหาความสำเร็จของนายอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ เพราะได้รับการเกื้อหนุนจากกลุ่มต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม กลุ่มการเมืองที่แยกตัวมาจากขั้วอำนาจเก่า กลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงกองทัพ
ซึ่งคือที่มาฉายา "รัฐบาลเทพประทาน"
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่มีเจ้าบุญนาย คุณจำนวนมากที่พร้อมจะใช้วิธี "ทวงหนี้โหด" นี้เอง
ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องประสบปัญหาภายในเกี่ยวกับการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย
ปัญหารัฐบาลอภิสิทธิ์เริ่มมีมาตั้งแต่การฟอร์มคณะรัฐมนตรี 5 ประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำจำเป็นต้องเสียสละกระทรวงใหญ่ๆ และกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ เกษตรฯ อุตสาหกรรม ให้กับพรรคร่วม
จนทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งที่อกหักจากตำแหน่งไม่พอใจ และทำตัวเป็น "คลื่นใต้น้ำ" รอวันกระเพื่อมได้ตลอดเวลาในระยะ 1 ปีมานี้ โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีกระแสการปรับครม.
นอกจากนี้ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นจุดกระดำกระด่างของ รัฐบาล
คือการนำเอา นายกษิต ภิรมย์ มาเป็นรมว.การต่างประเทศ ตามโควตาของกลุ่มพันธมิตรฯ หนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่
แม้นายกษิต จะขึ้นชื่อเรื่องความมุมานะตามล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนิดสุดขอบฟ้า สร้างความสะอกสะใจให้กับกองเชียร์รัฐบาล
แต่ก็อ่อนด้อยในงานการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้งผลของการไล่ล่ายังกลายเป็นการบีบพื้นที่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการมองตาปริบๆ
กล่าวกันว่าการแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษารัฐบาลและนายกฯกัมพูชา ไปจนถึงกรณีการจับกุมวิศวกรไทย ทั้งหมดเกิดจากความไม่พอใจเป็นการส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชาที่มีต่อนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต
อันมีเชื้อไฟลามมาจากกรณีปราสาทพระวิหาร
ตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน และนายกษิตยังอยู่บนเวทีพันธมิตรฯ
ผลจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้กระทรวงเศรษฐกิจกระจัด กระจายไปอยู่ในมือของพรรคร่วม
นั่นก็คือรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้ดั่งใจ
แถมยังเกิดการเตะสกัดแย่งชิงผลงานกันขนานใหญ่ในหมู่รัฐมนตรีต่างพรรค
ทำให้คะแนนผลงานด้านนี้ออกมาแค่คาบเส้น บรรดาพ่อค้านักธุรกิจ ประชาชนทั่วไปต่างผิดหวังไปตามๆ กันเพราะแต่เดิมคาดหวังไว้สูง
เช่นเดียวกับงานด้านปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น
ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือป.ป.ท.ร่วมกับเอแบคโพลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 89 เห็นว่าปัญหาการทุจริต
อยู่ในระดับค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด
ต้นทุน "คุณชายสะอาด" หดหายแทบไม่เหลือ
หันมาดูผลงานการสร้างความสมาน ฉันท์สามัคคีของคนในชาติ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤตทุกด้าน
ปรากฏว่ารัฐบาล "สอบตก" โดย สิ้นเชิง
จริงอยู่ที่มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา กระทั่งได้ผลสรุปว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น
แต่การตั้งเงื่อนไขว่าการแก้ไขจะต้องผ่านการทำประชามติ
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกมองว่าต้อง การเล่นเกมยื้อเพื่ออยู่ในอำนาจ
มากกว่าต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามที่กล่าวอ้าง
คาดการณ์กันว่าการแก้ไขรัฐธรรม นูญนี้จะเป็นอีกประเด็นร้อนใน ปีหน้า
โดยเฉพาะพรรคร่วมที่ต้องการให้พรรคแกนนำจริงจังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่านี้ อาจนำมาเป็นเงื่อนไขต่อรอง กับการโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน
การยื้อแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงที่กำลังโตวันโตคืนใช้เป็นเงื่อนไขบังหน้า เคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลแบบสุดเหวี่ยง
เป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนการตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทที่กำลังงวดเข้ามาทุกที
ด้วยเดิมพันมูลค่ามหาศาลนี้เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะสั่งการพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงสู้ไม่ถอย
แม้ปลายปีช่วงเดือนมหามงคลพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจะ พักรบชั่วคราว เหมือนเสียงระฆังหมดยกช่วยรัฐบาลที่กำลังเมาหมัดไว้ได้ทัน
แต่จากอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมาบรรจบกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง โดยมีเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ขณะที่รัฐบาลเองในรอบปีที่ผ่านมา ไม่สามารถสร้างผลงานให้ เป็นที่ประทับใจประชาชน โดยชาวรากหญ้ายังมองว่าประชานิยมฉบับอภิสิทธิ์
ยังสู้ประชานิยมฉบับทักษิณไม่ได้
เหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปีหน้าว่ายังเป็นปีที่ยากลำบากของรัฐบาลอภิสิทธิ์
และตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์สามัคคีให้เกิดขึ้น
ต่อให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกสักกี่ครั้ง
ก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยืดเยื้อยาวนานได้