ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ประเทศไทยค่อนข้างถนัดในการควบคุมราคาสินค้า แต่เป้าหมายในการควบคุม ไม่ใช่เพื่อผดุงมิให้ค่าครองชีพสูงเกินไป อย่างน้อยก็ไม่ใช่โดยตรง
เช่นในช่วงหนึ่ง เราต้องการชักจูงให้คนมีทุนหรือเข้าถึงทุนได้บางกลุ่ม ริเริ่มการผลิตด้านอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยเสี่ยงให้น้อยที่สุด จึงใช้อำนาจรัฐกดราคาแรงงานไว้ให้ต่ำ แต่เพื่อให้แรงงานซึ่งได้ค่าจ้างต่ำนี้อยู่ได้ ก็ต้องกดราคาอาหารลงด้วยการควบคุมราคา หรือวิธีอื่นๆ เช่น เก็บภาษีพรีเมียมข้าวส่งออก การควบคุมราคาอาหารจึงมิได้ทำเพื่อลดค่าครองชีพ แต่เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และขยายตัวได้
บางครั้ง เราต้องการให้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างที่ตลาดภายในต้องการ จึงอนุญาตให้เกิดการผูกขาดคืออนุญาตให้ผลิตได้เพียงเจ้าเดียวหรือสองเจ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขัน ทั้งจากผู้ผลิตอื่นหรือจากการนำเข้า จึงต้องควบคุมราคาสินค้าตัวนั้น แต่ก็เป็นราคาที่ผู้ผลิตต้องได้กำไร แต่ผู้นำเข้าไม่สามารถสู้ได้ เพราะมีกำแพงภาษีกันไว้ การควบคุมราคาสินค้าประเภทนี้จึงไม่มีผู้บริโภคอยู่ในความคิดแต่อย่างใด
โดยสรุปแล้ว การควบคุมราคาสินค้าในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความพยายามบิดเบือนตลาด คือป้องกันมิให้เกิดการแข่งขันกันจริง ที่ห้ามหมูข้ามเขตในสมัยก่อน ก็เพราะต้องการทำให้ตลาดหมู ไม่มีการแข่งขันจริงนั่นเอง เมื่อไรที่ไม่เปิดให้มีการแข่งขัน ก็ต้องมีบางรายได้โอกาส และบางรายเสียโอกาสเป็นธรรมดา นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยต้องจ่ายค่าต๋งทางการเมืองเสมอมา ไม่ว่าจะจ่ายให้นักการเมืองหรือนักรัฐประหาร และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการรัฐกิจของไทยอย่างแยกไม่ออก
เราใช้นโยบายควบคุมราคากันมานานจนคนไทยเคยชินเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ ของแพงเมื่อไร ก็เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมราคาเข้มงวด ราคาไข่ซึ่งเป็นโปรตีนถูกสุดจึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลของรัฐบาลไทยไปโดยปริยาย
ผมสนใจการควบคุมราคาสินค้าอาหาร เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ใครๆ ก็คาดเดากันว่าอาหารทั้งโลกจะมีราคาสูงขึ้น เพราะพื้นที่เกษตรของโลกลดลง และเพราะความผันผวนของภูมิอากาศ ในระยะยาวก็คำนวณกันได้ว่า เราไม่มีทางจะผลิตอาหารพอเลี้ยงพลโลกที่เพิ่มขึ้นได้ ยกเว้นแต่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (เช่น ทำนาในทะเล) หรือเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาของโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่สู้จะมากนัก
ราคาอาหารกระทบคนทุกคน จึงมีจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่น่ากลัวแก่รัฐบาล (เราเคยมีรัฐประหารสมัยหลังสงครามที่อ้างว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมค่าครองชีพได้) แต่เอาเข้าจริง รัฐบาลก็สามารถควบคุมราคาอาหารได้ไม่สู้จะสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบัน เพราะปัจจัยการผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น กดราคาอาหารก็กระทบไปถึงผู้ผลิตวัตถุดิบส่วนอื่น อีกทั้งในสภาพของโลกาภิวัตน์ซึ่งทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นตลาดเดียว วัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตอาหาร หรือแม้แต่ตัวอาหารเอง จึงอาจไหลออกไปสู่ตลาดที่ไม่ถูกควบคุมราคาได้เสมอ ควบคุมราคาจึงอาจเป็นผลให้เกิดการขาดแคลน หรือกึ่งขาดแคลนได้ง่าย (เช่น กักตุนสินค้าไว้จนกว่าจะยอมให้ขึ้นราคา)
ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยควรหันมาใส่ใจเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้มากขึ้น แทนที่จะเรียกร้องแต่การควบคุมราคาโดยรัฐ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งเป็นฐานของการผลิตอาหาร
ในภาคการเกษตรของไทย มีการผูกขาดโดยนิตินัยและพฤตินัยอยู่มากทีเดียว ซึ่งล้วนทำให้ราคาอาหารในตลาดสูงขึ้น หากเราหันมาใส่ใจตรงนี้ให้มาก โอกาสที่จะทำให้ราคาอาหารมีความเป็นธรรมทั้งแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็จะมีความเป็นไปได้มากกว่าใส่ใจกันแต่ควบคุมราคาในตลาดอาหาร ซึ่งที่จริงก็เป็นปลายทางแล้ว
ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงซึ่งกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่ขาดไม่ได้ของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกนำเข้าโดยเสรี แต่รัฐจะอนุญาตให้บริษัทใหญ่จำนวนหนึ่งสามารถนำเข้าได้ โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมด้านคุณภาพและราคา แต่เอาเข้าจริงก็ควบคุมไม่ได้ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ตกถึงมือเกษตรกรรายย่อย มักมีราคาสูงกว่าท้องตลาด เพราะถูกโกงตาชั่งบ้าง, ถูกปลอมปนบ้าง, ถูกให้ "กู้" เป็นเงินยืมซึ่งต้องมี "ดอก" เป็นธรรมดาบ้าง ฯลฯ เพราะพ่อค้าปุ๋ยและยาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของบริษัทนำเข้า
ราคาของปุ๋ยจึงไม่มีการแข่งขันกันจริงมาแต่ต้นทางแล้ว บริษัทนำเข้าก็วนไปวนมาอยู่ไม่กี่บริษัท หากไม่ถือหุ้นไขว้กันไปมาแล้ว ก็มักจะ "ฮั้ว" กันเอง (อันเป็นธรรมชาติของการประกอบธุรกิจผูกขาดทั้งหลาย) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสารเคมีที่หลายประเทศห้ามใช้ในการเกษตรซึ่งมีนับเป็นหลายร้อยหลายพันชนิด แต่ไม่ห้ามในประเทศไทย มาตรการของรัฐจึงไม่ทำให้ได้คุณภาพของปุ๋ยและยา ราคาก็ถูกบิดเบือนมาแต่ต้น
เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์เช่นหมูหรือไก่ รัฐควบคุมให้มีไม่กี่บริษัทที่สามารถนำเข้าลูกไก่พันธุ์จากต่างประเทศได้ ผู้ผลิตลูกหมูพันธุ์ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าเช่นกัน ส่วนอาหารสัตว์เล่า แม้รัฐไม่ได้บังคับ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว ก็เป็นการผูกขาดอีกลักษณะหนึ่งนั่นเอง เกษตรกรต้องพึ่งบริษัทอยู่ไม่กี่เจ้า ซึ่งแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรมนัก เช่นซื้อลูกไก่ก็ต้องพ่วงอาหารไปด้วย
การเกษตรแบบพันธสัญญาในเมืองไทย ก็คือการปล่อยให้ทุนสามารถผูกขาดทุกขั้นตอนของการผลิตและตลาด เพราะรัฐไม่ใส่ใจที่จะพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ เพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ นายทุนผลักภาระความเสี่ยงในตลาดทั้งหมดให้เกษตรกรพันธสัญญารับไปเอง หากปลาในตลาดราคาตก ก็ไม่ยอมรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งต้องลงทุนด้านอาหารปลาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทจะรับซื้อเมื่อราคาปลาในตลาดดีขึ้นแล้ว บางครั้งก็กลายเป็นปลาตัวโตเกินไปขายไม่ได้ราคา ก็อาจไม่รับซื้อเสียอีก
ผลผลิตที่ได้จากภาคเกษตรก็ถูกผูกขาดโดยพฤตินัยเช่นกัน ข้าวต้องขายให้แก่เจ้าหนี้ ไข่ต้องขายให้แก่เอเยนต์ของผู้ส่งออกหรือผู้ส่งออกโดยตรง ตลาดภายในที่รวมศูนย์มากๆ ทำให้เหลือผู้กระจายสินค้าการเกษตรอยู่ไม่มากนัก และคือผู้กำหนดราคารับซื้อจากเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น
ฉะนั้นแทนที่จะมาควบคุมราคาอาหารที่ปลายทาง เรากลับไปจัดการกับการผลิตที่ต้นทางกัน จะไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้ราคาอาหารมีความเป็นธรรมมากกว่าหรอกหรือ
และผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือ ทำให้เกษตรกรรายย่อยมี "ทางเลือก" มากขึ้น นับตั้งแต่จะใช้หรือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หากจะใช้ก็มีทางเลือกว่าจะใช้ยี่ห้อใด ในราคาเท่าไร รวมถึงใช้อย่างไร จะขายสินค้าก็มีให้เลือกขายได้หลายเจ้า แม้แต่กู้เงินก็มีแหล่งทุนให้กู้ได้หลายลักษณะ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต้องแข่งขันกันเอง
จะทำให้เกิดสภาวะนี้ได้ ก็ต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ประกอบการรายย่อย อย่าปล่อยให้เกิดการผูกขาดทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแก่บริษัทยักษ์ทั้งหลาย ผมเชื่อว่าตลาดใดๆ จะเสรีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสไม่น้อยไปกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่อาหารถุงข้างถนนไปถึงการทำโรงแรมหรือโรงงานทอผ้า เพราะผู้ประกอบการรายย่อยคือผู้ควบคุมราคาที่มีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายย่อยก็ "ฮั้ว" กันได้ยากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางเศรษฐกิจก็เป็นผู้ประกอบการรายย่อยอย่างหนึ่ง (ผมหลีกเลี่ยงจะใช้คำว่าสหกรณ์ เพราะรัฐได้บอนไซการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางเศรษฐกิจของชาวบ้านทุกชนิดให้ไม่มีทางงอกงามด้วยคำนี้เสียแล้ว) มีเงื่อนไขหลายอย่างในประเทศไทยที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเช่นนี้น้อย รัฐควรขจัดเงื่อนไขเหล่านั้น แล้วสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดขึ้นให้มาก
โดยสรุปคือเปิดให้ตลาดของการผลิตอาหารได้ทำงานอย่างเสรี ย่อมมีผลดีต่อส่วนรวมมากกว่าการควบคุมราคาที่ปลายทาง
ผมทราบดีว่า ตลาดและกลไกตลาดไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำที่ต้องป้องกันมิให้หลายสิ่งหลายอย่างเข้าสู่ตลาด อย่างน้อยก็ไม่เข้าไปเป็นสินค้าเต็มตัว นับตั้งแต่ความรัก ไปจนถึงทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่นที่ดิน, น้ำ, อากาศ, การรักษาพยาบาล, การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
แต่เรากลับปล่อยให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสินค้าในตลาด เช่น ที่ดินซึ่งเกษตรกรจำนวนมากต้องเช่าเขาทำ เพียงแค่ทำให้ผู้ต้องการจับหางไถมีที่ดินของตนเองทุกคน ราคาอาหารก็จะถูกลงและผู้คนต่างสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อแล้ว