ที่มา ประชาไท
ชี้การจับกุมและดำเนินคดีต่อ ‘จีรนุช’ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งจัดการความเห็นของฝ่ายค้านให้เงียบเสียง ทั้งยังเป็น ‘ซีรีย์ล่าสุด’ ของการโจมตีเสรีภาพการแสดงความเห็นในประเทศไทย เหมือนยิง “คนนำสาร” ชี้รัฐบาลไทยกำลังละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลไทยเคยลงนามรับรอง
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์กรนิรโทษกรรมสากล เรียกร้องให้ทางการไทยยกฟ้องทุกข้อกล่าวหาต่อจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทและกระดานสนทนา โดยคดีดังกล่าวจีรนุชถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากลบความเห็นหมิ่นเหม่ในกระดานสนทนาช้าเกินไป
"จีรนุชไม่ควรอยู่ในคอกจำเลย ความคิดเห็นท้ายข่าว ซึ่งเธอต้องกลายเป็นผู้รับผิดแทนนั้นไม่ควรถูกลงโทษห้ามแต่แรก โดยเฉพาะเมื่อความเห็นพวกนั้นโพสต์โดยบุคคลอื่น" เบนจามิน ซาแวคกี ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศไทยของแอมเนสตี้กล่าว
จีรนุชถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14 และ 15 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวตัวกลางออนไลน์ก็ต้องรับผิดด้วย รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) และ ผู้ดูแลเว็บ โดยตามที่ระบุในกฎหมายยังรวมถึงผู้ที่สนับสนุนหรือยินยอมให้มีการโพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องความมั่นคงของชาติในระบบคอมพิวเตอร์ที่เขาเป็นผู้ดูแลด้วย
“การจับกุมและดำเนินคดีจีรนุชเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยต้องการมุ่งจัดการความเห็นของฝ่ายค้านและฝ่ายที่ไม่นิยมรัฐบาลให้เงียบเสียงเพียงไร” ซาแวคกีกล่าว
“คดีของจีรนุชมีนัยยะสำคัญเพราะเป็นการคุกคาม และเป็นการ “ยิงคนนำสาร” นอกเหนือไปจากการพยายามเอาผิดกับข้อความด้วย” ซาแวคกีกล่าว “นอกจากนี้ยังเป็นซีรีย์ล่าสุดของการโจมตีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศไทย ในรอบไม่กี่ปีมานี้ด้วย”
ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีได้ประกาศในเดือนมิถุนายนปี 2553 ว่า ได้บล็อกเว็บไซต์ไปแล้ว 43,908 เพจ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ในเดือนต่อมาประชาไทได้ปิดเว็บบอร์ดการแสดงความคิดเห็นของตน เนื่องจากถูกกดดันและเซ็นเซอร์อย่างหนักโดยรัฐบาล ทั้งนี้เฉพาะปี 2553 เป็นต้นมา ประชาไทถูกดำเนินคดีเพิ่มตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีก 5 ข้อหา รวมเป็น 15 ข้อหาหากนับตั้งแต่ปี 2550
ทั้งนี้การจับกุมและตั้งข้อหาจีรนุช เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน 2552 หลังจากมีผู้แสดงความเห็นในเว็บบอร์ดประชาไทในเดือนเมษายนและสิงหาคมปี 2551 จีรนุชถูกกล่าวหาแยกเป็น 10 คดี แต่ละคดีต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ทั้งนี้ประชาไทประเมินว่าในปี 2551 มีความเห็นใหม่ๆ ราว 2,500 ความเห็นถูกโพสต์ในเว็บไซต์ โดยที่จีรนุชเป็นผู้ดูแลเว็บบอร์ดในช่วงนั้น โดยเหตุที่ยกมากล่าวหาต่อจีรนุชก็คือ ปล่อยให้มีความเห็นดังกล่าวค้างอยู่ในเว็บไซต์เป็นเวลา 1 ถึง 20 วัน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า หากจีรนุชถูกตัดสินให้มีความผิดและต้องโทษจำคุก จะเป็นนักโทษที่ต้องโทษเพียงเพราะเป็นผู้แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับ และติดต่อสื่อสารเพื่อข้อมูลและแนวคิดต่างๆ” ซึ่งเป็นเสรีภาพซึ่งได้รับการการันตีอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (the International Covenant on Civil and Political Rights)
“ขณะที่ประเทศไทยได้ลงนามในกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ดังนั้น “ความมั่นคงของชาติ” และ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ควรถูกใช้เพื่อละเมิดเสรีภาพและเพื่อทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ต้องเงียบเสียง” ซาแวคกีกล่าว