ที่มา มติชน
หมายเหตุ ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่เอื้อ ประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในที่ประชุมลับของครม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักวิชาการ-นักศึกษาทางด้านนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ หลายรายอภิปรายสนทนากันถึงสถานะของกฎหมายดังกล่าว มติชนออนไลน์ขออนุญาตคัดลอกเนื้อหา "บางส่วน" ของบทสนทนาเหล่านั้น มานำเสนอดังต่อไปนี้
บทสนทนาแรกเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นในเฟซบุ๊กระหว่างพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง และพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ
พรสันต์
ยังไม่ได้กล่าวถึงกรณีการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษซึ่งมีการเชื่อมโยงกับทักษิณที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน สิ่ง ที่น่าคิดในอีกมิติหนึ่งคือ การอภัยโทษ (อย่าเพิ่งคิดถึงกรณีที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข) ควรมีหรือไม่ มันขัดกับหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรมไหม ถ้าหากบอกว่าไม่ควรมีก็จบ แต่หากเห็นว่าควรมี คำถามต่อไปก็คือ แล้วควรจะมีขอบเขตที่ประจักษ์ชัดเจนมากน้อยเพียงใดในการใช้อำนาจดังกล่าว หรือไม่?
พุฒิพงศ์
ผมว่ามันเป็นเครื่องมือระดับรุนแรงน้อยของ ฝ่ายบริหาร ในการระงับผลคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรม /หรืออาจถึงขนาดไม่ชอบธรรม (เกณฑ์วัดมันอัตวิสัย) , สำหรับเกณฑ์ชี้วัดที่ภาวะวิสัย อาจไม่ต้องดูเนื้อหาของคำพิพากษาก็ได้ เพียงดูองค์กรว่า ระหว่างองค์กรรัฐฝ่ายตุลาการ กับ องค์กรรัฐฝ่ายบริหาร องค์กรใดมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มากกว่ากัน
การใช้อำนาจอภัยโทษ ในแง่นี้ก็เป็นการ "การตรวจสอบ และ ถ่วงดุล" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นขาดไม่ได้เลยในนิติรัฐ ครอบคลุมทุกองค์กร (กรณีการกระทำของฝ่ายบริหาร ไม่ถูกต้อง การชี้วัดตัดสิน เขาจะต้องรับผิดชอบ ในช่วงเลือกตั้ง ผลัดอำนาจ -- มันมีเรื่อง "อำนาจ & ความรับผิดชอบ" รองรับอยู่)
ถ้าพิจารณาในแง่นี้ องค์กรตุลาการ ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และการถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ น้อยยิ่งกว่า บรรดาองค์กรอิสระ หรือไปจนถึง พนักงานทะเบียนในสำนักงานอำเภอ ด้วยซ้ำ (เพราะอย่างน้อย องค์กรอิสระอาจถูกถอดถอนโดย ส.ว., หรือ พนักงานในอำเภอ อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชา ตามสายงาน โดยรัฐมนตรี)
ในแง่ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม แม้พิสูจน์แน่แท้ว่า เขาเป็นฆาตกร แต่คงปฏิเสธตัวแปรในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ และมีมากด้วย เช่น ความเก่งกาจของทนายความ ความถูกต้องของพยานหลักฐาน ความผิดพลาดในการชั่งน้ำหนักพยาน ความบังเอิญ ความเป็นการเมืองในกระบวนการยุติธรรม หรือบิดเบือนตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน หรือไปถึง "อคติของตุลาการ" เอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีมูลเหตุชักจูงใจทางการเมือง) - คดีตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊กทั่วไป หรือแบ่งที่ดินมรดก ปัญหาอคติของตุลาการอาจไม่มีนัก กล่าวคือ ทั้งกระบวนการยุติธรรมมันไม่เป็น สูตรคณิตศาสตร์ อย่างใน หนังสือหลักวิชาชีพนักกฎหมาย น่ะครับในโลกจริง
ความชอบธรรม หรือ ขอบเขต ในการปฏิเสธคำพิพากษา หรือลบล้างในระดับพระราชบัญญัติ มันน่าจะโยงไปยังเจตจำนงข้างมากของปวงชนน่ะครับ (ทุกวันนี้พูดแต่ ประชาชนๆ ซึ่งมันเล็กกว่า ปวงชน ด้วยซ้ำ) ซึ่งแสดงออกผ่าน อำนาจบริหารในนามปวงชน โดยฝ่ายบริหาร น่ะครับ
อันที่จริง งานเขียนเชิงสัจนิยม เช่น "มนุษย์สองหน้า - โดย อัลแบร์ กามู" (แปลจากฝรั่งเศส) , "คดีความ - โดย ฟรันซ์ คาฟคา" (แปลจากเยอรมัน) น่าอ่านมากในเรื่องศาลๆ.
พรสันต์
ที่พุฒิพงศ์พูดน่ะถูกแล้วครับ ผมเห็นด้วย อันที่จริง เจตนารมณ์ ของอำนาจในการอภัยโทษนี้เป็นอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้นให้กับฝ่ายบริหารก็เพื่อ ที่จะทำหน้าที่ในการ check and balance (ตรวจสอบและถ่วงดุล - มติชนออนไลน์) กับองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ดี (กรณีที่มีการตราตัวบทกฎหมายกำหนดโทษที่อาจจะหนักหนาสาหัสจนเกินไป ฯลฯ) หรือฝ่ายตุลาการเองก็ดี (วินิจฉัยคดีผิดพลาด ฯลฯ) ทั้งหมดเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรม ดังนั้น ในความเห็นของผม การที่จะมาบอก ว่า "การใช้อำนาจอภัยโทษ" (ทุกกรณีอันรวมถึงกรณีทักษิณ) นั้นขัดกับหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรมนั้นจึงไม่ถูกต้องนัก ผมไม่เห็นด้วย แต่ไอ้เรื่องประเด็นเรื่อง legitimacy (ความชอบธรรม - มติชนออนไลน์) ก็ว่ากันไป มันเถียงกันได้เยอะ แต่มันไม่ใช่เรื่องขัดหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรมครับ
บทสนทนาที่สอง มติชนออนไลน์นำเนื้อหาบางส่วนมาจากบทความ "Q & A : 2 (From Senior to Senior) ถาม & ตอบ (จาก สว. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถึง สว. พนัส ทัศนียานนท์)" โดยเป็นการถาม-ตอบระหว่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อดีต ส.ส.ร. และอดีต ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของชาญวิทย์
(จาก สว. ชาญวิทย์ ถึง สว. พนัส)
ถาม
ตามปกติ ในราชพิธีสำคัญๆ ก็มี "ราชอภัยโทษ" ใช่ไหม เช่น
-2520/1977 สมเด็จพระบรมฯ อภิเษกสมรส (พระราชทานอภัยโทษ 13,359 นักโทษ)
-2520/1977 ในหลวงครบ 50 พรรษา (17,539)
-2525/1982 รัตนโกสินทร์ 200 ปี (18,438)
-2530/1987 ในหลวงครบ 60 พรรษา 5 รอบ (37,400)
-2531/1988 ในหลวงครองราชย์ ยาวนานที่สุด ใน ปวศ. ไทย เกิน 42 ปี (22,922)
-2533/1990 สมเด็จพระศรีฯ ครบ 90 พรรษา (20,133)
-2535/1992 สมเด็จพระราชินีนาถ ครบ 60 พรรษา 5 รอบ (30,620)
-2539/1996 กาญจนาภิเษก ครองราชย์ครบ 50 ปี (24,751)
-2542/1999 ในหลวงครบ 72 พรรษา 6 รอบ (23,940)
ดังนั้น
ปีนี้ 2554/2011 ในหลวงครบรอบ 84 พรรษา 7 รอบ
ก็คงจะมี "ราชอภัยโทษ" ใช่ไหม
(ไม่ทราบว่า มีนักโทษชาย/หญิง รออยู่เท่าไร)
ตอบ
ใช่ โดยเฉพาะในวันเฉลิมฯ ของในหลวง
ต้องมีทุกปี ไม่มียกเว้น
ถาม
(พระ) ราช (ทาน) อภัยโทษ (royal pardon) กับ นิรโทษกรรม (amnesty) เหมือน และต่างกัน อย่างไร
ตอบ
ต่างกันที่ กรรมวิธี และผล
อภัยโทษ เป็นอำนาจของในหลวง
นิรโทษ เป็นอำนาจของรัฐสภา (ประชาชน)
ผลของอภัยโทษ คือ พ้นจากการถูกลงโทษ แต่ไม่พ้นผิด
ส่วน นิรโทษ เป็นการล้างให้หมด ทั้งความผิด และโทษ
ถือว่าไม่ได้กระทำผิดเลย