ที่มา ประชาไท
ศาลไต่สวนคดีเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ จำเลยเผยถูกตำรวจบังคับให้สารภาพ ยันไม่ได้เป็นผู้ดูแลระบบ และไม่ได้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ด้านผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตได้ให้การเป็นพยานจำเลยด้วย โดยศาลนัดพิพากษา 15 มี.ค. นี้
วันนี้ (10 ก.พ. 54) ในการสอบพยานจำเลยคดีฟ้องนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ ว่ากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14, 15 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล จำเลย ซึ่งให้การเป็นพยานตัวเองกล่าวว่า เขาเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบและสร้างเว็บไซต์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2553 มีคนติดต่อเข้ามาผ่านหน้าเว็บ redthai.org ที่เขาดูแลอยู่ว่าให้ช่วยทำโลโก้และพื้นหลังของเว็บไซต์ หลังจากนั้นติดต่อกันผ่านทางอีเมล นายธันย์ฐวุฒิได้รับอีเมลเป็นลิงก์ที่เข้าถึงโปรแกรม FTP (File Transfer Protocol) ซึ่งเมื่อกดแล้วพบว่ามีแฟ้มข้อมูลอยู่หนึ่งแฟ้ม เมื่อเข้าไปแล้วก็คลิกต่อไปไม่ได้
หลังจากนั้น จำเลยถูกจับกุมในวันที่ 1 เม.ย. 53 ที่อพาร์ทเมนท์ของเขา โดยตำรวจบอกกับเขาว่าคดีนี้รุนแรงควรรับสารภาพ รวมทั้งเมื่อไปถึงสถานีตำรวจมีตำรวจนายอื่นกล่าวอีกว่า คดีนี้รุนแรงไม่น่าจะหลุด ให้รับสารภาพจะได้มาอยู่กับลูก ยิ่งคดีเสร็จเร็วก็จะได้กลับบ้านเร็ว แต่จำเลยไม่ยอมเซ็นสารภาพ ตำรวจจึงกล่าวกับเขาว่า "ให้มึงไปคิดคืนหนึ่ง ถ้าอยากกลับบ้านก็เซ็นซะ" คืนนั้นเขาและลูกชายวัย 10 ขวบนอนค้างที่สถานีตำรวจ ตอนเช้าเขาตื่นขึ้นเพราะมีคนเดินเข้ามาในห้องบอกกับเขาว่า เขาไม่รักในหลวง เขาเป็นบุคคลอันตราย จากนั้นก็เริ่มการสอบสวนต่อโดยตำรวจบอกเขาว่าให้รีบเซ็นเสียจะได้กลับไปอยู่กับลูกเหมือนเดิม ไม่งั้นประชาสงเคราะห์จะมารับตัวลูกไป
ในวันที่ 2 เม.ย. 53 เขาจึงเซ็นชื่อว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความสองข้อความตามที่ฟ้อง สำหรับอีกข้อความหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ นั้น ตำรวจกล่าวว่าไม่ต้องเซ็นรับสารภาพเพราะมีวิธีจัดการวิธีอื่น และบอกให้เขาเขียนกำกับเอาไว้ว่า "เฉพาะข้อความนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนโพสต์"
ทั้งนี้ จำเลยได้กลับคำให้การในชั้นศาลว่า ที่จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้นไม่เป็นความจริง จำเลยยืนยันในชั้นศาลว่าไม่ได้เป็นผู้ดูแลระบบ และไม่ได้โพสต์ข้อความตามฟ้อง
จากนั้น ในการสืบพยานจำเลยปากที่สอง ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ
ศาลให้ ดร.จิตร์ทัศน์อ่านข้อมูลการจราจรที่เป็นหลักฐานในคดีนี้ ดร.จิตรทัศน์อธิบายว่า เอกสารดังกล่าวแสดง Log หรือปูมบันทึกเหตุการณ์ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์หมายเลขไอพีหนึ่งเข้าสู่ระบบผ่านโปรแกรม FTP ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการแบบหนึ่งบนอินเทอร์เน็ตที่ใช้สำหรับโอนย้ายแฟ้มข้อมูล คนทั่วไปก็สามารถใช้โปรแกรมนี้ได้
ศาลถามว่าการจะใช้โปรแกรม FTP ได้นั้นจำเป็นต้องมีรหัสผ่านหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า มีทั้งแบบที่ต้องใช้รหัสผ่านและไม่ต้องใช้รหัสผ่าน ทั้งนี้รูปแบบการใช้งาน FTP นั้น เมื่อใส่ชื่อผู้ใช้เข้าไปแล้วหากเป็นระบบที่ตั้งไว้ว่าต้องใช้รหัสผ่าน ระบบจะส่งข้อมูลกลับมาถามอีกครั้ง แต่ในปูมหรือบันทึกดังกล่าวไม่ได้แสดงผลส่วนนี้ จึงไม่รู้ว่าผู้จัดทำข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์นี้ไม่ได้เก็บเอาไว้ หรือว่าไม่มีการใช้รหัสผ่าน ซึ่งเป็นได้ทั้งสองกรณี
ทั้งนี้ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่แสดงว่าเข้าสู่เว็บไซต์นปช.ยูเอสเอมีสองส่วน ส่วนแรกแสดงข้อมูลจราจรสามบรรทัด ทนายจำเลยถามว่า เอกสารจราจรคอมพิวเตอร์ดังกล่าวบอกได้หรือไม่ว่าเมื่อเข้าสู่ระบบแล้วไปโพสต์อะไร พยานผู้เชี่ยวชาญให้การว่า จากปูมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีการล็อกอินเข้าไปแต่ไม่ได้ทำอะไร ศาลถามต่อว่าได้แสดงหรือไม่ว่ามีการโอนย้ายข้อมูล พยานผู้เชี่ยวชาญดูข้อมูลจราจรแล้วตอบว่า ไม่มี
ข้อมูลการจราจรส่วนที่สองนั้น ดร.จิตร์ทัศน์อธิบายว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าผู้ใช้พยายามโอนไฟล์จากเครื่องตัวเองเข้าสู่ระบบ แต่ไม่รู้ว่าโอนสำเร็จหรือไม่ เพราะถ้าโอนสำเร็จจะต้องมีคำตอบกลับมาว่า 200 OK หรือ 250 OK กรณีนี้ไม่มีการยืนยันกลับมา
ทนายจำเลยถามต่อไปว่า หลักฐานภาพจากหน้าเว็บที่ระบุว่า wrtitten by admin นั้น มีความหมายว่าอะไร พยานตอบว่า หมายความว่าข้อความนั้นๆ ถูกโพสต์โดยผู้ใช้ที่ใช้ชื่อบนเว็บว่า admin ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดูแลระบบ เนื่องจากเว็บไซต์สมัยใหม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการตั้งชื่อตัวเองได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถตั้งซ้ำได้
การเบิกพยานจำเลยเสร็จสิ้นลงในวันนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 มีนาคม 2554