ที่มา ประชาไท
12 ก.พ. 54 – กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าทำจดหมายเปิดผนึกถึงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขอให้ นปช.มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเลิกใช้วิธีการต่อสู้ตามกรอบของอำมาตย์
จดหมายเปิดผนึก
ถึง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
พวกเรากลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า ได้เข้าร่วมต่อสู้กับขบวนการคนเสื้อแดง และสนับสนุนแนวทางของ นปช. เนื่องจากเราเห็นว่า นปช. มีจุดยืนไม่เอาระบบอำมาตย์ และนปช.เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อสู้เพื่อยืนยัน สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกทางการเมือง
นับแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พวกอำมาตย์และลิ่วล้อของมัน ตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากพวกมันว่า คนเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้า และจับเอาคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างจากพวกมันเข้าคุกในข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ดา ตอร์ปิโด คือหนึ่งในจำนวนผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่าคำพูดของเธอหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เธอถูกกล่าวหาจากประชาชนด้วยกัน (กรณีสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวหาเธอโดยอ้างว่ารัฐบาลขณะนั้นไม่ดำเนินคดีกับเธอ) และนำไปสู่การจับกุมตัวเธอในที่สุด
เราเห็นว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นข้อหาที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นกฎหมายที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้ใส่ร้ายคู่แข่งทางการเมือง (กรณีที่ประชาธิปัตย์กล่าวหาและป้ายสี ปรีดี พนมยงค์ ทักษิณ ชินวัตร จักรภพ เพ็ญแข ฯลฯ) ซึ่งขณะนี้ข้อหาดังกล่าวนี้ได้ยกระดับในการใส่ร้ายระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง (กรณี โชติศักดิ์ อ่อนสูง ฯลฯ)
เราจึงทำการรณรงค์ยกเลิก มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและเปิดเผยกรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์แก่ชาวโลกให้รับรู้ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบอบอำมาตย์ เธอถูกกลั่นแกล้งจากกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้รับการประกันตัว การพิจารณาคดีของเธอ ศาลไม่ยอมให้ประชาชนผู้สนใจเข้ารับฟังการไต่สวน เมื่อเธออยู่ในคุก เธอไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยารักษาโรคประจำตัว ไม่มีสิทธิอ่านหนังสือที่เธออยากอ่าน อีกทั้ง เรารณรงค์ให้คนเสื้อแดง ผู้รักความเป็นธรรม ทั้งในและต่างประเทศเขียนจดหมายให้กำลังใจ ดา ตอร์ปิโด จึงทำให้กรณีของดา ตอร์ปิโดกลายเป็นคดีที่รับรู้อย่างกว้างขวางในแวดวงสื่อต่างประเทศ
ส่วนในกรณีของสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในลิ่วล้อของระบบอำมาตย์ เขาโดนคดีเดียวกันกับ ดา ตอร์ปิโด แต่คดีของเขาไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ เขายังได้รับการประกันตัวจากศาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สนธิควรถูกนำมาลงโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน แต่ ควรถูกยกมาบอกกล่าวกับสาธารณชนว่า
“ไม่ควรมีใครในประเทศนี้ต้อง ถูกจับกุม และถูกลงโทษด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้น กฎหมายหมิ่นฯ เป็นกฎหมายที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดเสรีภาพในการพูด การวิจารณ์ และสร้างความกลัวให้คนไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง จนทำให้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยหายไปจากสังคมไทย”
ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีที่ นปช. ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลให้เอาผิดกับ เปรม ติณสูลานนท์ อานันท์ ปันยารชุน และสิทธิ เศวตศิลา ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากที่มีรายงานจากวิกิลีคส์ว่า ทั้งสามได้พูดถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์กับทูตสหรัฐฯ สะท้อนความคิดทางการเมืองของแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งว่า มีแนวทางสู้อยู่ในกรอบของอำมาตย์ ที่ไม่ได้อยู่ในครรลองของวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย
ท่านคงเข้าใจถึงผลร้ายแรงของการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพมาใช้กับคนเสื้อแดงให้ตกเป็นเหยื่ออย่างน่าเศร้าใจ แต่จะทำอย่างไรที่จะสลัดตัวเองออกมาจากกฎหมายเผด็จการดังกล่าว ที่ผ่านมา เราได้บอกกล่าวกับสื่อมวลชนและสาธารณชนว่า เราไม่ต้องการกฎหมายหมิ่นฯ และด้วยสถานการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงปัจจุบัน มวลชนมีพัฒนาการทางความคิดและโหยหาความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและสังคมมาตรฐานเดียวที่ทุกคนในแผ่นดินนี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน เราจึงขอเรียกร้อง นปช.ทุกท่าน ว่า
ขอให้ นปช.มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเลิกใช้วิธีการต่อสู้ตามกรอบของอำมาตย์
ข้อเรียกร้องข้างต้นนี้ เข้าข่ายนโยบายของนปช. ข้อ 3 คือ เรียกร้องความยุติธรรม การใช้กฎหมาย มาตรฐานเดียว และการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และข้อ 4 ยกระดับการต่อสู้ของประชาชนให้สูงขึ้นด้วยองค์ความรู้ อันเป็นนโยบายก้าวหน้า แต่จะต้องไม่เป็นแค่เรื่องนามธรรม
เราหวังว่าท่านจะรับไว้พิจารณา และนำปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ มาตรา 112 ของกฎหมายอาญามาพูดอย่างเอาจริงเอาจังว่า กฎหมายอาญา ข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงที่สุด
ด้วยมิตรไมตรีจิต
สมัชชาสังคมก้าวหน้า
11 ก.พ. 54