ที่มา ประชาไท
พรรค มาตุภูมิ คือพรรคน้องใหม่ ยังไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง แต่ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)แล้ว 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายนัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ ส.ส.นราธิวาส
วันนี้พรรคมาตุภูมิหมาย มั่นปั้นมือมากว่าจะกวาดที่นั่ง ส.ส.ในชายแดนใต้ให้ได้อย่างน้อย 6 ที่นั่ง ให้สมกับที่ชูจุดขายความเป็นพรรคที่มีหัวหน้าเป็นมุสลิมด้วยกันกับคนส่วน ใหญ่ในพื้นที่ คือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เส้นทางสู่เป้าหมายมีอะไรเป็นกลยุทธ์ อ่านสัมภาษณ์พิเศษ ‘นัจมุดดีน อูมา’ ได้ดังนี้
นัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ
ทำไมถึงมาสังกัดพรรคมาตุภูมิ
แต่ เดิมพวกเราเริ่มมาจากพรรคความหวังใหม่ ในนามกลุ่มวะห์ดะห์ แต่พอมาปี 2546 พรรคความหวังใหม่มีมติให้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย พอถึงปี 2548 เราได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่สอบตกยกทีมเพราะสาเหตุจากเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ต่อมาปี 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ จึงมีการตั้งพรรคพลังประชาชนในปี 2550
ต่อ มาปี 2551พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบอีก เราเลยมาร่วมกันหารือว่า อยู่พรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบ อยู่พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบ ถูกยุบถึงสองครั้ง เราก็คิดหนักว่า จะเอายังไงกับอนาคตทางการเมืองข้างหน้า
จากนั้นเรา ก็ได้ไปปรึกษาหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมือง ในกลุ่มนั้น มีพลเอกสนธิรวมอยู่ด้วย ซึ่งพลเอกสนธิมีความสนใจที่จะรื้อฟื้นกลุ่มการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รวมตัวเป็นหนึ่ง
หลังจากนั้นเราก็ได้ร่วมกันเดินทางไปทำพิธีอุ มเราะห์(หมายถึง การเยี่ยมเยียนสถานที่พำนักของท่านศาสดามูฮัมหมัด ที่นครมักกะห์(เมกกะ) ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนึ่ง สามารถกระทำได้ตลอดทั้งปี) ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีท่านวันนอร์(นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกรัฐมนตรี) ท่านอารีเพ็ญ (นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคมาตุภูมิ) พลเอกสนธิ และผมเอง
เรา ได้ปรึกษาหารือถึงทิศทางข้างหน้าว่า เราจะเดินกันยังไง จากนั้นเราก็ได้พูดคุยกับนักการเมืองเชื้อสายมาลายูอีกหลายคน ทั้งในกลุ่มวะห์ดะห์เก่าและนักการเมืองหน้าใหม่
หลังจากนั้นเราได้ ข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินหน้าทางการเมืองต่อ แต่เราได้พูดคุยกับพลเอกสนธิแล้วว่า เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป อีกอย่างเรามองว่า ที่ผ่านมาในเมืองไทยยังไม่มีหัวหน้าพรรคที่เป็นมุสลิมที่มีศักยภาพเหมือนพล เอกสนธิ การเป็นหัวหน้าพรรคไม่ไช่ว่าใครจะมาเป็นก็ได้
เป็นคนที่มาก ด้วยประสบการณ์ เคยผ่านตำแหน่งราชการระดับสูงมาหลายครั้ง ทั้งผู้บัญชาการทหารบก ประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ในสมัยรัฐบาลพลเอกสรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเคยฝากผลงานกับเราไว้แล้ว เช่น โครงการผลิตพยาบาล 3,000 คนเพื่อมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่ใช่การผลักดันของพลเอกสนธิคงจะสำเร็จยาก เพราะโครงการนี้มีพลเอกสรยุทธและพลเอกสนธิเป็นหัวเรือใหญ่
อีกเรื่อง คือ มีอยู่สมัยหนึ่งที่รัฐมีโยบายที่จะยุบโรงเรียนตาดีกาที่มีระยะทางใกล้กับ โรงเรียนประถมของรัฐไม่ถึง 1 กิโลเมตร โดยให้ยุบมารวมกับโรงเรียนประถมของรัฐ ซึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากโต๊ะอีหม่ามและครูสอนตาดีกา
หลังจากนั้น ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสจึงได้ไปพบหารือกับ พลเอกสนธิ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านจึงเรือกผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาหารือ เพื่อให้ระงับคำสั่งและนโยบายดังกล่าว โรงเรียนตาดีกาจึงสามารถดำเนินการสอนมาได้ถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดว่า ถ้านักการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รวมตัวเป็นหนึ่ง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จคงยาก ความสำเร็จในที่นี้คือ เก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ เพราะการเมืองบ้านเรา ถ้าเพียงแค่อยากเป็น ส.ส. ประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เท่าไหร่ แค่อยากเป็น ส.ส. กินเงินเดือนโก้ๆ ก็พอได้ แต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่
เรามีตัวอย่างจากอดีตที่ ผ่านมา เช่น เราได้ต่อสู้เพื่อการได้มาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมา 20 ปี แล้วมาประสบความสำเร็จสมัยที่เรารวมกลุ่มกัน เราต่อสู้ให้ได้เงินตอบแทนโต๊ะอีหม่าม เงินตอบแทนครูตาดีกา ทั้งหมดคือความสำเร็จที่มาจากพลังทางการเมืองของพวกเรา
จะถามว่า เมื่อไหร่ชาวมาลายูเราจะได้เป็นรัฐมนตรี คำตอบนั่นคือ ก็ต่อเมื่อเรารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกัน นายเด่น โต๊ะมีนา (อดีตหัวหน้ากลุ่มวะห์ดะห์) นายวันมูหมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ ทั้งหมดเคยเป็นรัฐมนตรี เพราะมาจากการรวมกลุ่มวะห์ดะห์ในตอนนั้น ในตอนนี้ถ้าเราไม่หวังถึงจุดนั้น ก็คงยากที่จะมีอำนาจต่อรองทางการเมือง
ดัง นั้น พล.อ.สนธิ มีความเห็นที่ชัดเจนว่า จะทำยังไงให้ได้เก้าอี้ ส.ส. 5 – 6 ที่นั่งขึ้นไป ถ้าได้ เราสามารถไปต่อรองกับรัฐบาลในสมัยหน้าเพื่อขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับคนมุสลิม นี่คือหลักการที่ชัดเจนของพวกเรา พรรคอื่นไม่กล้าพูดถึงขนาดนี้ เก้าอี้รัฐมนตรีจะพูดหรือให้ลอยๆไม่ได้ หากไม่มี ส.ส. ในกลุ่ม 5 ที่นั่งขึ้นไป ตอนนี้พรรคมาตุภูมิ มี ส.ส.แล้ว 3 ที่นั่ง
พรรคมาตุภูมิได้รายชื่อว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือยัง
ตอน นี้มีโผออกมาค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ยังไม่เป็นทางการ รอเพียงการลงมติของพรรคเท่านั้น ได้แก่ ในจังหวัดนราธิวาส เขต 1.นายไฟซอล ตอยิบ ลูกนายอูมา ตอยิบ อดีต สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดนราธิวาส เขต 2.นายสามารถ วาหลง อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาสหลายสมัย เขต 3.คนผมเอง และเขต 4.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ
จังหวัดยะลา เขต 1.ยังไม่มีคนที่จะส่งลงสมัครเลือกตั้ง เขต 2.นายอามิน มูน๊ะ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เขต 3.นายฮาฟิส ฮิเล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา
จังหวัดปัตตานี เขต 1.นายสนิท อาแว เขต 2.นายอารีเป็ง จะปะกียา อดีต ส.ส. จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3.นายมะ ซูซารอ อดีตกำนัน และเขต 4.นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.กลุ่มวะห์ดะห์
ส่วนการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน หรือปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 คือ พลเอกสนธิ อันดับ 2 นายมั่น พัธโนไท เลขาธิการพรรค อันดับ 3 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อันดับ 4 นายเด่น โต๊ะมีนา
5 ที่นั่งที่พรรคมาตุภูมิตั้งความหวังไว้ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
จาก ที่ดูกระแสการตอบรับหลังจากพล.อ.สนธิ ได้ลงพื้นที่ ปรากฏว่าชาวบ้านในสามจังหวัดให้การต้อนรับดีมาก เพราะยังไม่เคยมีพรรคที่มีหัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม ชาวบ้านตื่นตัวมาก ในพื้นที่สามจังหวัดเราหวังเป็นพิเศษ ส่วนทั่วประเทศเราหวังเพียงแค่ 15 ที่นั่ง ซึ่งก็คงมากพอสำหรับพรรคเล็กๆอย่างเรา
พูดง่ายๆคือ เรายกความเป็นหัวหน้าพรรคมุสลิมของ พล.อ.สนธิมาเป็นจุดขายในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจะมาแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ เรามั่นใจในศักยภาพของพล.อ.สนธิ ว่า จะสามารถทำได้ โดยเฉพาะนโยบายการเมืองนำการทหาร
พรรคมาตุภูมิเปิดพื้นที่ให้กับคนศาสนาอื่นด้วยหรือไม่
ตรง นั้นก็แล้วแต่ประชาชน เราไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราพร้อมเปิดกว้างอยู่แล้ว อย่างเช่นเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดยะลา ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครลง ใครสนใจเราก็ยินดี สามารถมาพูดคุยกันได้ ดังนั้นเราจึงเก็บเขต 1 ยะลาไว้ เผื่อคนศาสนาอื่น
หากได้ที่นั่งส.ส. ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ใครจะได้เป็นรัฐมนตรี
ใคร จะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีก็คงเป็นไปตามมติของพรรค แต่โดยปกติเราจะยึดตามหลักความอาวุโสอยู่แล้ว นี่คือหลักการที่เราได้ตั้งไว้และสามารถเกาะกลุ่มกันมาจนถึงทุกวันนี้
เรา จะไม่มีการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะมันจะนำไปสู่การแตกวงของกลุ่มวะห์ดะห์ แม้ว่าจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง แต่เราก็เกาะกลุ่มกันได้ตลอดในระยะเวลากว่า 20 ปี
เราต้องยึดความเป็นมลายูเป็นหลัก เราต้องไม่ไปเลือกเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองแต่เราจะยึดผลประโยชน์ของชาวมลายูเป็นหลัก
ดัง จะเห็นได้จากตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนมลายู แต่ทุกสมัยจะมีคนเชื้อสายจีน เชื้อสายอินเดีย เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วย เพื่อที่จะดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของคนเชื้อสายของตนเอง
แต่ในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนมลายูเป็น สส.ถึง 12 ที่นั่ง แต่ถามว่า มีคนมลายูได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่มี เพราะนี่แหละคือผลของการไม่เกาะกลุ่ม ทำให้ไม่มีคนในพื้นที่เป็นรัฐมนตรี
นี่ คือหลักคิดของการตั้งพรรคมาตุภูมิ คือต้องมีคนมุสลิมได้เป็นรัฐมนตรี ดังนั้นอยากให้สื่อได้ชี้ให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มการเมืองที่ มีอำนาจในการต่อรอง
พรรคมาตุภูมิมีนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
เรา ได้ชูนโยบายการเมืองนำการทหารเป็นกลยุทธ์สำคัญ เราจะผลักดันทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเคยเชิญ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้(CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มาร่วมพูดคุยกับพล.อ.สนธิ ท่านก็เห็นด้วยกับแนวทางของเรา เพราะมันมาจากความต้องการของประชาชน
สำหรับ เมืองไทยแล้ว การที่จะทำอะไรๆขึ้นมา มันไม่ใช่ง่าย ถ้าพูดถึงนครปัตตานี ใครๆก็เห็นด้วย แต่จะทำจริงๆตามที่เราต้องการ คงยาก นี่คือความจริง
ทบวง กิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีรัฐมนตรีมารับผิดชอบการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงหนึ่งคน เราต้องต่อสู้ให้ได้องค์กรใหญ่ก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็ต้องค่อยมาว่ากัน
มีนโยบายเรื่องการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบหรือไม่
เรา จะต่อสู้เรื่องทบวงก่อน ถ้าเรื่องทบวงไม่ได้รับการตอบรับจากผู้มีอำนาจ เรื่องการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ ก็ไม่ต้องเอ่ย เพราะหัวใจมันอยู่ตรงนี้ ปัญหาบ้านเรามันต้องมีเจ้าภาพ ตอนนี้จะให้ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นเจ้าภาพ ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีอำนาจพอ มันต้องมีอำนาจระดับรัฐมนตรี เมื่อพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมันถึงจะมีอำนาจพอ ถ้าระดับแค่งานฝากก็คงทำอะไรไม่ได้
ลองหยั่งเสียงการตอบรับจากประชาชนบ้างหรือยังในนโยบายของพรรค
อัน ที่จริง ประชาชนยังไงก็ได้ทั้งนั้น แต่เราต้องมาคิดในสิ่งที่ประชาชนรับได้ สิ่งไหนที่เป็นความต้องการของประชาชน แต่โอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบของฝ่ายความมั่นคงไม่มี ก็คงทำไม่ได้
เรื่อง ทบวงเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ ทบวงเป็นสิ่งกลางๆ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ให้มีอำนาจชัดเจนในการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนจะกลัวว่า จะไปทับซ้อนกับงานของ ศอ.บต.นั้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราต้องมีการแก้ไขในข้อกฎหมายอยู่แล้ว
ศอ.บต.ก็ทำงานไปไม่มี ปัญหาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาแก้ไขในส่วนของโครงสร้างการบริหารงานภายใน ศอ.บต. ก็เหมือนกับการมีพระราชบัญญัติ ศอ.บต.จากเดิมที่ไม่มี แต่ทบวงเราจะมีรัฐมนตรีรับผิดชอบเรื่องการบริหารกิจการในจังหวัดชายแดนภาค ใต้โดยตรง
ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น เราจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ รวมถึงเรื่องการต่างประเทศ เราก็จะไปยุ่งไม่ได้ ก็เหมือนกับแนวคิดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ทำได้แต่คงเป็นไปได้ยาก
เราแค่จะจัดการกระชับโครงสร้างการบริหาร จัดการ ไม่ใช่จะล้มล้างระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การพูดเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการให้มันปากมัน คงพูดได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากมาก
นโยบายของเรา ส่วนใหญ่ยึดตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัด ชายแดนภาคใต้สภาผู้แทนราษฎร ในชุดที่ผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ
ผม เชื่อมั่นว่า ถ้าเราทำงานตามผลการศึกษานี้ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะที่ผ่านมาแค่ทำการศึกษาอย่างเดียว แต่ไม่เคยนำผลการศึกษามาปฏิบัติจริง ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นที่มาของนโยบายพรรคมาตุภูมิ โดยการจัดตั้งทบวงการบริหารกิจการชายแดนใต้
ในผลการศึกษานี้ มีหลายเรื่องที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรัฐบาลไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่รับ อย่างเช่น ข้อเสนอให้ตั้งสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นที่มาของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต. แต่รัฐบาลไม่ยอมใช้คำว่าสมัชชา เพราะเห็นว่าคำนี้แรง เรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการจัดตั้งสภาผู้รู้ศาสนาระดับตำบล รัฐบาลก็ไม่รับ