WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, February 12, 2011

สัมภาษณ์ปิยบุตร แสงกนกกุล: "การปล่อยให้เงียบมันกระเทือนจริยธรรมทางการเมือง"

ที่มา ประชาไท

คำอธิบายโดยละเอียดกรณีศาลอาญาระหว่างประเทศว่ามีเขตอำนาจพิจารณาคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงหรือไม่ และโดยหลักสัญชาติ อภิสิทธิ์ตกเป็นจำเลยได้หรือไม่ "วันนี้ส่งเรื่องไปวันหน้าศาลอาจจะไต่สวนก็ได้ หรือไม่รับเลยก็ได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องพูดกันทุกวันๆ เพราะคนตายไปแล้วเขาพูดไม่ได้ แต่คนที่อยู่ต้องพูดแทนคนตาย ลืมไม่ได้เรื่องนี้"

ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นนักวิชาการคนแรกที่มีความเห็นต่อกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม แถลงถึงการดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลไทยต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเนื่องจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 3,000 ราย

เขาให้เหตุผลด้านจริยธรรมทางการเมือง ว่าไม่ว่าคดีนี้จะได้รับการพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่ แต่นี่คือหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่พลเมืองถูกไล่ฆ่าตามอำเภอใจและรัฐไทยก็ทำเฉยเสียเหมือนอย่างที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลนี้ ผลักให้นักกฎหมายมหาชนอย่างเขาต้องหันมาศึกษาตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ และรวมไปถึงประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้นมาพร้อมกันคือ หลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของนายกรัฐมนตรีไทย

000

ทำความเข้าใจ อะไรคือศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ใช่ศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ – ICJ) ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญากรุงโรม

ก่อนจะเข้าใจเรื่องอื่นๆ ผมว่าต้องดูเอกลักษณ์ก่อนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีลักษณะอะไรที่ไม่เหมือนศาลอื่นๆ

ประการแรกก็คือ เป็นศาลถาวร คือก่อนหน้านั้นก็มีลักษณะแบบนี้ แต่เป็นศาลชั่วคราว เฉพาะคดี คือหลักสงครามโลกก็มีกรณีศาลที่นูเร็มเบิร์ก ต่อมาก็มีกรณียูโกสลาเวีย ที่จับเอาอดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิซ สหประชาชาติก็ตั้งศาลเฉพาะคดีอดีตยูโกสลาวัย หรือกรณีรวันดา แต่มันเฉพาะคดีนั้นคดีเดียว สุดท้ายก็มีศาลถาวร ก็คือศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง แต่ใช้เป็นการทั่วไปทั้งหมด

ประการที่สอง คือ เป็นศาลเสริม คือเสริมศาลภายใน หมายความว่าถ้าในประเทศเขามีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอยู่ หรือกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศรัฐภาคีนั้นไม่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการะบวนการยุติธรรมนั้น หรือไม่มีความสามารถเพียงพอ กรณีของอัมเตอร์ดัม เขาก็อ้างประเด็นนี้ว่ามีการดำเนินการล้าช้า

แต่ศาลจะตีความอย่างไร ช้าระดับไหน มีกรณีที่น่าสนใจคือที่อิรัก ตอนที่อเมริกาไปบุกอิรัก ประเทศที่ไม่พอใจอเมริกา ก็ยื่นเรื่องมาที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ประเทศที่ดำเนินการฟ้องเป็นรัฐภาคีทั้งหมด จึงไม่มีประเด็นเรื่องผู้มีสิทธิฟ้อง ไม่ลำบากเหมือนของเรา แต่เมื่ออัยการเขาไปตรวจดูแล้ว เขาบอกว่าหลักเรื่องดินแดน เรื่องพื้นที่ ใช้ไม่ได้ เพราะเรื่องเกิดที่อิรักเพราะอิรักไม่ได้เป็นรัฐภาคี ส่วนเรื่องหลักสัญชาติก็ใช้ไม่ได้ เพราะสหรัฐไม่ได้เป็นรัฐภาคี แต่ทีนี้มีทหารอังกฤษเข้าร่วมด้วย อัยการก็บอกว่าอาจจะเข้าหลักเขตอำนาจเหนือบุคคล แต่อัยการไม่รับเพราะว่ายังไม่ปรากฏให้เห็นชัดว่าอังกฤษจะไม่ดำเนินกระบวนการพิจารณา

ประการที่สาม เป็นศาลที่คนที่ถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหา เป็นบุคคลธรรมดา เป็นปัจเจกบุคคลไม่ใช่รัฐ นี่คือสิ่งที่ต่างกับศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือรัฐฟ้องรัฐ เท่านั้น

กรณีศาลอาญาระหว่างประเทศคือฟ้องคน เอาคนมาติดคุก เป็นโทษทางอาญา ฉะนั้นกรณีที่คุณธาริต เพ็งดิษฐ์พูดว่าฟ้องปัจเจกบุคคลไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด

ประการที่สี่ คือเกิดจากใจสมัครของแต่ละรัฐ คือต้องลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 114 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่เพิ่งลงนามก็คือบังคลาเทศ แล้วมี 34 ประเทศที่ลงนามแต่ยังไม่ให้สตยาบัน คืออิสราเอล รัสเซีย อิหร่าน มีบางประเทศลงนามไปแล้วขอถอนออกก็มี เช่น เซเนกัล จิบูตี ซึ่งได้เห็นตัวอย่างที่เกิดกับประเทศซูดาน ขณะที่สหรัฐเมริกาก็ลงนามในสมัยคลินตัน แล้วถอนออกสมัยบุช บางประเทศไม่ลงแต่แรกเลย คือ จีน อินเดีย

กรณีไทยคือ ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตบาบัน เหมือนกรณีอิสราเอลและอิหร่าน

ประเทศที่ลงนามแล้วยังไม่ให้สัตยาบันมันมีผลผูกมัด มีพันธกรณีหรือไม่

แน่นอนว่ายังไม่กระทบเกิดสิทธิหรือหน้าที่แต่มีผลผูกมัดตามหลักสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือถ้าคุณลงนามไปแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ก็ต้องไม่ทำสิ่งที่ละเมิดวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญานั้น เช่นของไทย ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน อยู่ดีๆ วันหนึ่งไทยกลัว ก็เลยออกกฎหมายภายในของตัวเองว่าทุกคดีห้ามไปศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างนี้ไม่ได้ เป็นการละเมิดวัตถุประสงค์ชัดเจน เพราะการลงนามนั้นคือเรายอมรับสนธิสัญญานี้อยู่นะ แต่ยังไม่ได้ผูกพัน เราประเมินและขอเวลาก่อนเท่านั้น

เงื่อนไขการรับคำร้อง

เงื่อนไขแรกคือ เขตอำนาจศาล

2.1 เขตอำนาจศาล แบ่งเป็นสามส่วน

หนึ่งคืออำนาจทางเวลา สองอำนาจทางเนื้อหา สามคืออำนาจทางพื้นที่และบุคคล

เขตอำนาจทางเวลา

ธรรมนูญกรุงโรม มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2002 ดังนั้น ความผิดที่เกิดขึ้นก่อนนี้ ไม่เกี่ยว สมมติว่าไทยให้สัตยาบันวันนี้ 3 ก.พ. ธรรมนูญนี้ก็ใช้กับความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ก.พ. เป็นต้นไป เว้นแต่ว่า พอให้สัตยาบันแล้ว ก็ขอยอมรับเขตอำนาจศาลให้รวมไปถึงความผิดที่เกิดขึ้นก่อน 3 ก.พ. จะย้อนไปให้ถึงกรณีตากใบ ฆ่าตัดตอนยาเสพติดก็ย้อนได้หมด แต่ต้องไม่ถอยไปถึงความผิดที่ก่อน 1 ก.ค. 2002 ฉะนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้ไทยจะให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ก็ยังไม่พอ แต่ต้องยอมรับเขตอำนาจศาลให้รวมไปถึง เม ย พ ค 53 ด้วย

เขตอำนาจทางเนื้อหา

มี 4 ความผิดเท่านั้นที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญนี้ ได้แก่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การรุกราน ตอนนี้ใช้แค่ 3 ความผิดแรก เพราะ มีนิยามไว้ชัดเจนแล้วในธรรมนูญ ส่วนเรื่องการรุกรานยังไม่มีการนิยามไว้ชัดเจน ระหว่างนี้จึงยังไม่ใช้

ความผิดฐานอื่นไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจนี้ ดังนั้นความผิดฐานก่อการร้าย ค้ายาเสพติด จึงไม่เกี่ยว

กรณีในคำฟ้องของอัมสเตอร์ดัม ระบุว่า เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามมาตรา 7 คือ เป็นการกระทำรุนแรงต่อพลเรือนโดยการโจมตีที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง สีผิว เชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา

เขตอำนาจทางพื้นที่และบุคคล

ความผิดเกิดในดินแดนของรัฐภาคี ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสัญชาติรัฐภาคี แต่ความผิดเกิดในรัฐภาคี ก็ได้

หรือ ผู้ถูกกล่าวหามีสัญชาติรัฐภาคี แม้ความผิดไม่ได้เกิดในรัฐภาคี แต่ผู้ถูกกล่าวหามีสัญชาติรัฐภาคี ก็ได้

อัมสเตอร์ดัม เห็นว่า กรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคนหนึ่ง คือ อภิสิทธิ์ มีสัญชาติรัฐภาคี ซึ่งอัมสเตอร์ดัมเขาไปสืบค้นมาได้ว่าคุณอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ

2.2 ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องมี 3 ส่วนคือ

- รัฐภาคี คือถ้ารัฐภาคียื่นเลยก็ง่ายมาก ศาลก็เปิดการสืบสวนสอบสวน

- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไปเคาะประตูศาลอาญาระหว่างประเทศได้เลย แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เกี่ยวกับรัฐภาคีก็ตาม ก็คือกรณีซูดาน

- อัยการ อาจเริ่มต้นไต่สวนเองก็ได้ โดยไปขอศาลแผนกก่อนพิจารณาคดี Pre-Trial Chamber

แล้วอัมสเตอร์ดัมไปช่องไหน

อัมสเตอร์ดัม เห็นว่า กรณีนี้ แม้ไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีให้สัตยาบัน แต่คณะมนตรีความมั่นคงน่าจะเสนอเรื่องให้อัยการเริ่มการไต่สวนได้ เหมือนกรณีซูดาน ลงนามแต่ไม่ให้สัตยาบัน ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงมีมติที่ 1593 วันที่ 31 มีนาคม 2005 ให้เสนอคำร้องต่ออัยการแห่งศาลไอซีซี ให้เปิดการไต่สวน

นอกจากนี้ เราอาจสงสัยว่า อัมสเตอร์ดัมเป็นเอกชน คนเสื้อแดงเป็นเอกชน ไปฟ้องได้ยังไง แน่นอนฟ้องไม่ได้ แต่เขาทำรายงาน คำร้องไปถึงอัยการ เพื่อให้อัยการใช้อำนาจริเริ่มไต่สวนด้วยตนเอง โดยอัยการอาจพิจารณาว่า กรณีนี้อยู่ในเขตอำนาจ เพราะ อภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ โดยคำร้องไปถึงอัยการนี้ เคยมีกรณีของเคนย่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2010

ตั้งแต่เปิดศาลอาญาระหว่างประเทศมี 5 คดีเท่านั้น อูกานดา คองโก อันฟริกากลาง ซูดาน และเคนยา ล่าสุด 3 กรณีแรกเป็นเรื่องรัฐภาคีฟ้องไป กรณีเคนยา อัยการไปขอเปิดการไต่สวน และอีกกรณีคือซูดาน ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้ฟ้อง

สรุปคือ อัมสเตอร์ดัมใช้ สองช่องทาง คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และช่องทางอัยการ ซึ่งต้องพิสูจน์สัญชาติของคุณอภิสิทธิ์

ถ้าคนที่ถูกฟ้องไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐที่ให้สัตยาบัน จะลงโทษได้อย่างไร

หน้าที่ผูกพันของการร่วมมือกันระหว่างรัฐที่ไม่ได้สัตยาบัน อย่างน้อยรัฐที่ไม่ได้สัตยาบันก็ต้องร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในการตรวจสอบ หรือจับกุม

มีกรณีที่น่าศึกษาคือ กรณีซูดาน เหมือนไทย คือลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน ก็ไปจับตัวเล็กตัวน้อยสองสามคนแล้ว พอจะจับประธานาธิบดีของเขา อูมาร์ อัลบาซีร์ แอฟริกาหลายประเทศก็โวยวายขึ้นมาว่ามันจะเกินไปแล้ว เขาไม่ได้ให้สัตยาบันจะไปจับเขาได้อย่างไร ตัวอัลบาซีร์ของซูดานก็บอกว่าไม่มีทางยอมให้จับและขึ้นศาลหรอกเพราะเป็นศาลที่ผมไม่เคยลงนามให้สัตยาบัน แล้วเขาก็เดินทางไปอยู่ที่เคนยา ซึ่งเป็นรัฐภาคี แต่เคนยาก็ไม่ส่งตัวประธานาธิบดีของซูดานให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ฉะนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

2.3 ต้องเป็นกรณีตามมาตรา 17

แม้จะเข้าเงื่อนไขครบถ้วนหมด แต่ศาลอาจไม่รับคำร้องก็ได้ หากพิจารณาแล้ว ไม่เป็นเรื่องร้ายแรง หรือ ศาลแห่งรัฐภาคีดำเนินคดีอยู่ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับเฉพาะกรณีที่เห็นว่า รัฐภาคีไม่มีความตั้งใจหรือไม่มีความสามารถในการดำเนินคดีนั้น

ฉะนั้นถ้าเราดูรายงานของอัมสเตอร์ดัมเขาจะพูดในช่วงท้ายๆ ว่าจองไทยร้ายแรงเพราะที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรม 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 กระบวนการพิจารณาคดีช้า ดีเอสไอไม่เป็นกลาง ระบบศาลไม่เป็นอิสระ เขาเขียนแบบนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเข้าหลักมาตรา 17

2.4 ไม่เป็น นอน บิส อิน อีเด็ม หมายความว่าคนๆ เดียวกันจะไม่ถูกลงโทษสองหนโดยเรื่องเดียวกัน นี่เป็นหลักกฎหมาย หากผู้ถูกกล่าวหาถูกศาลอื่นพิพากษาลงโทษในความผิดเดียวกันนั้นแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ไม่รับ

ย้อนดูการพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน มี 5 คดีที่ศาลพิจารณาอยู่ ได้แก่ยูกานดา 2003, คองโก 2004, แอฟริกากลาง 2004, ซูดาน 2005 และเคนยา 2010

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีคำร้องเข้าไป เกือบ 3,000 คำร้อง เกี่ยวกับ 139 ประเทศ ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าประเทศที่เป็นภาคี (114 ประเทศ) ส่วนมากศาลไม่รับ เพราะ ชัดเจนว่าไม่มีเขตอำนาจ

กรณีกว่า ๓๐๐๐ คำร้องนี้ เป็นกรณีที่ปัจเจกชน องค์กรเอกชน บุคคลใด ยื่นคำร้องมายังอัยการ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

ลำดับแรก - ปัจเจกชน องค์กรเอกชน บุคคลใด ยืนคำร้อง (complaint, communication) -------------> อัยการ

ลำดับที่สอง - อัยการพิจารณาคำร้องใน ๓ ขั้นตอน คือ

๑. ตรวจสอบเบื้องต้น (Initial Review) --------------> ๒. ทำรายงานเบื้องต้น (Basic Reporting) -------------> ๓. วิเคราะห์แบบลึกซึ้ง (Intensive Analysis)

(ในขั้นตอน ตรวจสอบเบื้องต้น (Initial Review) อัยการจำหน่ายคำร้องออกไปจำนวนมาก จากสถิติที่ผ่านมา เกือบ ๓๐๐๐ คำร้อง ร้อยละ ๕ จำหน่ายเพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน ๑ กรกฎาคม ๒๐๐๒ ร้อยละ ๒๔ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นไม่เข้าความผิด ๔ ฐาน ร้อยละ ๑๓ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นไม่เข้าเขตอำนาจทางพื้นที่และบุคคล ร้อยละ ๓๘ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่ากรณีอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่นๆหรือคำร้องไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอ มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่ผ่านไปถึงขั้นตอนทำรายงานเบื้องต้นและวิเคราะห์แบบลึกซึ้ง เช่น กรณีอัฟกานิสถาน, ชาด, โคลัมเบีย, ไอวอรี่โคสต์, เคนยา)

ลำดับที่สาม - อัยการขออนุญาตต่อศาลแผนกก่อนพิจารณาคดี (Pre-Trial Chamber) เพื่อเปิดการไต่สวน

คำร้องของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ในส่วนที่กล่าวอ้างว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในกรณีการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. ๒๕๕๓ เพราะผู้ถูกกล่าวหา (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) มีสัญชาติของรัฐภาคี (บริติช) เป็นกรณียื่นคำร้องในช่องทางนี้

อย่างไรก็ตาม หากใช้ช่องทางอัยการก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียวคือคุณอภิสิทธิ์

ดังนั้นช่องทางอัมสเตอร์ดัมสองช่องทาง ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงรับ ก็ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งกรณี ซูดาน เสนอโดยคณะมนตรีความมั่นคง

กรณีเคนยาเสนอโดยอัยการเอง อัยการพิจารณาแล้วเห็นควร จึงไปขออนุญาตศาลไอซีซีเปิดไต่สวน

นอกจากนี้มีกรณีที่น่าสนใจคือไอวอรี่ โคสต์ ไม่เป็นรัฐภาคี ผู้ถูกกล่าวหา ก็เป็นไอวอรี่โคสต์ ความผิดก็เกิดบนไอวอรี่ โคสต์ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อไหนเลย แต่รัฐบาลไปยอมรับเขตอำนาจศาลไอซีซี ให้มีอำนาจเหนือคดีที่เกิดขึ้นนับแต่ 19 กันยายน 2002 เป็นการยอมรับเฉพาะเรื่อง แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง

อิรักก็น่าสนใจ อย่างที่ผมเล่าไป กรณีหาทางไปศาลโดยอาศัยสัญชาติของผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่เคยมีใครไปช่องนี้ได้สำเร็จนะ แต่ผมไปดูจากเว็บไซต์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ คือกรณีเคนยา อัยการขอเริ่ม Pre-Trial แล้วก็มีการพิจารณาวางหลักไว้เลยว่า หากเรื่องดินแดนไม่เข้าก็ให้พิจารณาเรื่องสัญชาติของบุคคลต่อ แล้วกรณีอิรัก ทุกคนต้องการเล่นงานสหรัฐ จะเล่นงานทหารสหรัฐก็ไมได้ จะอ้างว่าความผิดเกิดบนดินแดนภาคีก็ไม่ได้ ก็ต้องไปเล่นอังกฤษ อิตาลี สเปน แต่อัยการไม่รับเพราะพิจารณาแล้วไม่เข้ามาตรา 17 นั่นดูเหมือนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะให้ดูเรื่องสัญชาติ

อภิสิทธิ์กับสัญชาติอังกฤษ

สัญชาติโดยการเกิด มีสองแบบ คือหลักดินแดนกับหลักสายโลหิต

พ.ร.บ. สัญชาติอังกฤษ ๑๙๔๘ บอกว่า บุคคลที่เกิดในดินแดนสหราชอาณาจักรหรืออาณานิคม หากไม่ได้เป็นลูกทูตหรือลูกของชาติศัตรู บุคคลนั้นได้สัญชาติอังกฤษ

อภิสิทธิ์เกิดปี ๑๙๖๔ อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. นี้ จึงมีสัญชาติอังกฤษตามหลักดินแดน

ปัญหามีอยู่แค่ว่า หากคนๆ หนึ่งถือสองสัญชาติ เช่น กรณีฝรั่งเศส สมมติผมเป็นไทยบวกฝรั่งเศสแล้วผมไปเป็น ส.ส. เป็นนายก หรือทหารของไทย ฝรั่งเศสก็ขอให้ผมถอนสัญชาติออกได้ เพราะถือว่าผมฝักใฝ่ที่จะเป็นคนชาติไทยมากกว่า แต่ไม่ได้ถอนโดยอัตโนมัตินะ หลักกฎหมายของไทยก็เช่นเดียวกัน คือ พ.ร.บ. สัญชาติ 2508

แต่สัญชาติถ้าจะสละต้องชัดเจน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องแสดงให้ชัด เพราะถ้าปลดโดยอัตโนมัติ คนจะเสียสิทธิเต็มไปหมด

เรื่องการถือ 2 สัญชาตินั้นกฎหมายไทย ไม่เคยบอกว่าถ้าถือสัญชาติไทย แล้วต้องสละอีกสัญชาติหนึ่ง หรือว่าสละไปโดยปริยาย กฎหมาย อังกฤษ ก็เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ว่า คนไทยอาจมีสัญชาติอังกฤษไปพร้อมๆกัน

เรื่องการถือสองสัญชาตินี้เรื่องปกติมาก พบเห็นได้ทั่วไป มีกรณีคนดังๆ จำนวนมากที่ถือสองสัญชาติ เช่น

อาร์โนลด์ ชวารซเนคเกอร์ ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาก็ถือสัญชาติออสเตรียด้วยตลอด จอหน์ เทอร์เนอร์ อดีตนายกแคนาดา เขาก็ถือแคนาดาและอังกฤษมาถึงวันนี้

ปัญหามีอยู่ว่า กฎหมายสัญชาติอังกฤษกำหนดไว้หรือไม่ว่า ถ้าคนที่มีสองสัญชาติ แล้วไปเป็น ส.ส. เป็นนายก เป็นทหารของประเทศอื่นที่ตัวมีสัญชาตินั้น เท่ากับว่ารัฐบาลอังกฤษต้องไปถอนสัญชาติอังกฤษออก

ไทยก็มี มาตรา 17 (2) มีหลักฐานว่าฝักใฝ่สัญชาติอื่น แต่ต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ถอนสัญชาติ ไม่ได้ถอนไปอัตโนมัติ แต่กฎหมายเรื่องนี้อังกฤษไม่มี

พรบ สัญชาติอังกฤษปี ๑๙๔๘ ในมาตรา ๑๙ กำหนดว่า คนที่มีสัญชาติอังกฤษ เมื่อบรรลุนิติภาวะ แล้วต้องการสละสัญชาติอังกฤษ ก็ทำได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า คุณอภิสิทธิ์สละสัญชาติอังกฤษแล้วหรือยัง

ปัญหาต่อมา มีคนเห็นว่า คุณอภิสิทธิ์จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติอังกฤษ ก็ต่อเมื่อมีสิทธิในสัญชาตินี้และใช้สิทธิในสัญชาตินี้ พูดง่ายๆ คือ มี แต่ยังไม่ใช้ ถือว่ายังไม่มีสถานะสัญชาติอังกฤษ

อันนี้อาจเห็นต่างกัน ผมเห็นว่า มีแล้ว เพียงแต่ว่ายังอาจไม่มีหลักฐานทางเอกสาร เช่น ผมไปเกิดที่อังกฤษ มีสัญชาติอังกฤษตามหลักดินแดน แต่ผมไม่เคยไปแจ้ง ไม่มีชื่อในทะเบียน ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีบัตรประชาชน อังกฤษ แต่ว่าถามว่าผมมีสัญชาติอังกฤษไหม คำตอบคือมี กฎหมายกำหนดชัดเจน เพียงแต่ผมไม่เคยไปจดแจ้งทางเอกสารให้มันชัดเท่านั้น สมมติผมเกิดที่อังกฤษ ต่อมาผมกลับมาไทย ทำงาน ยังไม่เคยสละสัญชาติอังกฤษ ต่อมา ผมลี้ภัยการเมืองไปจากไทย ไปอังกฤษ ผมก็ไปแจ้งทางการอังกฤษ พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ผมเกิดที่นี่ มีสัญชาติตามหลักดินแดน เขาก็ให้ผมเข้า

เอาล่ะ สมมติว่า เราคิดว่า มี แต่ไม่ใช้ ถือว่าไม่มี ตามแบบอาจารย์พันธุ์ทิพย์ก็ได้ ผมก็ตอบแทนอภิสิทธิ์ไม่ได้ ว่าเขาใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษหรือยัง เพราะ ผมไม่ใช่เขา ผมไม่รู้ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ว่า เขามีพาสปอร์ตไหม มีทะเบียนบ้านไหม นอกจากเขาเอง แต่ปกติ คนที่เกิดในอังกฤษ หรืออเมริกา ก็ใช้สิทธิในสัญชาติทั้งนั้น เพราะได้สิทธิประโยชน์เยอะ เป็นหน้าที่ของคุณอภิสิทธิ์เองที่ต้องแสดงหลักฐานว่า ตัวเองมีสัญชาติอังกฤษหรือไม่ สละสัญชาติหรือยัง

คำฟ้องของอัมสเตอร์ดัมสำคัญอย่างไร ทำไมต้องลุ้น

ไม่มีใครรู้หรอก ว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ฉะนั้นความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่รายงานนี้ออกมาทำให้ประเด็นการสลายการชุมนุมไปปรากฏต่อประชาคมโลก ต่อองค์กรระหว่าปงระเทศ ต่อนานาชาติ อีกประการหนึ่งอย่างน้อยทีมงานของเขาได้เข้ามารวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน หากพยานหลักฐานเหล่านั้นหายหมด แน่นอนว่าคนอาจจะบอกว่า ทนายเสื้อแดง ก็ทำหลักฐานเข้าข้างเสื้อแดง ก็ไม่เป็นไร รัฐบาลก็ทำของรัฐบาล แล้วใครน่าเชื่อถือกว่าก็เอามาชั่งน้ำหลักกัน

อีกประการคือความสำคัญทางสัญลักษณ์ ผมมองว่า กรณีอัมสเตอร์ดัมส่งสัญญาณทำให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ไอ้กระจอก ไม่ใช่วัวควาย ไอ้โง่ไอ้รากหญ้าที่ไหนที่จะมาปิดประตูตีแมว ไม่พอใจก็มายิงๆ ฆ่าๆ แล้วปิดประเทศ ปิดประตู ไม่ให้ใครมายุ่ง นี่เป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีที่ไปในทางระหว่างประเทศไอ้อยู่ ส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้รัฐบาลไหนก็ไม่มีทางอีกแล้วที่จะมาฆ่าพลเมืองเหมือนผักปลาอย่างที่เกิดขึ้น

กรณีอัมสเตอร์ดัมอาจจะสงสัยว่าทำไมผมมาเชียร์มาสนับสนุน ผมเห็นว่า กรณีนี้มันเป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ทางการเมือง มีคนตายเป็นหลายร้อย มีคนเจ็บเป็นพันกลางกรุงเทพฯ โดนซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์แล้วมันไม่เกิดอะไรขึ้นเลย มันเป็นไปได้อย่างไร

กรณีอัมสเตอร์ดัมอาจเป็นกลไกที่ทำให้คนฆ่าคนส่งฆ่าได้รับโทษ ถ้าเราปล่อยให้เงียบไปหมดมันกระเทือนจริยธรรมทางการเมือง

ความสำคัญของเรื่องนี้ในทางสื่อหรือทางสังคมจะไปจับแค่ว่าศาลรับหรือไม่รับ หรืออภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษหือไม่ แต่อย่าลืมนะว่าเหตุการณ์ปี 53 ต้องไม่ลืมเลย วันนี้ส่งเรื่องไปวันหน้าศาลอาจจะไม่รับ อาจจะไต่สวนก็ได้ หรือไม่รับเลยก็ได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องพูดกันทุกวันๆ เพราะคนตายไปแล้วเขาพูดไม่ได้ แต่คนที่อยู่ต้องพูดแทนคนตาย ลืมไม่ได้เรื่องนี้

อย่างที่อัมสเตอร์ดัมพูดน่ะครับ ไม่มีนักข่าวที่ไหนในโลกหรอกที่จะดีใจว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่รับฟ้องขณะที่คนในประเทศถูกทหารฆ่าตายเป็นร้อย แทนที่จะหากระบวนการหาช่องทางทำให้ความจริงปรากฏ แต่นี่กลับมาเฮ ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ถ้าศาลอาญาไม่รับฟ้อง รัฐบาลดีใจนักข่าวดีใจ คนที่กลัวกระบวนการพิสูจน์ความจริงเหล่านี้ คือคนที่มีปัญหาไง ไปดูสิ สหรัฐ ไม่ลงนาม จีนไม่ลงนาม เพราะเขามีแผลไง ในเมื่อรัฐบาลพูดทุกวันว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้วจะกลัวอะไร

แล้วที่พูดกันว่า ไทยไม่ลงนาม คนส่วนใหญ่ไปพูดกันว่ามันเกี่ยวกับฆ่าตัดตอน เกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ แต่ไปดูเหตุผลเลยที่กระทรวงการต่างประเทศระบุคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่คุ้มกันประมุขของรัฐ กรณีซูดานเป็นกรณีแรกที่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของรัฐถูกออกหมายจับ

ผมขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองด้วยว่า การหาเสียงครั้งหน้า โปรดรณรงค์ด้วยว่า ถ้าเป็นรัฐบาล จะให้สัตยาบัน และยอมรับเขตอำนาจศาลย้อนไปยังเหตุการณ์ เมษา พค 53

โปรดดู แผนผังช่วยทำความเข้าใจเงื่อนไขการรับคำฟ้องของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/page/185