ที่มา บางกอกทูเดย์
ชิงฟ้อง UN เหมือนเด็กๆ
พี่ไทยไม่ทันเกมเขมร?
ดูเหมือนว่าภายใต้กลไกการบริหารประเทศของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีปัญหาไปหมดแทบทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ และแม้แต่กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกัมพูชา
ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพ ดูเหมือนจะก้าวช้ากว่าทางกัมพูชาหนึ่งก้าวเสมอ
ล่าสุดทั้งๆที่มีการเจรจาหยุดยิงกันแล้ว ทั้งๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมายืนยันว่าไม่มีอะไรแล้ว พร้อมกับเหน็บให้บรรดาม็อบพันธมิตรที่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะรบ ให้ไปที่ชายแดนได้เลย
แต่แล้วสุดท้ายการเจรจาหยุดยิงก็เป็นไปได้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะปรากฏว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 18.30 น. ได้เกิดเหตุปะทะขึ้นมาอีกบริเวณชายแดนในพื้นที่ ภูมะเขือ และบ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
โดยทหารกัมพูชามีการใช้จรวดยิงเข้ามาในฝั่งไทย ส่งผลให้บ้านพักของประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขณะที่ทหารไทยได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตอบโต้ โดยการปะทะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งได้เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ในพื้นที่ชายแดน ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยทหารทั้งสองฝ่ายได้ใช้อาวุธปืนขนาดเล็กซึ่งเป็นปืนประจำกายยิงตอบโต้กันเป็นเวลากว่า 15 นาที จึงสงบลง โดยไม่พบว่ามีทหารไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนบริเวณ ต.ภูผาหมอก ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของปราสาทพระวิหารนั้นอยู่ตรงข้ามกับเขตซัม แต ของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาได้นำรถถังเข้ามาประจำการ
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงการปะทะรอบที่ว่า การปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.40 น. เริ่มจากทางทหารกัมพูชายิงพลุส่องสว่างเข้ามาตกที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ หลังจากนั้นทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่ของรถถังเข้ามาอีก ทำให้ทหารไทยต้องใช้มาตรการตอบโต้ตามความเหมาะสม โดยยิงเครื่องยิงลูกระเบิดสวนกลับไป แต่ยังไม่ถึงขนาดต้องตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอาวุธที่ทางทหารกัมพูชาใช้ในครั้งนี้ เป็นจรวดหลายลำกล้อง หรือที่เรียกว่าบีเอ็ม 21 ซึ่งเป็นอาวุธที่ได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากประเทศเวียดนาม สามารถยิงได้ไกล 12 ไมล์ ใช้ในการทำลายรถถัง และเป้าหมายที่เป็นกลุ่มก้อน
เป็นการปะทะกัน หลังจากที่ นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศ กัมพูชา ทำจดหมายด่วนถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ กรณีการปะทะกับทหารไทย วันที่ 4 และ 5 กุมภาพันธ์
โดยมีการระบุว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระหว่างเวลา 15.00 น. ถึง 17.00 น. ทหารไทยประมาณ 300 นาย ได้เข้ามายังดินแดนกัมพูชาและโจมตีทหารกัมพูชา 3 จุด คือ ขะมุม ตั้งอยู่ห่างบันไดปราสาทพระวิหาร 500 เมตร พื้นที่คานม้า และภูมะเขือ ตั้งอยู่จากเส้นเขตแดนเข้ามาในแผ่นดินกัมพูชา 1,120 เมตร และ 1,600 เมตร ตามลำดับ
การรุกรานโดยทหารไทยนี้ ตามด้วยการยิงกระสุนปืนใหญ่ขนาด 130 มม. และ 155 มม. ลึกเข้ามาในดินแดนกัมพูชาประมาณ 20 กิโลเมตร การโจมตีเป็นผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงจำนวนมากต่อปราสาทพระวิหาร มรดกโลก เช่นเดียวกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บของทหารกัมพูชาและชาวบ้านกว่าสิบราย
อีกครั้ง ในเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลา 06.30 น. กำลังทหารไทยได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ขนาด 105 มม. จำนวนหนึ่งที่ภูมะเขือ เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
เผชิญหน้ากับการรุกรานอย่างโจ่งแจ้งนี้ ทหารกัมพูชาไม่มีทางเลือก แต่ต้องตอบโต้ป้องกันตนเองและภายใต้คำสั่งให้ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
ขอย้อนเตือนความจำว่าประเทศไทยได้กระทำการรุกรานต่อกัมพูชาในสามโอกาสก่อนหน้า กล่าวคือ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2008 วันที่ 15 ตุลาคม 2008 และ วันที่ 3 เมษายน 2009 ในพื้นที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ช่องคานม้า ภูมะเขือ และตาเส็ม ทั้งหมดนี้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร การรุกรานด้วยอาวุธเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับความเสียหายต่อทรัพย์สิน
โดยเฉพาะต่อปราสาทพระวิหารซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2008
ซ้ำยังระบุด้วยว่าการรุกรานซ้ำต่อกัมพูชาโดยประเทศไทยได้ละเมิดเครื่องมือทางกฎหมายดังต่อไปนี้:
1.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เมื่อ 15 มิถุนายน 1962
2.ข้อ 2.3, 2.4 และ 94.1 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
3.สนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือ 3 (TAC) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อ 2 ซึ่งกัมพูชาและประเทศไทยเป็นภาคี มีดังนี้:
มีความเคารพต่อกันในความเป็นเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติของทุกชาติ ยุติความแตกต่างและข้อพิพาทด้วยสันติวิธี สละสิทธิที่จะคุกคามหรือใช้กำลัง
4.ข้อตกลงซึ่งคำนึงต่ออธิปไตย ความเป็นเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่อาจล่วงล้ำ ความเป็นกลาง ความเป็นเอกภาพของชาติของกัมพูชา ข้อ 2.2c, 2.2d ของข้อตกลงสันติภาพปารีส ในปี ค.ศ.1991
ต่อการรุกรานซ้ำที่ครึกโครมโดยประเทศไทยนี้ กระผมจะพึงใจอย่างสูงหาก ฯพณฯ จะนำเวียนหนังสือนี้ไปยังทุกชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในฐานะเอกสารอย่างเป็นทางการ
ฯพณฯ โปรดรับ เป็นหลักประกันต่อความวิตกกังวลอย่างสูงสุดของกระผมและด้วยความเคารพ
ลงนาม ฮอร์ นัม ฮง
เป็นการกล่าวหาไทยกับประเทศต่างๆทั่วโลกเลยทีเดียว
ในขณะที่ของไทย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังรับมือไม่ทันอยู่เช่นเดิม มีเพียงนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ที่ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ชี้แจงเหตุปะทะระหว่างทหารไทย-กัมพูชาแล้ว
แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเพราะต้องรอให้หนังสือถึงเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอสซีก่อน คาดว่าจะเผยแพร่ได้ต้นสัปดาห์
ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนจะเดินทางรับทราบข้อมูลจากฝ่ายกัมพูชาก่อน และจะมาถึงไทยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ราว 12.00 น.
และนายอภิสิทธิ์ เองก็ได้มีการแถลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ยืนยันว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยิงเข้ามาก่อน ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องตอบโต้
และเห็นว่าการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกควรชะลอไว้ก่อน
เรียกว่าขณะนี้ต่างฝ่ายต่างโทษกันว่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นยิงก่อน โดยที่มีองค์กรสหประชาชาติ เป็นผู้รับเรื่อง และจะต้องหาทางไกล่เกลี่ย งานนี้เข้าสู่แนวทางสากลระหว่างประเทศ ก็ไม่รู้ว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยที่มีนายกษิต เป็นรัฐมนตรี จะรับมือเกมนี้ได้แค่ไหน???
แต่ที่น่าจับตาก็คือ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์ ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "กองทัพ การเมือง ประชาธิปไตย" โดยมี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาคนที่ 2 และ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ เลขาธิการคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการอาวุโสจากหนังสือพิมพ์เนชั่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อ.นิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน ม.ธรรมศาสตร์ หรือผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ ร่วมเป็นวิทยากร
พ.อ.อภิวันท์กล่าวว่า วันนี้กองทัพกำหนดยุทธศาสตร์ผิด ทำให้การปกป้องประเทศต้องตกไปอยู่อันดับ 3 เพราะผู้นำเหล่าทัพให้ความสำคัญปกป้องสถาบันกษัตริย์อันดับแรก ตามมาด้วยดำเนินการโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก ทำให้กองทัพเดินเป็นอย่างที่อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น กองทัพต้องปฏิรูป ต้องเปลี่ยน ด้วยการทำให้เป็นทหารอาชีพ
ด้านนายสุภลักษณ์มองว่า ศึกสงครามที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาขณะนี้ ถูกมองว่าอาจจะเป็นข้ออ้างให้ทหารทำการปฏิวัติได้ โดยอาจจะอ้างว่ารัฐบาลพลเรือนอ่อนแอจนไม่สามารถบริหารประเทศต่อได้
และที่ผ่านมาสงครามถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำอะไรหลายๆ อย่าง
แต่ครั้งนี้ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังเกิดเหตุในทำนองด่าผู้ประท้วงมากกว่ารัฐบาล ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดปฏิวัติก็คงเป็นแค่ข่าวลือ
แต่ข่าวลือเรื่องรัฐประหารจะลือๆ ไปอีกนานจนกว่าจะจริง เพราะสังคมไทยเอาทหารออกไปจากการเมืองยาก
ทั้งนี้สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าเกิดเหตุยิงปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาเป็นครั้งที่ 3 ใน รอบ 3 วัน แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาหยุดยิงกันแล้วถึง 2 รอบ แต่ต่างยืนยันว่าจะพยายามปลดชนวนความตึงเครียดบริเวณชายแดนให้เร็วที่สุด
งานนี้ไทยเหนื่อยแน่ หากกลไกกระทรวงต่างประเทศยังลุ่มๆดอนๆ และทหารไทยยังติดปลักเรื่องปฏิวัติอยู่เช่นนี้