ที่มา Thai E-News
เหยื่อพวกคลั่งชาติ-(บน)เจ้าหน้าที่อุ้มหญิงชราชาวบ้านที่ถูกอพยพออกจากหมู่บ้านใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อหลบภัยไปยังแหล่งพักพิงรองรับการอพยพชั่วคราวในจังหวัดศรีสะเกษอย่างทุลักทุเล (ภาพข่าว:รอยเตอร์)(ล่าง)ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยชาวกัมพูชาอพยพออกจากพื้นที่"ทับซ้อน" ตามที่พันธมิตรฯต้องการไปยังที่พักพิงรองรับการอพยพชั่วคราว หลังเกิดการสู้รบของทหารไทยกับกัมพูชา(ภาพข่าว:รอยเตอร์)
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา สถานการณ์พื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประชาชนชาวกัมพูชา และทหารของทั้งสองประเทศ
แม้ว่าขณะนี้ ( วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ) สถานการณ์การสู้รบจะดูคลี่คลายลงบ้าง หลังจากการเจรจาถึง 2 ครั้งระหว่างกองทัพไทยและกัมพูชา แต่ก็ใช่จะเป็นเครื่องยืนยันว่า การสู้รบจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะในขณะที่รัฐบาลซึ่งได้เฝ้าย้ำมาตลอดว่าแนวทางสันติ และการเจรจาคือทางออกของข้อพิพาทนี้ ก็ไม่เคยสามารถใช้การเจรจาให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างจริงจัง และไม่สามารถยับยั้งการปะทะให้เกิดขึ้นแม้เพียงสักครั้งเดียว
ก่อนหน้านี้ ทั้งชาวไทยและกัมพูชาต่างก็มีชีวิตเป็นปกติสุขบนพื้นที่ทับซ้อน การค้าชายแดนเป็นไปอย่างปกติ แม้แต่เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวชายแดนก็มีความอลุ่มอล่วยให้กัน สงครามครั้งนี้จึงเป็นสงครามที่คนไทยไม่อยากให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะคนในพื้นที่ หากคนในพื้นที่ขัดแย้งกัน ยังจะพอเป็นชนวนในการปะทะที่สมเหตุสมผลกว่า
แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีเหตุอันควรใดๆเลย นอกจากกระแสคลั่งชาติที่รัฐบาล และคนไทยบางกลุ่มสร้างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งต่างจากความรักชาติ ที่ปรารถนาจะเห็นชาติของตนสงบสุข รุ่งเรือง เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รักของประเทศเพื่อนบ้าน คนที่รักชาติจึงมุ่งประสานประโยชน์มากกว่าการกีดกัน มุ่งเจรจามากกว่าสู้รบ พื้นที่เพียงไม่ถึงห้าตารางกิโลเมตร ย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนรักชาติต้องเอาชาติอันเป็นที่รักของตนไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงเช่นนี้
การปะทะครั้งนี้คือความรุนแรงที่รัฐก่อ วาระซ่อนเร้นของเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ประชาชนไทยไม่อาจเพิกเฉยได้ หากการปะทะรุนแรงขึ้น สถานการณ์อาจถูกยกระดับกลายเป็นสงคราม ผู้ไม่หวังดีอาจใช้เงื่อนไขจากการปะทะนำไปสู่การก่อรัฐประหาร ประกอบกับภาพความเป็นวีรบุรุษของทหาร อาจช่วยลดแรงต้านจากประชาชน แต่แม้ว่าจะมีทหารเสียชีวิต พวกเขาก็เป็นวีรบุรุษที่เราไม่อาจชื่นชมด้วยรอยยิ้ม สงครามครั้งนี้ไม่อาจมอบความเป็นวีรบุรุษให้แก่ผู้ใดนอกจากเหยื่อของความคลั่งชาติเท่านั้น
สหพันธนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงขอเสนอทางออกของปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเดียวิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเดียวกันกับที่รัฐบาลเน้นย้ำอยู่เสมอ เป็นขั้นตอนดังนี้
1.ตัดบทบาททหารออกจากความขัดแย้ง โดยถอนทหารจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ไทยควรแสดงความจริงใจในการยุติความรุนแรงโดยเป็นผู้ถอนทหารออกก่อน ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้กัมพูชาถอนก่อน และต้องให้สัญญาว่าข้อพิพาทเรื่องดินแดนในครั้งนี้จะไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก
2.รัฐบาลชดเชยความเสียหาย ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
3.ใช้วิธีเจรจาทางการทูต รัฐบาลไทยและกัมพูชาควรร่วมโต๊ะถกปัญหาให้ลุล่วงด้วยกัน โดยนำหลักฐานที่แต่ละฝ่ายมีมาชี้แจงให้เข้าใจ เมื่อได้ข้อตกลงเรื่องดินแดนแล้ว จึงหาทางสร้างประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าว
4.รัฐบาลและกองทัพควรเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนไทยทราบมากกว่านี้ เพราะการปิดหรือบิดเบือนข่าวไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
เหตุการณ์ครั้งนี้ จะมองจากมุมไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นก้าวที่ผิดพลาดของกองทัพและรัฐบาลไทย ที่ปล่อยให้ยานพาหนะทางการทหารของไทยรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาก่อน ไม่ว่าจะด้วยความพลั้งเผลอหรือเจตนาก็ตาม ความเสียหาย และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเพราะพื้นที่ทับซ้อนเพียง 4.6 ตารางกิโลเมตรนี้ จะต้องได้รับการชดใช้อย่างดีที่สุดเท่าที่รัฐบาลไทยจะทำได้
ในฐานะประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์อยู่ภายนอก เราเสียใจ กังวล และห่วงใยพี่น้องประชาชนพลเรือน และทหารด้วยความจริงใจ เราเห็นภาพบ้านถูกไฟไหม้ โรงเรียนเสียหาย เห็นพื้นดินยุบเป็นหลุมใหญ่เพราะแรงของหัวจรวดและปืนใหญ่ เห็นเด็กวิ่งร้องไห้ด้วยความหวาดกลัวระเบิดที่ดังอยู่ข้างหลัง เราเสียดายความสัมพันธ์อันดีของไทยกับกัมพูชาที่ต้องมาขาดสะบั้นลง และเสียดายงบการทหารมหาศาลที่มาจากภาษีประชาชนถูกนำไปใช้ในการก่อศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันที่การปะทะดำเนินไป เราได้แต่หวังว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์อันเลวร้ายจะจบลงเสียที
เพื่อความผาสุกของคนไทย สงครามไม่ใช่คำตอบ!
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
7 กุมภาพันธ์ 2554