ที่มา ประชาไท
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ถือเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะได้พิสูจน์วุฒิภาวะและสติปัญญาของสังคม บทความนี้จึงขอนำเสนอทัศนะบางประการของสื่อสารมวลชนฝ่ายกัมพูชา เท่าที่กระผมได้นั่งสังเกตการณ์อยู่ในกรุงพนมเปญ ดังนี้
1.สื่อสารมวลชนกัมพูชา รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า ฝ่ายไทยรุกรานดินแดนของกัมพูชา เนื่องจากพื้นที่รอบปราสาทและเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยชอบธรรม ตามแผนที่ปักปัน Dangrek มาตราส่วน 1:200,000 โดยนำเสนอภาพแผนที่ต้นฉบับว่า เป็นผลงานการปักปันของคณะกรรมการผสมสยามและฝรั่งเศส ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสื่อมวลชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ของกัมพูชา ได้ขยายรูปแผนที่ฉบับจริงให้สาธารณชนทั่วประเทศได้เห็นและชี้ว่าบริเวณเขาพระวิหารนั้นเส้นเขตแดนเป็นอย่างไร สื่อสารมวลชนกัมพูชาดูเหมือนจะไม่ปิดปังข้อมูลจนทำให้แผนที่เป็นเอกสารลับเหมือนบ้านเมืองของเรา เพราะฝ่ายกัมพูชาได้เปรียบในการใช้แผนที่ดังกล่าว ตามคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ่านคำพิพากษาให้ผู้ฟังทางบ้านฟังเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเขมร
2.มีการนำเสนอภาพความเสียหายหลังจากการถูกจู่โจมของฝ่ายกัมพูชา มีภาพไฟไหม้บ้านเรือน มีภาพเด็กและคนชรา ร้องไห้ วิ่งหนีหลบลูกกระสุน ประชาชนตามแนวชายแดนของทั้งสองฝ่ายได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน และสถานี Bayon TV ก็มีการตั้งเวทีอภิปรายถึงเรื่องดังกล่าว มีการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน มีการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในประเทศไทยที่กำลังแบ่งเป็นหลายฝ่าย รวมทั้งนำเสนอคำพูดของทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ
3.ผู้ประกาศข่าวรายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ทำหนังสือไปถึงองค์การสหประชาชาติ ให้รับทราบถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติและองค์กรโลกบาลต่างๆ เข้ามายุติปัญหาดังกล่าว เพราะฝ่ายกัมพูชาไม่ต้องการให้เกิดสงคราม
4.ผู้ประกาศได้แจ้งเตือนชาวบ้านตามแนวชายแดนให้อพยพออกจากพื้นที่ และเตรียมตัวรับมือกับภาวะสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของฝ่ายไทยเอง เกิดความขัดแย้งและมีกลุ่มคนไทยบางกลุ่มที่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยใช้กำลังทหารเพื่อเข้ามายึดดินแดนของกัมพูชา
ผู้ประกาศรายงานอีกว่า "ตามที่ฝ่ายไทยเสนอให้ฝ่ายเขมรถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่บริเวณวัดแก้วฯ นั้นเป็นเรื่องที่ทำตามได้ยากและไม่มีเหตุผล เพราะหากทหารเขมรไม่รักษาแผ่นดินของเขาเอาไว้แล้ว จะให้รัฐบาลกัมพูชาอธิบายให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจว่าอย่างไร”
5.สื่อกัมพูชาจบท้ายการรายงานด้วยภาพธงชาติและเพลงชาติกัมพูชา ซึ่งกระผมขอนำเสนอคำแปลภาษาไทยตามที่ ดร.ศานติ ภักดีคำ แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มศว.ประสานมิตรเคยแปลเอาไว้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าชาวกัมพูชามีทัศนะอย่างไรต่อชาติของเขา ดังนี้
“ชนชาติเขมรลือชื่อเก่งที่หนึ่งในโลก มีชัยโชคก่อสร้างปราสาทศิลา
อารยธรรมสูงบวรชาติศาสนา มรดกยายตาไว้ยกภพแผ่นดิน” (อ้างจาก
http://info.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0618010947&srcday=2007/11/01&search=no)
ด้วยเหตุนี้ กระผมขอเสนอ 3 แนวทางในการยุติปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1.การเจรจา
เท่าที่ปรากฏตลอดระยะเวลาของการเกิดปัญหาความขัดแย้ง ดูเหมือนว่าความพยายามที่จะเจรจาหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ค่อยบังเกิดผลไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความไว้วางใจกันอีกต่อไป
2.การใช้สงครามและความรุนแรง
ที่ผ่านมาการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธและความรุนแรง ได้พิสูจน์แล้วว่ายังแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย และไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่มีอยู่ยุติลงไปได้อย่างแท้จริง
3.การระงับข้อพิพาทด้วยองค์กรโลกบาล
แนวทางนี้ฝ่ายกัมพูชาพยายามให้เกิดขึ้น เนื่องจากทราบดีว่าตนเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ
แต่สำหรับฝ่ายไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ยอมรับแผนที่
1:200,000 อีกทั้งยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนของไทย ดังนั้นหากรัฐบาลหรือผู้รักชาติฝ่ายใดก็ตามที่คิดว่า เรามีข้อต่อสู้ ข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่ถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิงในเวทีระหว่างประเทศหรือสามารถอธิบายต่อนานาชาติให้เข้าใจได้ ก็ควรต้องออกมาช่วยกันร่วมแก้ปัญหานี้ อย่ามัวแต่เล่นการเมืองภายใน เพราะการนำกรณีดังกล่าวมาประเด็นประเด็นการเมืองเพื่อมุ่งล้มรัฐบาลในขณะนี้ ย่อมไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย และไม่ได้ก่อให้เกิดการยุติปัญหาได้
เพราะในท้ายที่สุด หากมีองค์กรโลกบาลใดเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ความจริงก็จะปรากฏให้เราเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคมไทย
เกี่ยวกับปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา และการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ขอเสนอแนวทางกว้างๆ ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวดังนี้
หลักการข้อที่ 1 ในการเจรจาและการตกลงเกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น
ต่างฝ่ายย่อมมีความเท่าเทียมกันที่จะนำข้อมูลและหลักฐานเพื่อยืนยันถึงผลประโยชน์
โดยต้องคำนึงถึงประเทศชาติของตนให้มากที่สุด ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารทางกฏหมาย เช่น สนธิสัญญา (treaty) อนุสัญญา (convention) พิธีสาร (protocol) ข้อตกลง (agreement)
บันทึกวาจา (procès-verbal) ปฏิญญา (declaration) บันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
หลักการข้อที่ 2 ต่างฝ่ายต้องยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเจรจากันด้วยแนวทางแห่งมิตรภาพ ความจริงใจ และมีเจตนาความบริสุทธิ์ ไม่นำ “อคติ” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์นานัปการของฝ่ายตน มาปะปนกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหลักการในข้อ 1
หลักการข้อที่ 3 หากเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากมีความขัดแย้งในทางความเห็นด้านหลักฐานเอกสารตามหลักการในข้อ 1 และ/หรือ เกิดความระแวงสังสัยและไม่ลงรอยกันตามหลักการในข้อ 2 ควรพิจารณาว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นทั้งหลาย มีจุดประสงค์เพื่อสิ่งใด
หากมีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพความสงบสุข และความมั่งคงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ก็ควรยึดหลักการแห่งเหตุและผล เพื่อทำความประสงค์นั้นให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ “คนท้องถิ่น”เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
ดังนั้น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำและผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ จักต้องกำหนดจุดยืนและประกาศให้ชัดเจน มั่นคงและตรงไปตรงมามากกว่านี้ อย่ามัวพะวักพะวงกับเรื่องทางการเมือง เพราะหากยังมีท่าทีอย่างที่เป็นอยู่เหตุการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และแนวทางที่จะเลือกนั้น ต้องมีจุดมุ่งหมาย "เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์" จึงจะสมกับเป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แทนของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น