ที่มา มติชน เหตุปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา บริเวณชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ใกล้ปราสาทพระวิหาร นำมาสู่การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของราษฎรและทหาร ทั้งที่เป็นคนไทยและเขมร แม้ในจำนวนที่อาจไม่สูงนัก ทว่าก็มิสามารถประเมินค่าได้
อาจดูเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นมีทีท่าผ่อนคลายลง เพราะทหารทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหยุดยิงกันได้เป็นผลสำเร็จ
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ก็ทำให้สังคมไทยต้องหันกลับมาทบทวนตนเองในหลายจุดหลายด้าน
เราอย่าเพิ่งไปโทษกัมพูชาว่าเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องรับผิดชอบต่อการปะทะกันครั้งนี้
เราอย่าเพิ่งไปโทษคำตัดสินของศาลโลก โทษยูเนสโก โทษคณะกรรมการมรดกโลก หรือโทษเอ็มโอยู 2543 ว่ามีส่วนสำคัญต่อความตึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เราอย่าเพิ่งไปโทษเจ้าอาณานิคมในอดีต ว่าเป็นผู้ร้ายเพียงรายเดียวที่มาขีดลากเส้นพรมแดนในจินตนาการตัดผ่านชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกแห่งความจริง
(เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ให้ละเอียด เราจะพบว่า ชนชั้นนำสยามก็ยินดีที่จะปรับประสานต่อรองผลประโยชน์ของตนเองให้สอดคล้องลงตัวกับเจ้าอาณานิคมเช่นกัน ยังไม่ต้องนับรวมชนชั้นนำ/ชนชั้นปกครองไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เรื่องเส้นเขตแดนตามวิชาภูมิศาสตร์สมัยใหม่ อันถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมอยู่มิใช่น้อย)
เพราะ "ปัจจัยภายนอก" ทั้งหลาย สามารถถูกสร้างให้กลายเป็น "ผู้ร้าย" ได้อยู่เสมอ ยามเมื่อ "รัฐชาติ" หนึ่งมีปัญหากับ "รัฐชาติ" อื่นๆ หรือยามเมื่อ "รัฐชาติ" นั้นมีปัญหาภายในเกิดขึ้น
แต่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า การปลุกกระแส "คลั่งชาติ" ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งโดย "รัฐ" และ "ประชาชน" บางกลุ่ม เพื่อนำ "ชาติ" มาเป็นเครื่องมือในการเล่นการเมือง หรือ กำจัดคู่แข่งทางการเมืองภายในประเทศ ได้ส่งผลเสียหายมายังเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2554 ด้วยหรือไม่?
หรือถ้าบรรดาผู้ที่ปลุกกระแส "คลั่งชาติ" ขึ้นมา เชื่อมั่นว่าพวกตน "รักชาติ" จริงๆ ก็คงต้องลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า พวกท่านกำลัง "รักชาติ" แบบไหน? รักด้วยความคิดที่ว่าต่อให้มีการรบกันก็ต้องยอม ขอเพียงเราได้ดินแดนหรือปราสาทพระวิหารคืนกลับมา (โดยไม่ต้องใส่ใจในชีวิต ความเป็นอยู่ และความเป็นความตาย ของเพื่อนมนุษย์ตามชายแดน -ไม่ว่าจะสังกัด "ชาติ" ใด- เลยสักนิด) ใช่หรือไม่?
หากลองตั้งสติดีๆ และตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เราก็จะพบว่า แท้จริงแล้ว ผู้คนธรรมดาสามัญส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ต้องการสงคราม
เนื่องจากพวกเขาและเธอจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสู้รบดังกล่าว ซึ่งรังแต่จะทำให้ชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (และไม่ได้คลั่งชาติ/รักชาติ/ใส่ใจกับเส้นเขตแดน ดังเช่นรัฐส่วนกลาง/คนบางกลุ่มในส่วนกลาง) ต้องเสียชีวิต
แต่ถ้ารัฐส่วนกลาง/คนบางกลุ่มในส่วนกลาง ไม่เห็นใจชาวบ้านตามเส้นพรมแดน ก็ขอให้รู้จักถนอมรักษาตัวเองกันไว้บ้างเถิด เพราะใช่ว่าความพินาศวอดวายตามแนวชายแดนจะถูกแปรผันเป็น "เครื่องมือทางการเมือง" อันทรงพลานุภาพแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ทว่ามันยังสามารถกร่อนเซาะซ้ำเติมโครงสร้างรัฐส่วนกลางที่กำลังผุพังอยู่ได้ด้วย
และในอดีต กลุ่มผู้ปกครองของหลาย "ชาติ" ก็เคยพ่ายแพ้หรือสูญเสียที่มั่นในสมรภูมิทางการเมืองภายในประเทศมาแล้ว เพราะการมุ่งหาประโยชน์จากการทำสงครามภายนอกประเทศนี่แหละ