ที่มา มติชน ที่ห้องคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วย 20 ส.ส.พรรคเพื่อไทยและวิปฝ่ายค้าน แถลงภายหลังวอล์กเอ๊าต์ออกจากห้องประชุม โดยนายวิทยากล่าวว่า เหตุผลที่ฝ่ายค้านไม่สามารถร่วมสังฆกรรมได้ เนื่องจากการกระทำของนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ผิดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 86 โดยไม่รับฟังเสียงทักท้วงของเพื่อนสมาชิก แต่ได้ดำเนินการประชุมต่อไปทั้งที่มิชอบด้วยข้อบังคับ ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการตัดสินใจว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น พรรคเพื่อไทยจะรอดูการลงมติให้จบก่อน หากไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น แต่ถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ ก็ถือว่าได้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว ก็จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ส่วนมีเป็นประเด็นใดบ้าง พรรคจะหารืออีกครั้งหนึ่ง แต่ ส.ส.ที่จะร่วมเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามกระบวนการ และคิดว่า ส.ว.อย่างเช่น นายเรืองไกร ลือกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ก็พร้อมแล้วที่จะดำเนินการ ขณะที่นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเสนอแนวคิดให้พรรคเพื่อไทยเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และนายประสพสุข บุญเดช รองประธานรัฐสภา ฐานกระทำผิดมาตรา 157 ในกรณีที่ใช้อำนาจของประธานวินิจฉัยข้อบังคับโดยที่ไม่มีอำนาจ เพราะตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 117 ระบุว่า อำนาจวินิจฉัยเป็นของที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ตนจะเสนอแนวคิดต่อภาคประชาชนและสมาคมทางกฎหมายให้ดำเนินคดีกับประธานและรองประธานรัฐสภาแทนในเร็วๆ นี้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน กล่าวว่า สมาชิกได้ทักท้วงตามหลักการอย่างชัดเจน แทนที่ประธานจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับสั่งให้ดำเนินการประชุมต่อ จึงตั้งข้อสังเกตว่าจงใจที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นการตราในชั้นรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือกระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยภายใน 30 วัน โดยระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย นายกรัฐมนตรีต้องระงับการทูลเกล้าฯไว้ก่อน และอีกประเด็นคือการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำหน้าที่ของประธานที่มิชอบด้วย