WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, December 21, 2009

ปาฐกถาเกียรติยศ:โคมไฟจากวีรชนนวมทอง

ที่มา Thai E-News



แต่ไหนแต่ไรมา เราได้ยินข้อกล่าวหาว่าร้ายอย่างต่อเนื่องว่า ประชาชนในประเทศนี้ยังไม่พร้อมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย กรณีของลุงนวมทองย่อมจะลบล้างคำแก้ตัวเช่นนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ผลของการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน ทั้งความสำนึกและความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมทางการเมืองนั้นกระจายทั่วไปทั่วแผ่นดินถึงระดับหมู่บ้าน นี่เป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง นี่คือสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง


โดย อรรคพล สาตุ้ม
21 ธันวาคม 2552

หมายเหตุไทยอีนิวส์:รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวปาฐกถา เนื่องในงานรำลึกการครบรอบการเสียชีวิตของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ประจำปี 2552 ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำเกษตรกร (ศูนย์สารภี) อ.สารภี จ.เชียงใหม่


การสละชีวิตของลุงนวมทองเป็นปรากฏการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่ง การย้อนระลึกถึงลุงนวมทองเป็นคุณูปการทั้งในแง่การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ทางการเมืองร่วมสมัย และในแง่ที่เป็นมรดกทางคุณค่าต่อชีวิตของเรา และลูกหลาน ซึ่งจะเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงสังคมที่สำคัญยิ่งกว่าเพียงการทำความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ลุงนวมทองตัดสินใจขับรถแท็กซี่ชนรถถังที่จอด"รักษาความสงบเรียบร้อย" อยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงเราไม่สามารถจะล่วงรู้ความในใจของท่านได้ แต่เราคงจินตนาการได้ว่า ท่านคงคับข้องใจจนถึงขั้นคับแค้นต่อการฆาตกรรมชีวิตประชาธิปไตยของประเทศชาติ

การประท้วงในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกกันไว้ เป็นการกระทำที่ยากต่อความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นหลักธรรมที่ค้ำจุนศักดิ์ศรีและชีวิตของราษฎร จึงมีการกล่าวหาว่าร้ายต่อการกระทำของลุงนวมทอง

การกล่าวหาของพันเอก อัคร ทิพโรจน์ว่าเป็นการรับอามิสสินจ้าง และถึงกับกล่าวว่าไม่มีคนไทยคนไหนยอมตายเพื่ออุดมการณ์นั้นเป็นวจีกรรมที่เหยียดหยามดูถูกดูแคลนคนจริง คนแท้อย่างลุงนวมทอง ซึ่งแสดงความเด็ดเดี่ยวอีกครั้งด้วยการประกอบอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 31 ตุลาคม 2549

เราสมควรตั้งคำถามว่า ในบรรดาเหล่าทหารที่ทำรัฐประหารกันมา 17 ครั้งนั้น มีผู้ใดบ้างที่มีการกระทำซึ่งเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่านอกเหนือจากการแสดงทางวาจาแล้ว เป็นวีรบุรุษที่สละชีพเพื่อชาติ เมื่อพิจารณาจากมุมนี้ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์เป็นหนี้ต่อวิญญาณของลุงนวมทอง

ซึ่งถ้ามีน้ำใจเป็นลูกผู้ชายจริง อย่างน้อยก็ต้องแสดงการขอขมาให้เป็นที่รับรู้แก่สังคม แต่นี่คงเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไปสำหรับบุคคลที่รับใช้คณะรัฐประหารเยี่ยงเขา แม้กระทั่งก่อนงานฌาปนกิจ เขาก็หาได้ใส่ใจไปคารวะศพลุงนวมทองไม่ สังคมของเรามีทั้งสองด้านที่ขัดแย้งกัน

เรามีทั้งคนที่น่าคารวะเทิดทูน และคนเยี่ยงพ.อ. อัคร ทิพโรจน์

ในเมื่อเราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้จากผู้ที่มีส่วนเป็นสาเหตุต่อการสิ้นชีวิตของลุงนวมทอง ก็ยิ่งเป็นการสมควรที่เราจะได้มาร่วมรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของท่าน ความตายของลุงนวมทองสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง

1. แต่ไหนแต่ไรมา เราได้ยินข้อกล่าวหาว่าร้ายอย่างต่อเนื่องว่า ประชาชนในประเทศนี้ยังไม่พร้อมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย กรณีของลุงนวมทองย่อมจะลบล้างคำแก้ตัวเช่นนี้ได้อย่างสิ้นเชิง

การเสียชีวิตของลุงนวมทองทำให้เรายิ่งตระหนักได้ว่า จิตสำนึกทางการเมืองได้ขยายแพร่ไปสู่ระดับสามัญชน เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งผู้มีจิตสำนึกทางการเมืองอยู่ในกลุ่มของผู้ปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ครั้นถึงเมื่อปี 2475 กลุ่มผู้มีจิตสำนึกทางการเมืองอยู่ในกลุ่มของข้าราชการระดับกลางและสูง ยังไม่ใช่กลุ่ม “ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน”

เหตุการณ์ ‘14 ตุลา’ แสดงให้เห็นว่าจิตสำนึกทางการเมืองได้แพร่หลายในกลุ่มนักศึกษา

ครั้นถึงเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ปี 2535ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

และผลของการรัฐประหารเมื่อ ‘19 กันยายน 2549’ ทั้งความสำนึกและความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมทางการเมืองนั้นกระจายทั่วไปทั่วแผ่นดินถึงระดับหมู่บ้าน นี่เป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงภายในช่วงไม่กี่ทศวรรษ นี่คือสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง


2. การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นพลวัตรที่ต่อเนื่องกัน เป็นการถ่ายทอดพลังจากกลุ่มหนึ่งสู่อีกกลุ่มหนึ่ง จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

กระแสความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงระหว่าง ’14 ตุลา’ ถึง ‘6 ตุลา’ นั้น ถึงดูว่าจะเข้มข้นในหมู่นักศึกษาเป็นหลัก แต่ก็มีอิทธิพลในด้านความคิดที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในบรรดาผู้คนที่หาเช้ากินค่ำและผู้ที่ต้องจมอยู่กับสภาพสังคมที่เสวยสุขกันอยู่ในวงจำกัด

ลุงนวมทองเป็นบุคคลเล็กๆผู้หนึ่งที่ได้รับรู้ข่าวสารและการเรียนรู้ถึงลักษณะสังคมที่สมควรจะแตกต่างไปจากสภาพปัจจุบัน ด้วยความพยายามการเผยแพร่ความคิดของกลุ่ม ‘นักศึกษา ปัญญาชน’ ผลพวงของการต่อสู้ที่เสมือนว่าเป็นความพ่ายแพ้นั้น แท้แล้วเป็นเพียงการถูกยับยั้งจากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ความสิ้นหวังควรจะเป็นความรู้สึกเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนพลังทางประวัติศาสตร์นั้นจะเอื้อต่อการเดินทางของเรา

3. พลังนี้เป็นพลังความคิดการจัดการปกครองและบริหารประเทศที่ได้เผยแพร่กันต่อมากว่า 4 ทศวรรษ แม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็ได้ก่อตัวเป็นที่ยอมรับและเข้าใจว่า ประชาชนที่มีสิทธิในการออกเสียงนั้นมีความหมายต่อการกำหนดผู้บริหารประเทศ

ความหมายนี้เป็นเชิงสัมพัทธ์ ส่วนพลังความคิดที่พยายามจะลดและล้างประชาธิปไตยนั้นกลับมิได้ส่งผลที่เป็นมรรคเป็นผลต่อการดำรง ชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพเท่า คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย’ จึงมิใช่เป็นเพียงคำขวัญลอยๆที่จะถูกลบล้างด้วยโอวาทและวาทะของฝ่ายที่มุ่งบ่อนทำลายอำนาจที่มีอยู่ในมือของราษฎรไปได้ง่ายๆ

ไม่ว่าลุงนวมทองจะได้รับคุณประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมจากระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม แต่จิตใจที่สมาทานหลักการปกครองระบอบนี้ก็เป็นทั้งความคิดที่ควบคู่อยู่กับความรู้สึกซึ่งสามารถแปรเป็นการกระทำเพื่อต่อต้านการฉกฉวยหลักธรรมนี้

และแม้ว่าผู้คนจำนวนมากอาจจะไม่อยู่ในฐานะหรือสามารถตัดสินใจอย่างกล้าหาญชาญชัยขนาดลุงนวมทองได้ แต่ความคิดที่ควบคู่กับความรู้สึกอย่างของลุงนวมทองนั้นมีอยู่ในหัวใจของผู้คนในประเทศนี้เป็นจำนวนมหาศาลเหนือความกังขาใดๆ อย่างที่การแสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับคืนมาได้เป็นข้อพิสูจน์สืบเนื่องมาตั้งแต่การเสียชีวิตของลุงนวมทอง

4. การรวมพลังของผู้คนจำนวนมหาศาลนี้ค่อยๆก่อตัวขึ้น แต่ก็หลังจากที่ลุงนวมทองได้จากไปแล้ว เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ถ้าการรวมพลังนี้เกิดขึ้นอย่างทันกาล เราอาจจะไม่เสียลุงนวมทองไป และท่านก็คงจะเป็นแรงหนึ่งแรงร่วมกับบรรดาที่มีใจตรงกันในการเรียกร้องประชาธิปไตย

แต่ในเมื่อเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตใหม่ได้ การต่อสู้ในสิ่งเดียวกับที่ลุงนวมทองได้สละชีวิตนำไปก่อนหน้านี้นั้นย่อมเป็นเสมือนการรับโคมไฟต่อมาจากท่าน ให้เราได้เดินทางไปสู่จุดหมายเดียวกับที่ท่านต้องสังเวยด้วยชีวิต

5. อัตวินิบาตกรรมของลุงนวมทองสืบเนื่องมาจากการฆาตกรรมหลักธรรมของสังคมไทย อัตวินิบาตกรรมกับฆาตกรรมประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่เชื่อมเกี่ยวกัน

การจบชีวิตของท่านด้วยมือของตนเองนั้นมิใช่เป็นเพียงปฏิกิริยาชั่ววูบจากคำพูดของคนคนหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อลุงนวมทองขับยานพาหนะที่ใช้เลี้ยงชีพเข้าชนรถถังนั้นก็สามารถถึงขั้นจบชีวิตได้แล้ว

คำถามที่ว่า ใครคือฆาตกร? บางคนก็อาจจะตอบว่า ท่านเป็นด้วยตัวของท่านเอง แต่ใครเล่าที่ทั้งผลักทั้งกดให้ท่านทำเช่นนั้น? ถึงกระนั้นเราก็ยังคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ว่า ก็คือบุคคลอันน่าละอายของกองทัพ และอันเป็นอัปมงคลสำหรับสังคมไทยผู้นั้น เขาเป็นเพียงข้อหนึ่งของสายโซ่เท่านั้น แท้จริงแล้วฆาตกรรมนั้นเป็นผลมาจากอาชญากรรมรวมหมู่ (Collective Crime) ด้วยหลากหลายอาวุธและจากน้ำมือของคนหลายๆคน ซึ่งรวมๆแล้วก็คือคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่พยายามจะรักษาสถานภาพเดิมอันประกอบด้วยอำนาจและผลประโยชน์อันมหาศาลไว้

จริงอยู่ที่การชี้นิ้วไปยังผู้คนกลุ่มนี้ว่าคือผู้รับผิดชอบนั้นอยู่นอกเหนือกรอบความคิดทางกฎหมาย แต่ถ้าข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นมาตรการเพียงประการเดียวเสียแล้ว ก็ป่วยการที่ประกาศกันก้องไปว่าเรานับถือศาสนธรรมเป็นสรณะ

6. ถึงแม้ว่า มโนธรรมสำนึกจะไม่ระคายเคืองผู้ใดที่ร่วมประกอบอาชญากรรมรวมหมู่นี้ กระนั้น การสิ้นชีวิตของลุงนวมทองก็มิสูญเปล่า

ความเสียสละของท่านย่อมเป็นแรงบันดาลใจของเรา ทำให้เราหวนมาตระหนักถึงคุณค่าที่สามารถถือได้ว่า ลุงนวมทองได้ฝากไว้เป็นมรดกต่อเราและลูกหลาน

สิ่งที่ท่านได้กระทำลงไปนั้นเป็นสิ่งสูงสุดที่บุคคลสามารถจะให้ได้ ท่านได้ขีดมาตรฐานและแสดงเป็นตัวอย่างแก่เราด้วยการกระทำมิใช่ด้วยวาจา

ดังนั้นในส่วนของเราแต่ละคนที่สามารถจะให้ได้จึงดูแล้วน้อยนิด และการรำลึกถึงท่านก็จะเป็นกำลังใจแก่เราที่จะพยายามให้มากขึ้น มิใช่เพียงเพื่อตอบรับความมุ่งมั่นของท่านเท่านั้น แต่เพื่อเสริมคุณค่ามรดกที่ท่านได้ให้ไว้ร่วมกับคนอื่นๆที่สั่งสมไว้เพื่อลูกหลานของเรา

7. ชีวิตสามัญชนอย่างลุงนวมทองนั้นอาจจะไม่มีความหมายในสายตาของชนชั้นที่เสวยสุขอยู่ท่ามกลางความทุกข์เข็ญของผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ท่านอาจจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกป้องรักษาแผ่นดิน แต่จุดหมายในการจบชีวิตของท่านนั้นเหนือพ้นไปจากการจะกล่าวหาได้ว่ามาจากแรงจูงใจที่ “มักใหญ่ใฝ่สูง” หรือการคิดคำนวณด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นการกระทำนั้นจึงล้ำเลิศสมควรได้รับการสรรเสริญไม่น้อยกว่าผู้ใดในแผ่นดินนี้ และวันหนึ่งในอนาคต อาจเป็นไปได้ที่เราจะมีรูปเคารพของท่านไว้เป็นอนุสาวรีย์ของผู้เชิดชูประชาธิปไตยด้วยชีวิต

ขอให้เราได้ร่วมยกย่องความหาญกล้าของท่าน ได้ร่วมเชิดชูหลักการที่ท่านพร้อมที่แลกด้วยชีวิต

ขอความเจริญแก่ราษฎรที่พยายามสลัดอำนาจอธรรมให้พ้นจากสังคมไทย

ขอบูชาคารวะวิญญาณลุงนวมทอง ไพรวัลย์