ที่มา thaifreenews
โดย bozo
“จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)
ผู้กลับมาปรากฏตัวในประเทศเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554
นับแต่เขาเดินทางออกนอกประเทศเมื่อปีที่แล้วไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ “19 พฤษภา 53”
รวมเวลาในการเดินสายสื่อสารสถานการณ์การเมืองไทยต่อคนไทย
ในต่างแดนและชาวต่างชาติ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าปี
ถึงวันนี้ “จรัล” ยังอยู่บนถนนการเมืองแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.
แต่มีภารกิจเดินทางเข้ารัฐสภาในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ
ที่มี “สุนัย จุลพงศธร” ส.ส.บัญชี่รายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน
ในสัปดาห์ที่น้ำเริ่มลด ลมหนาวเริ่มโชย กระแสการเมืองกำลังกลับมากระพือ
เมื่อมีประเด็น “คนแดนไกล” จะกลับเข้าประเทศได้อีกหรือไม่
“จรัล ดิษฐาอภิชัย” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติออนไลน์”
พร้อมเปรียบเทียบกรณีการพระราชทานอภัยโทษที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา
@ร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
จะเป็นเหตุทำให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปไม่ได้หรือไม่
-สถานการณ์พื้นฐานคนก็แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่ายอยู่แล้ว และยังดำรงอยู่ คือ
ฝ่ายล้มรัฐบาลและฝ่ายหนุนรัฐบาล จนกระทั่งน้ำท่วมก็มีการเมืองของน้ำท่วม
ที่ดำรงอยู่อยู่แล้ว ผมและคนเสื้อแดง ก็เชื่อว่าหลังน้ำลด
ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็คงก่อกระแสขับไล่รัฐบาล เขาก็ประกาศทุกวัน
ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาร่างพระรากฤษฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาส 84 พรรษา
เราต้องเข้าใจว่า แม้การพระราชทานอภัยโทษ เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์
แต่ในทางปฏิบัติ หรือวิธีการ ก็ต้องมีผู้เสนอขึ้นไป คือ
ครม. เพราะเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร
ซึ่งอาจจะทูลเกล้ารายชื่อแต่ละปีจำนวนไม่เท่ากัน
บางวโรกาสก็ 2 หมื่นรายชื่อ หรือ 3 หมื่นรายชื่อ ฉะนั้น ทางฝ่ายบริหาร คือ
ครม. ก็ต้องทำร่างพระราชกฤษีกา เพื่อกราบบังคมทูล
@ แบบนี้รัฐบาลกำลัง เกี้ยเซี๊ย กับอำมาตย์ หรือเปล่า
-เท่าที่ผมอ่านความเห็นตามบทความที่บอกว่า
ถ้าทำแบบนี้เท่ากับทรยศหักหลังคนเสื้อแดงที่ติดคุก
แต่ผมว่าความคิดแบบนี้ก็เป็นหตุผลที่แปลกๆ
เพราะถ้าคนเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ในข่ายได้รับอภัยโทษ
ก็ต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย
@ คิดว่ารัฐบาลตั้งใจช่วยคุณทักษิณคนเดียวหรือไม่
ผมคิดว่า ไม่ใช่ช่วยคุณทักษิณคนเดียว
แต่เป็นการช่วยนักโทษ 20,000 กว่าคน ในวโรกาสนี้
อาจทำร่างกราบบังคมทูลถึง 25,000 -27,000 รายชื่อ
ผมเชื่อว่าน่าจะครอบคลุมคนเสื้อแดงทุกคน
ส่วนหลักการของการอภัยโทษ ปกติก็ไม่ใช่ทุกคนได้รับ
เพราะบางครั้งก็ทุกคดีหรือเว้นบางคดี
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งเป็นนักโทษชั้นดี หรือเหลือโทษอีกไม่กี่ปี
ผมยังไม่เห็นร่างพระราชกฤษฎีกา
แต่เท่าที่ผมติดตามข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับอายุนักโทษ
ทำให้ถูกตีความว่าหลักการเรื่องอายุนั้น
กำหนดเพื่อให้ครอบคลุมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่อีกฝ่ายเขาว่า
@ปัญหาว่าคุณทักษิณ ยังไม่เคยรับโทษ
-ประเทศไทยไม่เคยมีประเพณี แต่ในทางหลักการทำได้
เพราะเป็นเรื่องพระราชอำนาจ
ผมคิดว่า สมเด็จนโรดมสีหนุ กษัตริย์ กัมพูชา เคยให้อภัยโทษกับคนที่เกี่ยวข้อง
ในการทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในเดือน กรกฎา-สิงหาคม ปี 1997
โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย
ผมยังเคยไปพบเขาเลย กลุ่มสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ กลุ่มพระพุทธะเสรี กลุ่ม ซอนซาน
เวลานั้นกัมพูชามีนายกฯ 2 คน อีกคนคือ
สมเด็จรณฤทธิ์ บริหารไปมา ก็เกิดความขัดแย้ง จึงทำรัฐประหารมีการยิงกัน
แต่ล้มเหลว แล้วหนีมาอยู่ไทย ผมยังไปเยี่ยมเขา
ต่อมาสมเด็จฮุนเซน ก็เห็นว่าเพื่อความปรองดองชาติ
จึงกราบทูลให้ สมเด็จสีหนุ พระราชทานอภัยโทษ ต่อมาสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์
เคยถูกฟ้อง ศาลตัดสินจำคุก ก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น
สมเด็จนโรดม สีหมุณี ก็พระราชทานอภัยโทษ แม้ว่า สมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ จะไม่ได้อยู่ในคุก
ฉะนั้น โดยหลักการ ก็คลุมถึงคนที่หลบหนีก็ได้ แต่ประเทศไทย ไม่เคยมีประเพณีนี้
@ น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ของ ครม. ที่กำลังชงเรื่องให้คุณทักษิณกลับบ้าน
จะเป็นการเพิ่มปัญหาต่อคุณยิ่งลักษณ์หรือไม่
-เท่าที่ผมได้ยิน ผมว่า ดร.ทักษิณ คงไม่อยากกลับ
แต่มีคนอยากให้กลับ ส่วนเรื่องพี่กับน้อง
ก็อย่างที่ผมพูด สมเด็จนโรดม สีหนุ เคยพระราชทานอภัยโทษให้
สมเด็จรณฤทธิ์ซึ่งเป็นลูกชาย พ่อให้อภัยโทษลูกชาย
เพียงแต่คนเสนอ คือสมเด็จฮุนเซน ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมือง
หรือกรณี สมเด็จสีหมุณี ให้อภัยโทษ สมเด็จรณฤทธิ์ ก็เป็นพี่กับน้องกัน
แต่ตอนนั้น สมเด็จฮุนเซน เป็นผู้เสนอเช่นเดียวกัน
@ การขอพระราชทานอภัยโทษ
สร้างแรงต้านเกิดขึ้นกับ“รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ควรเสี่ยงต่อไปหรือไม่
-รัฐบาลมี 2 ทาง คือ
1 เขียนให้ชัดเจนว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วยังติดคุกไม่เกิน 3 ปี อีกทางหนึ่งคือ
2) เดินหน้าต่อไป แต่ถ้าพูดแบบไม่กลัวถูกด่านะ
ผมคิดว่าทีคนสูงอายุที่ติดคุกโทษหนักเพราะเป็นฆาตรกร
หรือเป็นโจรอะไรต่างๆ ยังได้รับพระราชทานอภัยโทษ
แล้ว ดร.ทักษิณ ซึ่งเคยทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ
แม้ยังไม่ได้ติดคุก แต่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน
ก็น่าจะได้รับเช่นเดียวกัน
@ เป็นสัญญาณความรุนแรงทางการเมืองปีหน้าหรือไม่
-ผมอาจจะมองโลกในแง่ดี ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จก็มีไม่กี่คนที่บอกว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่ยาว
แต่ผมคาดว่าอยู่ยาว เพราะมาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้หญิง
นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงสนับสนุน
และในทางสากล ในศตวรรษที่ 21 นานาชาติชอบผู้หญิง
ศตวรรษนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางอำนาจมาที่ผู้หญิง
สำหรับฝ่ายต่อต้านทั้งในสภาและนอกสภา
อย่างพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-เสื้อเหลือง
ถ้าจะขับไล่รัฐบาลก็ต้องเคลื่อนไหวมวลชน แต่เขาจะเอาคนที่ไหนมาชุมนุม
เพราะถ้าชุมนุม 20,000-30,000 คน ก็เก่งมากแล้ว เขาจะเอาคนที่ไหน
ขณะที่เขาขัดแย้งแตกแยกกันระหว่าง พันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์
ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แล้วการไล่รัฐบาลหลังน้ำท่วม ยิ่งเป็นไปได้ยาก
@ คะแนนนิยมของรัฐบาลจะลดลงเพราะการบริหารจัดการน้ำหรือไม่
-คะแนนนิยมลดลงเฉพาะในกรุงเทพฯ
ส่วนต่างจังหวัด ยิ่งเห็น นายกฯ ร้องไห้ คนยิ่งเห็นใจ
แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะบอกว่านายกฯ อ่อนแอ
แต่พอ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ร้องไห้ ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร
ผมเองก็ร้องไห้นับครั้งไม่ถ้วน ชุมนุมสะเทือนใจผมก็ร้องไห้
ดูละคร ดูหนังอินเดีย ดูฟุตบอล หรือตอนเข้าป่าแล้วสหายต้องไปอยู่เขตอื่น
ผมก็ร้องไห้ ด้วยความสะเทือนใจ ฉะนั้น การร้องไห้กับนักต่อสู้ ไม่ได้แสดงว่าอ่อนแอ
แต่แสดงว่า เขามีอารมณ์ต่อความทุกข์สุขของประชาชน
@ การต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไร
ถ้ามีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแล้วทหารจะโหนกระแสล้มรัฐบาลหรือไม่นั้น
ผมคิดว่าทหารคงไม่โหน
เพราะสภาก็ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองคนในชาติ
เพิ่งตั้งขึ้นมา บรรยากาศปรองดอง น้ำท่วม มาร่วมกันทำงาน
แล้วถ้าดูองค์ประกอบตัวบุคคล คณะกรรมการยุทธศาตร์
เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)
องค์ประกอบก็ชี้บ่งบอกส่งเมสเสจว่านี่คือการปรองดอง
ทีนี้ทหารจะทำได้ยังไง ถ้าทหารจะทำรัฐประหาร ก็อาจจะเกิดสงครามการเมือง
เพราะคนไม่ยอมก็ลุกมาต่อต้านแบบประเทศลิเบียแน่นอน
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321694514&grpid=09&catid=no