ที่มา ประชาไท
"อัปยศ" อ่านว่า อัปยศ แปลว่า ไร้ยศ, ปราศจากยศ; เสื่อมเสียชื่อเสียง, น่าอับอาย ขายหน้า มอบสำหรับการเริ่มต้นให้เด็กชั้นประถม ๑ ใช้แทบเล็ตเรียนหนังสือ ด้วยว่า มือที่จับปากกาหรือดินสอนั้น มักถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจได้หมดจด ไม่แข็งกระด้าง เพราะมิได้กระแทก การกระแทกความคิดผ่านนิ้วนานๆ มีบางส่วนในความเป็นมนุษย์ธรรมชาติสูญหายไป เมื่อเราเริ่มสอนเด็กชั้นประถม ๑ ให้เรียนด้วยแทบเล็ต เขียนด้วยแทบเล็ต เราก็พยายามลงทุนทำให้ความเป็นมนุษย์ธรรมชาติของเด็กในชาติสูญไปทุกฅน ตั้งแต่ยังไม่รู้จักความดีงามแห่งความเป็น 'มนุษย์ธรรมชาติ' นั้นเลย ช่างน่าอัศจรรย์ น่าอปยศ อปมาน แท้
มกุฏ อรฤดี (15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554) |
ทันทีที่รู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายจะแจก Tablet ให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คนละ 1 เครื่อง ผู้เขียนรู้สึกว่านี่คือการลงทุนทางการศึกษาที่อัจฉริยะ และน่าจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เป็นเรื่องเป็นราวกว่าทศวรรษแรก โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่เคยห่างชั้น มากระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กชนบทน่าจะลดลง
ลองจินตนาการถึงห้องเรียนของเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งตามหลักสากลยังถือว่าอยู่ในช่วงปฐมวัย (0-8 ปี) แต่เป็นเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เรียนชั้นอนุบาลแล้ว ห้องเรียนของเด็กปฐมวัยกลุ่มนี้ไม่มีมุมการเรียนรู้ต่างๆเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีมุมนิทาน มุมบทบาทสมมติ มุมวิทยาศาสตร์ มุมภาษา มุมศิลปะ มุมคณิตศาสตร์ มุมบล็อก ฯลฯ โดยมากจะถูกแทนที่ด้วยโต๊ะและเก้าอี้เพื่อให้เด็กกว่า 40 คน นั่งมองครูเขียนกระดานหน้าห้องอธิบายเรื่องราวต่างๆแต่ละวิชา (โชคดีกว่านั้นคือการนำเสนอด้วย PowerPoint) เขยิบมาด้านข้างจะมีบอร์ดนำเสนอสาระความรู้ซึ่งอาจถูกเปลี่ยนเป็นประจำทุก สัปดาห์ ตามวาระพิเศษ หรือค้างอยู่อย่างนั้นตลอดปีการศึกษาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
กล่าวถึงเฉพาะการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ นานาประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เจริญมีการทำมานานแล้ว และทำตั้งแต่เด็กยังอยู่ชั้นอนุบาลอีกด้วย การนำแท็บเล็ตมาเริ่มต้นใช้กับเด็ก ป.1 จึงอาจช้าไปด้วยซ้ำหากพิจารณาว่าปัจจุบันนี้มี app ที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อฝึกลีลามือในการเขียนสำหรับเด็กเล็ก
(http://www.youtube.com/watch?v=h_vUCxF7x38&feature=share) อีกทั้งสามารถบรรจุ e-book ลงไปได้มาก นั่นหมายความว่าห้องสมุดขนาดใหญ่จะติดตัวเด็กไปทุกที่ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ ไหน ผลที่ตามมาคือการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กไม่ต้องผูกติดกับคุณภาพ โรงเรียน คุณภาพครู และสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองอีกต่อไป
การโจมตีเทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ตว่าเป็นความอัปยศโดยไม่พิจารณา ถึงคุณูปการที่เยาวชนรุ่นหลังจะได้รับเพียงเพราะมองว่ากิริยาอาการขณะใช้ แท็บเล็ตทำให้เด็กต้องกระแทกแทนการเขียน ส่งผลให้ความคิดของเด็กแข็งกระด้าง ไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจได้หมดจดนั้น นัยหนึ่งนอกจากจะเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของมนุษย์ที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีขึ้น มาแล้ว ยังแสดงถึงความไม่เข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของเด็กตามธรรมชาติ อีกด้วย
กล่าวคือตามหลักพัฒนาการนั้น เด็กจะเริ่มขีดเขี่ยซึ่งเป็นพื้นฐานของการเขียนตั้งแต่ราวๆ 18 เดือน และถ้าสังเกตพฤติกรรมเด็กให้ละเอียดจะพบว่าเด็กกระหายที่จะเขียนอย่างจริง จังราวๆอายุ 4 ขวบ ขณะที่เด็กหลายๆคนสนุกกับการเขียนในช่วงอายุ 5 ขวบ ซึ่งความรักที่จะเขียนนี้สามารถอยู่ยงต่อไปหากการเรียนรู้ของเด็กคงบรรยากาศ ของการเรียนปนเล่นไว้ได้ ไม่ใช่บังคับให้เด็กนั่งนิ่งๆเพื่อฝึกคัดลายมือให้สวยสมบูรณ์แบบด้วยมือข้าง ขวาเหมือนกันหมด
นอกจากนี้การมีความคิดที่ไม่หยาบกระด้าง หรือการมีความละมุนละไมทางความคิด ไม่ได้เกิดขึ้นจากการฝึกเขียนช่วง ป.1 เท่านั้น หากยังมีช่องทางอื่นอีกมาก เช่น ผ่านสุนทรียสนทนา ผ่านงานศิลปะ ผ่านดนตรี ผ่านการมีน้ำใจนักกีฬา และแม้แต่การได้เห็นหยดน้ำค้างบนใบไม้ยามเช้าก็สร้างความละมุนละไมทางความ คิดได้
ทางการศึกษาปฐมวัยนั้นไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี แต่จะพิจารณาโดยภาพรวมว่าถ้าบางอย่างจะต้องขาดหายไปเพื่อแลกกับบางอย่าง ครู ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่คนอื่นๆในสังคมต้องทำอะไรเพื่อทดแทนให้เด็ก เช่น ถ้าเราจะปฏิวัติการเรียนรู้ด้วยการให้เด็กเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตนให้เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกเร็วขึ้น ผ่านการนำแท็บเล็ตมาเป็นหนึ่งในสื่อการเรียนรู้ (หมายความว่ายังมีสื่ออื่นๆอีกมาก) อะไรบ้างจะหายไป และควรชดเชยด้วยอะไร
กรณีที่กังวลว่าจิตใจเด็กจะกระด้างขึ้น ก็ต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะชดเชยอย่างไร เช่น นำบทร้อยกรองที่ถูกละเลยในอดีตกลับมาบรรจุในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เด็กสามารถเลือกด้วยตนเองได้ว่าเด็กจะเรียนรู้บทร้อยกรองรูปแบบไหน เช่น 1) ฟังเป็นร้อยแก้วแล้วอ่านตาม 2) ฟังเป็นทำนองเสนาะแบบมีเสียงกรับ และสามารถใช้ปลายนิ้วสัมผัส (ไม่ใช่กระแทก) เพื่อฟังพร้อมอ่านคำอธิบายเชื่อมโยงถึงความเป็นมาของกรับ 3) ฟังเป็นทำนองเสนาะแล้วอ่านตาม 4) ฟังการตีความบทประพันธ์โดยอาจารย์ท่านที่ 1 ท่านที่ 2 ท่านที่ 3 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความอัจฉริยะของแท็บเล็ตอาจกลายเป็นความอัปยศทันที หากเป็นเพียงฉากหน้าของการคอรัปชั่น รวมทั้งไม่มีการเตรียมสัญญาณ WiFi ให้ทั่วถึง ไม่มีการจัดทำคู่มือครูในการใช้แท็บเล็ตเพื่อการจัดการเรียนการสอน ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผู้ปกครอง ไม่มีการเตรียมศูนย์ซ่อมบำรุงแท็บเล็ตในโรงเรียน ไม่มีการนำโปรแกรมมาให้ครูใช้ตรวจสอบการคัดลอกงานทางอินเตอร์เน็ตของเด็ก ไม่มีการเฝ้าระวังเรื่องการเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร ไม่มีการสนับสนุนให้นักวิชาการทำวิจัยเพื่อพัฒนา e-book เพื่อการเรียนศึกษา
แท็บเล็ตจึงเป็นบททดสอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคน ใหม่ว่าจะสร้างผลงานที่อัจฉริยะหรือกลายเป็นอีกหนึ่งความอัปยศของการศึกษา ไทย
หมายเหตุ: บทความข้างต้นเป็นทัศนะที่โต้แย้งความคิดเห็นของ มกุฎ อรดี บรรณาธิการ สนพ.ผีเสื้อ และ นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ 2553