ที่มา ประชาไท
ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่จัดอันดับ 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย แล้วยกให้กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับ 65 โครงการมาบตาพุด เป็นอันดับหนึ่งของความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชนในปี 2552
กรณีนี้จะมองเป็น “ชัยชนะของประชาชน” ชาวมาบตาพุดเพียงด้านเดียวไม่ได้ เพราะมันส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อผู้ประกอบการ ต่อแรงงาน และต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็มี “ประชาชน” ได้รับผลอีกด้านหนึ่งเช่นกัน และอาจจะกว้างขวางใหญ่โตกว่าด้วยซ้ำ
ผลกระทบนี้ยังอาจจะเป็นผลลบด้านกลับต่อการต่อสู้ของภาคประชาชน ถ้ามีสายตายาวไกลพอ
นอกจากนี้ คำสั่งศาลดังกล่าวยังมีข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ซึ่ง-แม้ใจหนึ่งจะชื่นชมยกย่องว่าตุลาการท่านกล้าหาญอย่างยิ่งในการออกคำสั่งดังกล่าว โดยไม่กริ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. (และปูนซีเมนต์ไทย) แต่ผมก็มีความรู้สึกตะหงิดๆ กังขาคาใจ จนต้องอุตสาหะไปสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์ (ทั้งที่อยู่ในสภาพไร้ทรัพยากรและทีมงาน ต้องแกะเทปเองเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี)
ซึ่งก็ได้คำตอบที่ชัดเจนในประเด็นกฎหมาย ได้ความเห็นอย่างที่อยากได้ นี่ไม่ได้แปลว่าวรเจตน์พูดอะไรผมต้องเห็นเป็นนกเป็นไม้ แต่บอกแล้วว่าสามัญสำนึกทำให้เกิดความรู้สึกตะหงิดๆ ตั้งแต่แรก เพียงอธิบายเองไม่ถูก ต้องหาผู้รู้มาอธิบาย
วรเจตน์พูดถึงดุลยภาพของสิทธิทั้งสองด้าน สิทธิชุมชน สิทธิของผู้ประกอบการ และแย้งว่าไม่ควรจะ extreme ไปด้านใดด้านหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนและภาคประชาชนควรคำนึงถึง กฎหมายมีไว้เพื่อคุ้มครองความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพียงแต่กฎหมายไม่ได้บอกว่าคุ้มครองเพียงความเป็นธรรมของชาวบ้าน สิทธิของคนจน สิทธิของม็อบ กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิของ “นายทุน” ด้วยเช่นกัน
เมื่อเคลียร์ประเด็นทางกฎหมายแล้ว สิ่งที่ผมอยากพูดต่อไปก็คือ ทัศนะต่อการต่อสู้ของภาคประชาชน รวมทั้งคำถามว่านี่คือ “ชัยชนะของประชาชน” จริงหรือไม่
ทั้งนี้ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจมุมมองของภาคประชาชน ไม่ใช่ไม่เข้าใจความทุกข์ทรมานของชาวมาบตาพุด ที่ต้องทนรับพิษร้ายตกทอดไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะผมเคยไปมาบตาพุด ไปสัมภาษณ์สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และตัวแทนชาวบ้าน แค่ลงจากรถก็รู้สึกได้เลยว่าอากาศที่หายใจเข้าไปแย่มาก เราอยู่แป๊บเดียวยังอึดอัด แล้วชาวบ้านที่เขาต้องทนอยู่ทั้งชีวิตล่ะ ปัญหาคุณภาพน้ำ อาหารการกิน ปลา เคย ที่มาจากทะเล ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ อีกล่ะ มันเป็นความทุกข์ทรมานร้ายแรงเร่งด่วนที่ทำอะไรได้ก็ต้องรีบทำ เพื่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนบริสุทธิ์ผู้ได้รับเคราะห์กรรมจากการลงทุนที่ไม่รับผิดชอบ
ที่พูดนี่ไม่ใช่ออกตัวตามสูตร เพราะหลายปีที่ผ่านมา ผมก็เป็นปากเสียงให้การต่อสู้ของภาคประชาชนมาตลอด สัมภาษณ์ NGO มานับไม่ถ้วน ขอให้บอกเหอะ รสนา สารี วิทูรย์ นิมิตร์ หาญณรงค์ หมอวิชัย หมอชนบท ฯลฯ ไอ้มด วนิดา หมอหงวน สุวิทย์ วัดหนู สัมภาษณ์ตั้งแต่มีชีวิตยันงานศพ จะเรื่องยา เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องต่อต้าน FTA เรื่องต่อต้านอะไรที่ไหน ขอให้บอก บ่อนอก บ้านกรูด บางสะพาน ผมไปเองไม่ได้มีใครสั่ง (ไม่เคยได้สปอนเซอร์จาก สสส.-ฮา)
เพียงแต่ยังไม่เคยจัดฉากให้นักอนุรักษ์กอดต้นไม้ถ่ายภาพ เท่านั้นเอง
ฉะนั้นแม้ไม่อาจบอกว่าผมเข้าใจภาคประชาชนดี (เพราะไม่เคยเป็น NGO และชาตินี้ไม่คิดจะเป็น) แต่ผมก็เป็น “ผู้สังเกตการณ์” ที่ใกล้ชิดภาคประชาชนตลอดมา
หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ผมไปนั่งคุยกับเพื่อน (อดีตสหาย) ที่สนับสนุนพันธมิตรสายภาคประชาชน เขาเชียร์พันธมิตร แม้ไม่เอาทั้ง “ทุนสามานย์” และ “ศักดินาล้าหลัง”
คุยกันเรื่องมาบตาพุดแล้วผมก็แสดงความเห็นแย้งทางกฎหมาย และบอกว่าเราควรคิดถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แน่นอนผมไม่แยแสไอ้พวกที่โวยวายว่านักลงทุนจะหนีไปประเทศที่เข้มงวดน้อยกว่า อย่างจีน (ที่ใช้เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ! พัฒนาทุนนิยมโดยไร้ความรับผิดชอบ มลพิษท่วมเมือง) แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เพราะผู้ลงทุนต้องการกฎเกณฑ์ที่มั่นคง แน่นอน มั่นใจได้ จะเข้มงวดอย่างไรก็ขอให้มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช่เขาเข้าใจว่าทำได้ ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับมาหงายหลังตึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันไม่ใช่ว่าทั้ง 65 โครงการจะตั้งหน้าตั้งตาเจตนามาปล่อยสารพิษฆ่าคนมาบตาพุดให้สูญพันธุ์ โครงการส่วนใหญ่อาจจะทำถูกต้องด้วยซ้ำ เพียงแต่ยังไม่ได้ทำตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแค่ “กระบวนการ” เท่านั้น แต่เนื้อหาจริงๆ เขาอาจจะสอบผ่านหมด ฉะนั้นผมอยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แยกแยะไปทีละโครงการ จัดการกับพวกที่ทำให้เกิดมลพิษ แล้วให้คนที่เขาทำถูกต้องดำเนินต่อไปโดยสะดวกไม่มีปัญหา
เพื่อนผมเห็นด้วย แต่เขามองอีกมุม
“คุณจะเอาอะไรกับไอ้ประเทศเฮงซวยนี่ ที่มีแต่การคอรัปชั่น อำนาจทุกขั้ว นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร อำมาตย์ ไม่มีดีทั้งนั้น เราจะเอาระบบอะไรกับมัน ไม่มีทางเป็นไปได้”
ในทัศนะของเขา ถ้ารอแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำทุกอย่างถูกต้อง ชาวมาบตาพุดตายก่อน เพราะที่ผ่านมาหลายแห่งก็ทำถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ผ่านปัญหาคอรัปชั่นที่เน่าเฟะ คนมาบตาพุดจึงมีสิทธิที่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อปกป้องตนเองและลูกหลาน
เพื่อนผมจึงเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องใช้ “ยาแรง” คำสั่งศาลเป็นการ “ช็อต” ระบบ ทำให้สังคมไทยตื่น แน่นอนว่าอาจจะมีผู้ลงทุนหลายรายใน 65 โครงการ ที่ไม่ได้คิดจะก่อมลพิษ แต่ก็จำเป็นต้องถูกบูชายัญ เพื่อทำให้เกิดความตื่นตัวขนานใหญ่ในเรื่องมลภาวะ ปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมาปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวเอง เพราะเขาไม่หวังอีกแล้วว่าการแก้ปัญหาตามระบบจะเป็นไปได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนเรื่องใหญ่ การคอรัปชั่นฝังรากลึก ลงมาถึงสถานีตำรวจ เขต เทศกิจ จราจร แก้ไขไม่ได้แล้ว มีแต่ต้องทำให้ประชาชน ชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการปัญหา
ผมฟังแล้วก็อึ้งไปเหมือนกัน และยอมรับข้อหนึ่งว่า เออ ถ้าเราเป็นคนมาบตาพุด เราก็จะไม่คำนึงถึงหลักการ ไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางวิธีการ ไม่คำนึงถึงข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ไม่คำนึงถึง “สิทธิของนายทุน” เพราะเราจะตายอยู่แล้ว (นี่หว่า)
คนมาบตาพุดมีสิทธิต่อสู้ ทุกวิถีทาง สุทธิมีสิทธิต่อสู้ ทุกวิถีทาง เพื่อมวลชนของเขา เพื่อไล่อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ใช่เลย เพียงแต่ถ้าบอกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีสิทธิต่อสู้ทุกวิถีทาง กระทั่งไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย เพื่อไล่ระบอบทักษิณ มันไม่ใช่ (ฮา)
อย่าว่าผมมั่ว เอาเรื่องไม่เกี่ยวกันมาพัวพัน เพราะความจริงมันเกี่ยว
ทัศนะของเพื่อนผมสะท้อนทัศนะของพันธมิตรสายภาคประชาชน ที่ความจริงไม่ได้นิยมชมชื่นศักดินาอำมาตย์ที่ไหน แต่พวกเขามองว่าอำมาตยาธิปไตยน่ะเป็นเหมือนอาทิตย์อัสดง ขณะที่ทุนสามานย์รวมศูนย์อำนาจเข้มแข็ง พวกเขาหมดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานจากการเลือกตั้ง หมดความเชื่อมั่นระบอบการปกครองที่เน่าเฟะ คอรัปชั่นตั้งแต่บนสุดถึงล่างสุด พวกเขาจึงเชื่อว่า “การเมืองใหม่” เท่านั้นที่จะเป็นทางออก “การเมืองใหม่” ที่ไม่ใช่ 70-30 ดังปากพูด แต่ “การเมืองใหม่” จริงๆ ที่พวกเขาต้องการคือให้ภาคประชาชนสามารถแทรกตัวเข้าไปมีอำนาจ ท่ามกลางความย่อยยับของระบอบทักษิณ และความอ่อนล้าของอำมาตยาธิปไตย (Chaos = อนาธิปไตย)
นี่...คือการมองพันธมิตรภาคประชาชนในแง่ดีมากนะครับ คือเข้าใจในเจตนาดี แต่ไม่เห็นด้วยทั้งหลักการและวิธีการ
ถ้าเราย้อนมองการต่อสู้ของชาวมาบตาพุด เราจะเห็นมิติใหม่ของการต่อสู้ของภาคประชาชน เพราะชาวมาบตาพุดน่ะต่อสู้มานับสิบปีแล้ว เป็นข่าวครึกโครมมาหลายปีดีดัก แต่เพิ่งจะมามีพลังการต่อสู้และประสบความสำเร็จเอาใน 2-3 ปีนี้เอง เมื่อมีผู้นำอย่าง สุทธิ อัชฌาศัย ผู้สวมหมวก 2 ใบ คือผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออก และแกนนำพันธมิตรภาคตะวันออก กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
หมวก 2 ใบนี้แยกกันไม่ออก เป็นเหมือนเงื่อนไข “ต่างตอบแทน” ในขณะที่มวลชนภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในกำลังหลักของพันธมิตร (สุวรรณภูมิใกล้แค่นี้เอง) เรื่องราวของชาวมาบตาพุดก็ได้รับการถ่ายทอดทาง ASTV ได้แรงหนุนจากสื่อกระแสหลัก นักวิชาการ นักกฎหมาย ที่เป็นพันธมิตรของพันธมิตร สุทธิและชาวมาบตาพุดเข้าถึงช่องทางการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ เข้าถึงชนชั้นนำ ได้เสียงชนชั้นกลาง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น สร้างกระแสสังคมสนับสนุนมากขึ้น ตัวสุทธิเองก็เข้าไปเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่หมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ (ณ พันธมิตร) ผลักดันให้อานันท์ ปันยารชุน (แบ็กพันธมิตร) มาเป็นประธานกรรมการแก้ไขปัญหา
ถามว่าถ้าสุทธิไม่โดดมาเป็นพันธมิตร พวกเขาจะประสบผลสำเร็จเช่นนี้หรือไม่
มาบตาพุดจึงเป็นภาพสะท้อนมิติใหม่ของการต่อสู้ภาคประชาชน ที่มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น และเริ่มเข้าไปมีส่วนแบ่งอำนาจ ไม่ใช่ภาพการต่อสู้ของภาคประชาชนในอดีต ที่สู้แล้วแพ้ ได้แค่ความเห็นใจ ลงท้ายผู้นำถูกยิงตาย ถามว่าผมอยากเห็นแบบนั้นซ้ำซากหรือ ก็ไม่ใช่ แต่การมีอำนาจและใช้อำนาจ ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
ที่บอกว่าภาคประชาชนเริ่มมีอำนาจ ไม่ได้พูดเว่อร์นะครับ มีจริงๆ กองทัพภาคประชาชน (ณ พันธมิตร) มีท่อน้ำเลี้ยงจากเครือข่ายลัทธิประเวศ ทั้ง พอช. สสส. มีสื่อให้ใช้ ทั้ง ASTV และสื่อกระแสหลักทั้งหลาย มีมือกฎหมายเจ๋งๆ (อย่างเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ม.7) มีนักวิชาการทุกมหาลัยพร้อมลงชื่อเป็นหางว่าวออกแถลงการณ์สนับสนุน มีคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ ในสภา ในวุฒิสภา มีแนวร่วมในหมู่ขุนนางอำมาตย์ (และมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองแร้วด้วยยย...)
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะภาคประชาชน (ณ พันธมิตร) มีบทบาทสำคัญในการไล่ระบอบทักษิณ แล้วเกิดสภาวะที่รัฐอำมาตยาธิปไตยอุปถัมภ์อ่อนแอ จึงทำให้ภาคประชาชนมีอำนาจต่อรองสูง (จะสูงยิ่งขึ้นถ้าช่วยกันเลือกพรรคการเมืองใหม่ ฮิฮิ)
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี ถ้าเชียร์สิทธิชุมชน ชาวมาบตาพุด บ้านกรูด บ่อนอก บางสะพาน ฯลฯ ก็เหมือนไม่มีอะไรต้องค้าน และต้องยอมรับคุณูปการด้วยว่าคุณสามารถแปร Chaos มาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ไม่น้อย
จะเปรียบไปก็คล้ายกับหลังรัฐประหาร ที่หมอมงคลเป็น รมว.สาธารณสุข นำแพทย์ฝ่ายก้าวหน้าประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ ดัดหลังบรรษัทยาข้ามชาติที่ขายยาราคาแพงมหาโหด เป็นคุณูปการที่ผมยกย่อง สดุดี แม้จะต้องทนผะอืดผะอมที่เห็นแพทย์ฝ่ายก้าวหน้าสนับสนุนและปกป้องรัฐประหารเป็นวรรคเป็นเวร
แต่ครั้งนั้นยังรับได้กว่าครั้งนี้ เพราะอย่างน้อยก็ยังไม่ได้บังคับใช้สิทธิยารวดเดียว 65 ตัว มันเป็นเรื่องระหว่าง extreme กับความเหมาะสม
ฉะนั้นในขณะที่ภาคประชาชนไชโยโห่ร้องว่า คดีมาบตาพุดคือ “ชัยชนะของประชาชน” ผมมองในมุมกลับก็พบว่าครั้งนี้ภาคประชาชน NGO เจอปฏิกิริยาด้านลบ ถูกเหม็นขี้หน้าอย่างกว้างขวางเช่นกัน
ไม่คิดบ้างหรือว่ามันจะส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ครั้งต่อๆ ไป
ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” ภาคประชาชน ที่หวังว่าคงไม่ถูกมองเป็น “พวกนายทุน” ขอย้ำว่าผมยอมรับว่าชาวมาบตาพุดมีสิทธิต่อสู้ทุกรูปแบบวิธีการ เพื่อชีวิตตัวเองและลูกหลาน (เหมือนแม่ศิวรักษ์มีสิทธิทำทุกอย่างไม่ให้ลูกติดคุก) แต่คุณก็ต้องยอมรับสิทธิของคนอื่นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นต่าง โดยไม่ใช่ว่าเป็นพวกนายทุนเสียหมด เหมือนใครไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรคือพวกทักษิณ
ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” ผมขอตั้งข้อสังเกตตรงๆ ว่า ทัศนะของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน “มีปัญหา” มีมานานแล้วด้วย
คือไอ้ความเป็นนักเคลื่อนไหวน่ะมันไม่ง่ายหรอก แต่ก็ไม่ยาก ขอแค่เกลียดอำนาจรัฐ เกลียดนายทุน ต่อต้านกลไกรัฐ ต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ไปยาลน้อยไปยาลใหญ่ ใช้อุดมการณ์แรงกล้าเดินขบวน นำม็อบชาวบ้านลุยตำรวจ เวลายื่นข้อเรียกร้องจะเอาคืบต้องยื่นศอก จะเอาศอกต้องยื่นวา เพื่อมาต่อรองกับนักการเมืองชั่วววข้าราชการเลววว... บอกแล้วว่าคุณต่อสู้แทนชาวบ้าน ทำอะไรก็ไม่ผิด
แต่เวลาที่คุณจะก้าวขึ้นมามองภาพรวมของสังคม ที่มันมีทั้งกระแสหลักกระแสรอง ต้องคำนึงถึงทั้งการพัฒนาทุนนิยม และคำนึงถึงผู้บริโภค คำนึงถึงคุณภาพชีวิต ให้มันสมดุลและไปด้วยกัน คุณต้องมองอะไรกว้างกว่านั้น ไม่ใช่ยึดแค่ทัศนะเดิมสูตรสำเร็จ
ทัศนะของ NGO ที่อยู่กับการต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ นานๆ เข้าก็กลับจากขอบเข้ามาอยู่ตรงจุดศูนย์กลางไม่ได้เหมือนกันนะครับ NGO ส่วนใหญ่จึงถลำเข้าไปใน “ลัทธิประเวศ” ปฏิเสธทุนนิยม ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ แต่ก็หาคำตอบให้สังคมไม่ได้
ที่ผ่านมา NGO ยังเป็นกระแสรองของสังคม บอกแล้วว่าแพ้ตลอด ได้แค่ความเห็นใจ มันก็มีความอัดอั้น เก็บกด แต่เวลาที่คุณจะก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งอำนาจ ไม่ได้เป็นผู้แพ้ตลอดศกอีกแล้ว คุณต้องรู้จักมองภาพกว้าง หัดทำความเข้าใจทุนนิยม หัดเรียนรู้เศรษฐศาสตร์มหภาค ดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงินบาท ฯลฯ เสียมั่ง เพราะมันส่งผลไปถึงปากท้องของคนยากคนจนอีกมากมายเช่นกัน (หรือถ้าจะไม่เอาระบอบทุนนิยมก็โปรดดีไซน์ระบอบสังคมใหม่ให้ดู)
คุณต้องรู้จักคิดถึงอกเขาอกเรา แม้คุณจะคิดว่าไอ้พวกนายทุนเชี่ยๆ มันไม่เคยคิดถึงหัวอกเรา แต่มันก็คือตัวแทนของกระแสหลักในสังคม มันจ้างงาน มันจ่ายภาษี มันกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ (รวมทั้งทำให้เกิดการกินเหล้า สูบบุหรี่ แล้ว สสส.จะได้มีเงินมาหนุน NGO-ฮิฮิ)
ผมชื่นชมนักต่อสู้อย่างสุทธิ อัชฌาศัย, บรรจง นะแส, ภินันทน์ โชติรสเศรณี ฯลฯ ประเทศไทยต้องมีคนอย่างนี้เยอะๆ เพื่อสร้างอำนาจชุมชน ต่อรองถ่วงดุลอำนาจรัฐ ต่อต้านการพัฒนาทุนนิยมที่ไม่รับผิดชอบ
ผมยกย่องพวกเขา เพราะคนธรรมดาอย่างเราๆ ไม่สามารถต่อสู้อย่างพวกเขาได้ ไม่สามารถเสียสละ ทุ่มเท อุทิศตัว ยังเห็นแก่ความสุขสบายส่วนตัว เกินกว่าจะพลีทุกอย่างได้
อย่างไรก็ดี บทเรียนของเหมาเจ๋อตงที่เสียสละทุกอย่างเพื่อการปฏิวัติ แล้วนำประเทศไปจ่อปากเหวแห่งหายนะ ก็สอนเราว่าการเป็น “นักต่อสู้” ไม่สามารถอาศัยแค่จิตใจ ไม่สามารถอาศัยแค่อุดมการณ์
คือถ้าคุณจะชูป้ายเย้วๆ นำมวลชนมาลุยตำรวจหน้าทำเนียบ คุณอยากสุดขั้วสุดโต่งแค่ไหนก็เชิญตามสบายครับ แต่ถ้าคุณอยากเข้ามามีอำนาจ มีสิทธิเสียงต่อรองในสังคม หรืออยากมีฐานะทางการเมือง มีส่วนกำหนดนโยบายของประเทศ
คุณก็ต้องเข้าใจว่าการเป็นสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักอนาธิปไตยผู้อุทิศชีวิตเพื่อคนยากคนจน มันยังแตกต่างห่างไกลกับการเป็นลูลา ดา ซิลวา อยู่หลายขุมเด้อ! อาจต้องใช้เวลาเดินทางอีกหลายปีแสง ถ้าจะก้าวไปบริหารประเทศ พัฒนาการเมืองภาคประชาชนให้เป็นปึกแผ่น เป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
ฉะนั้น ถ้าสมมติว่าเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว พรรคการเมืองใหม่เหินหาว ชนะถล่มทลาย สนธิเป็นนายกฯ สุทธิเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม บรรจงเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ภินันทน์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์
อันดับแรกผมจะชูจั๊กกะแร้แสดงความยินดีกับพวกคุณ ผู้มีจุดยืนต่อสู้เพื่อประชาชนอย่างแน่วแน่ แต่อันดับสอง ผมก็จะบอกว่านับถอยหลังได้แล้วประเทศไทย เพราะความฉิบหายทางเศรษฐกิจกำลังมาเยือน!
นี่อาจสมมติอะไรเว่อร์ไป แต่เมื่อวกกลับมาที่ “ชัยชนะของภาคประชาชน” ในกรณีมาบตาพุด ผมก็อยากบอกด้วยความหวังดีว่า ชัยชนะแบบ extreme ในขณะที่ภาคประชาชนเพิ่งจะได้อำนาจต่อรองมาแค่หยิบมือ มันก็อาจเป็นเหมือน “ชัยชนะ” ที่พันธมิตรประกาศหลังยึดสนามบิน แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน
คือเป็นชัยชนะที่จะมีผลกระทบมีปฏิกิริยาด้านลบกลับมาสู่การต่อสู้ของพวกคุณเอง และไม่เฉพาะพวกคุณ แต่รวมถึงภาคประชาชนทั้งหมดด้วย NGO ทั้งหมดด้วย ที่จะถูกตั้งแง่จากสังคม