ที่มา ประชาไท
ดักยื่นหนังสือนายบัน คี มุน-นางฮิลลารี ที่เข้าเยือนนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เสื้อแดงรวมตัวประจานปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหา พร้อมยื่นหนังสือผ่านนายกฯ ไปยังเลขายูเอ็น และรมว.ต่างประเทศสหรัฐ
16 พ.ย.54 เวลาประมาณ 13.00 น. บริเวณทำเนียบรัฐบาล กลุ่มคนเสื้อแดงราว 60 คน นำโดย น.ส.จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน และนายชานุ ไชยะ ผอ.สถานีวิทยุชุมชนจ.สมุทรปราการ คลื่อน 90.25 เมกกะเฮิร์ต ชุมนุมพร้อมยื่นหนังสือ ในวาระที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนางฮิลลารี คลินตัน รมว.การต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าพบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลตามคำเชิญของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมมีการถือป้ายข้อความ “FREE SOMYOS” “Free Joe Free Thailand!” “FREE DA TORPIDO” “FREE SURACHAIW” “RELEASE POLITICAL PRISONERS” “FREE Thailand from Lese Majeste Law” และยังมีการประท้วงโดยการนำกรงที่ทำด้วยท่อพีวีซี ภายในมีคนแต่งตัวเป็นเทพีเสรีภาพถือกล่องเขียนว่าปลดปล่อยนักโทษการเมือง และมีรายชื่อผู้ต้องขังเสื้อแดงที่ยังคงอยู่ในเรือนจำจำนวนมากและผู้ต้องขัง คดีหมิ่นติดอยู่เต็มลูกกรง
หลังจากปราศรัยเรียกร้องเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาราว 1 ชม. นายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองได้ออกมารับจดหมายของผู้ชุมนุม ซึ่งส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านไปยังนายบัน คี มุน และนายคลินตัน จากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้าหารือกับนายสุชาติภายในทำเนียบรัฐบาลอีกราว 1 ช.ม. ซึ่งนายสุชาติรับปากจะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาล หาทางแก้ปัญหาต่อไป
“เรามารวมตัวกันเป็นสัญลักษณ์เพื่อประกาศให้โลกรับรู้ว่ากฎหมายไทยไม่มีมาตรฐาน” นายชานุกล่าว
ทั้งนี้ ในจดหมายที่ส่งถึงนายบัน คี มุน และนางฮิลลารี คลินตัน เรียกร้องให้ 1. มีการดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาพในเรือนจำของผู้ต้อง ขังในคดีนี้ และดูแลให้มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอและให้มีความเป็นธรรม 2.ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษในคดีหมิ่นฯ ทุกคนโดยทันที 3.กระตุ้นให้ทางการไทยเปิดเผยจำนวนนักโทษคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จดหมายยังได้อ้างถึงข้อเสนอแนะของนายแฟรงค์ ลารู (Frank La Rue) ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการมีเสรีภาพของการแสดงความเห็นและ การแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Right to Freedom of Opinion and Expression) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อเสนอแนวทาง แก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะภัยคุกคามของบทลงโทษจำคุกเป็นเวลานานและความคลุมเครือของการตีความว่า ถ้อยคำใดเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้พูดต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง และปิดกั้นโอกาสการถกเถียงในประเด็นที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำร้ายกฎหมายยังอนุญาตให้บุคคลใด ๆ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ และการไต่สวนคดีมักกระทำอย่างปิดลับ ทั้งนี้ เฉพาะปี 2553 มีรายงานข่าวว่าศาลไทยได้รับพิจารณาคดีหมิ่นฯ ใหม่ 478 คดี เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาละเมิดมาตรา 112 น่าจะมีอยู่หลายร้อยคน
0000
เรียน: ฯพณฯ บันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
กรุงเทพฯ 16 พฤศจิกายน 2554
เรียน ฯพณฯ บันคีมุน
ดัง ที่ท่านอาจทราบว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ทางคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้จัดให้มีการอภิปรายตามกระบวนการทบทวน สถานการณ์สิทธิตามวาระ (Universal Periodic Review) กรณีประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะหลายประการจากกระบวนการดังกล่าว ทั้งของนายแฟรงค์ ลารู (Frank La Rue) ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการมีเสรีภาพของการแสดงความเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Right to Freedom of Opinion and Expression) เขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อเสนอแนวทาง แก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา (หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีโทษจำคุกถึง 15 ปี) และแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้หลักกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อหลัก สิทธิมนุษยชนสากล นายแฟรงค์ ลารูได้กล่าวว่า “ภัย คุกคามของบทลงโทษจำคุกเป็นเวลานานและความคลุมเครือของการตีความว่าถ้อยคำใด เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ กลับทำให้ผู้พูดต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง และปิดกั้นโอกาสการถกเถียงในประเด็นที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คุกคามต่อสิทธิในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ซ้ำร้ายกฎหมายยังอนุญาตให้บุคคลใด ๆ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ และการไต่สวนคดีมักกระทำอย่างปิดลับ” นอกเหนือจากความเห็นของนายแฟรงค์ ลารู หน่วยงานในสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่าง ARTICLE 19 ก็ได้มีแถลงการณ์ว่า “ARTICLE 19 ต้องการเห็นสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไทย แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังกับรัฐบาลไทยต่อกรณีที่มีการนำกฎหมายหมิ่นฯ และพรบ.คอมฯ ไปใช้อย่างมิชอบ รัฐบาลไทยจะต้องเปิดการรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมเกี่ยวกับตัวบทของ กฎหมายหมิ่นฯ และพรบ.คอมฯ และการใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งรัฐบาลจะต้องแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณี ของไทยที่มีต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)” ภาย หลังกระบวนการทบทวนสิทธิดังกล่าว หลายประเทศสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปมาตรา 112 ทั้งประเทศบราซิล อินโดนีเซีย และแคนาดา ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ขอให้มีพื้นที่เปิดในสังคมไทยเพื่อให้มีการอภิปรายอนาคตของกฎหมายนี้ ใน ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่ามีผู้ถูกจับกุมคุมขังในประเทศไทย เนื่องจากการใช้กฎหมายหมิ่นมาตรา 112 มากน้อยเพียงใด อย่าง ไรก็ตาม มีประชาชนหลายคนที่รอการไต่สวนคดีและได้รับการตัดสินลงโทษไปแล้วตามความผิด ในมาตรา 112 เฉพาะปี 2553 มีรายงานข่าวว่าศาลไทยได้รับพิจารณาคดีหมิ่นฯ ใหม่ 478 คดี เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาละเมิดมาตรา 112 น่าจะมีอยู่หลายร้อยคน ในบางส่วน ได้แก่ 1) นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี เป็นปู่ที่มีหลานห้าคน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ที่มีสภาพเลวร้าย เขาถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์ที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปให้กับเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี นายอำพลเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวสั้น ๆ แต่ในเวลาต่อมาก็ถูกคุมขังอีก ปัจจุบันเขายังป่วยเป็นมะเร็งที่โคนลิ้น เราเชื่อว่าควรมีการปล่อยตัวเขาโดยรีบด่วนเพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล 2) นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล อายุ 48 ปี หรือ “ดาตอร์ปิโด” ถูกกล่าวหาว่าปราศรัยโดยมีถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระหว่างการชุมนุมทาง การเมืองเมื่อปี 2551 ในขั้นการไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนโดยแบบปิดลับ และเธอได้ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 18 ปี ต่อมาได้มีการร้องต่อศาลให้พิจารณาว่าคำสั่งไต่สวนคดีแบบปิดลับสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ นางสาวดารณีมีปัญหาด้านสุขภาพโดยมีอาการขากรรไกรอักเสบรุนแรง ควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้ได้รับการรักษา 3) นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 50 ปี นักกิจกรรมด้านแรงงานและเป็นบรรณาธิการนิตยสารว็อยซ์ออฟทักษิณ เขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 จากการตีพิมพ์บทความสองชิ้น ที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการรอขึ้นศาลและถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว 4) นาย Joe Gordon อายุ 55 ปี คนไทยที่ได้รับสัญชาติสหรัฐอเมริกา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 มีการไต่สวนคดีเป็นนัดแรกและเขาได้รับสารภาพความผิดตามมาตรา 112 ก่อนหน้านั้นเขาได้พยายามขอประกันตัวแต่ถูกปฏิเสธไปทุกครั้ง ความผิดตามข้อกล่าวหาต่อเขาน่าจะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา การที่ประเทศไทยอ้างเขตอำนาจศาลในการจับกุมตัวเขาน่าจะเป็นการละเมิดต่อ สิทธิตามรัฐธรรมนูญของนาย Joe Gordon ในฐานะพลเมืองสหรัฐฯ ใน ฐานะตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาพในเรือนจำของบุคคลทั้งสี่ ข้างต้น และดูแลให้มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอและให้มีความเป็นธรรม เราขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ช่วยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษในคดีหมิ่นฯ ทุกคนโดยทันที เราขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ กระตุ้นให้ทางการไทยเปิดเผยจำนวนนักโทษคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรา ยังขอให้ท่านอ่านและรับฟังความเห็นของนายแฟรงค์ ลารู ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการมีเสรีภาพของการแสดงความเห็นและ การแสดงออก เกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นฯ และพรบ.คอมฯ ในประเทศไทย และเสนอให้มีการใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย
|