ที่มา thaifreenews
ข้อเสนอสมานฉันท์จากพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและ นปช. ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว” โดยแท้
รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร
(นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี)
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ตัวแทนและที่ปรึกษาทางกฎหมายของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร (ดร. นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคพลังประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๑) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อเสนอวิธียุติความขัดแย้งทางการเมืองของไทยตามความเห็นของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ว่าสามารถทำได้โดยการเจรจาประนีประนอมให้มีผลทางปฏิบัติ ๓ เรื่อง คือ (๑) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และนำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาบังคับใช้ (๒) ยุบสภา และ (๓) จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ; ในช่วงเวลาเดียวกัน ตัวแทน “นปช.” (คุณ จตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย) แถลงต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางการสมานฉันท์ทางการเมืองคล้ายคลึงกันข้างต้น โดยกล่าวย้ำว่าควรจะต้องมีการทำสัตยาบันจากทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันว่าจะเคารพผลการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังการนำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาใช้ และภายหลังการยุบสภาข้างต้น
หลังจากสื่อมวลชนไทยเผยแพร่ข้อเสนอแนวทางการเจรจาสมานฉันท์ข้างต้น แกนนำบริหารรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง) รวมทั้งคณะทำงานใกล้ชิด เช่น นายเทพไท เสนพงศ์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแสดงการคัดค้าน[1] ตอบโต้ และกระแนะกระแหนข้อเสนอจากพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าแปลกใจที่พ.ต.ท. ทักษิณ เคยนั่งหัวโต๊ะที่ประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่บัดนี้เสนอให้นำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาใช้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการคัดค้านและการแถลงตอบโต้ข้อเสนอแนวทางสมานฉันท์จาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยังคงพยายามตอกย้ำให้สื่อมวลชนไทยนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนไทยอย่างต่อเนื่องเสมอมา ได้แก่ ข้อกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมมวลชนของ “นปช.” ตลอดเวลาที่ผ่านมา) เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของ “คน ๆ เดียว” คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (การตอกย้ำครั้งล่าสุดในกรณีนี้ ได้แก่ คำให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อ้างว่าพ.ต.ท. ทักษิณ ต้องการสถานะเดิมคืนมา ต้องการเงินที่ถูกยึดไปคืนมา และไม่ต้องการรับโทษจำคุก ซึ่งเป็นความต้องการอยู่เหนือกฎหมาย)
สาธารณชนไทยจำนวนหนึ่งที่เคย “เชื่อ” หรือคล้อยตาม หรือแม้แต่เพียงแค่ระแวงสงสัยว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมมวลชนของ นปช. ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นการกระทำ “เพื่อพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” หรือเป็นการกระทำ “เพื่อคน ๆ เดียว” (ตามที่มีการตอกย้ำ กระทบกระเทียบเปรียบเปรย และวิพากษ์วิจารณ์จากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายกลุ่มอำนาจรวมทั้งสื่อมวลชนพวกพ้อง) สามารถตรวจสอบความจริงความเท็จเรื่องนี้ได้อีกครั้งโดยพิจารณาที่ “สาระเนื้อหา” ของข้อเสนอสมานฉันท์จากพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (และพวกพ้อง) กล่าวคือ (๑) นำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาใช้แทนรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (๒) ยุบสภา (๓) จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐
ไม่มีสาระเนื้อหาข้อใดในข้อเสนอสมานฉันท์ ๓ ประการข้างต้นเลยที่เป็นข้อเสนอให้กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ; ในทางตรงข้าม, ข้อเสนอทั้ง ๓ ข้อ ล้วนเกี่ยวข้องกับการมีส่วนได้เสียของสาธารณชนไทยโดยส่วนรวมทั้งสิ้น เช่น การใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งย่อมมีผลบังคับครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ผูกพันกับเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องเฉพาะรายของ “คน ๆ เดียว” ตามที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามคัดค้านการนำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาใช้ ด้วยการให้สัมภาษณ์ตอกย้ำว่าการใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ของ “พ.ต.ท. ทักษิณคนเดียว” ; การยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก็เป็นการดำเนินการทางการเมืองสาธารณะ กล่าวคือ เป็นการดำเนินกิจกรรมสาธารณะ (public affairs) ที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะกับประโยชน์ได้เสียของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ได้เสียของประชาชนส่วนรวมทั้งประเทศ
วันนี้ หากคนไทยรายใดยัง “เชื่อ” หรือแม้แต่ยังคลางแคลงใจว่าข้อเสนอสมานฉันท์จาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ นปช. ๓ ประการข้างต้น เป็น ข้อเสนอการเจรจาเพื่อประโยชน์ของ “คน ๆ เดียว” ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และสื่อมวลชนพวกพ้องพยายามประโคมในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็ปไซต์ต่าง ๆ ในเครือข่าย , คนไทยคนนั้นอย่างน้อยควรจะต้องตรวจสอบตนเองด้วยว่าได้ “ทำหน้าที่” ตามความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อประโยชน์ของคนไทยโดยส่วนรวม “เพียงพอ” แล้วหรือยังในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทยในแผ่นดินนี้คนหนึ่ง
*****************************
[1] บทความวิเคราะห์สาเหตุและแรงจูงใจที่พรรคประชาธิปัตย์และ “ผู้บัญชาการพรรคประชาธิปัตย์” ยังคงต่อต้านการสมานฉันท์ทางการเมืองตามแนวทางดังกล่าว อยู่ระหว่างการร่างและเขียนสรุปเพื่อเผยแพร่ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป