ที่มา ประชาไท
"พวกเราทุกคนล้วนเป็นผู้ยึดครอง"
ผู้คนทั่วโลกสดุดีขบวนการยึดครอง (วอลสตรีท) สำหรับการลุกขึ้นเผชิญหน้าความอยุติธรรมและการเรียกร้องความเสมอภาค ณ ใจกลางจักรวรรดิ
แปลจาก "We are all Occupiers" สุนทรพจน์ของอรุณธาติ รอย* (Arundhati Roy) ในกิจกรรมมหาวิทยาลัยประชาชนในวันที่ 16 พฤศจิกายน ณ สวนวอชิงตันสแคร์
ที่มา http://www.guardian.co.uk/commentisfree/cifamerica/2011/nov/17/we-are-all-occupiers-arundhati-roy?fb=native&CMP=FBCNETTXT9038
แปลโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
อรุณธาติ รอย (Arundhati Roy) นักเขียนและนักรณรงค์สตรีชาวอินเดีย
ที่มา: Loker (CC-BY-SA-2.5)
เช้าวันอังคาร ตำรวจกวาดล้างสวนซุคคอตติ แต่วันนี้ผู้คนกลับมา ตำรวจควรรู้ว่าการชุมนุมนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพื่ออาณาเขต เราไม่ได้กำลังสู้เพื่อสิทธิในการยึดครองสวนที่นี่หรือที่ไหน เรากำลังต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความยุติธรรมไม่ใช่แค่ของคนสหรัฐฯ แต่ของทุกคน
สิ่งที่คุณได้บรรลุตั้งแต่ 17 กันยายน เมื่อขบวนการยึดครองได้เริ่มต้นในสหรัฐฯ คือการนำเสนอจินตนาการใหม่ หรือภาษาทางการเมืองอันใหม่ ณ ใจกลางของจักรวรรดิ คุณได้นำเอาสิทธิที่จะฝันกลับคืนมาสู่ระบบที่เปลี่ยนทุกคนให้เป็นผีดิบซึ่ง ถูกทำให้เชื่อว่าบริโภคนิยมไร้จิตใจนั้นสูงส่งเทียบเท่าความสุขและความ สำเร็จ
ในฐานะนักเขียน ฉันขอบอกคุณว่านี่คือการบรรลุครั้งสำคัญ ฉันไม่รู้ว่าจะขอบคุณอย่างไรจึงจะพอ
เราเคยพูดกันเกี่ยวกับความยุติธรรม วันนี้ ขณะที่เรากำลังพูดกันอยู่ กองทัพของสหรัฐฯ ก็กำลังทำสงครามยึดครองอิรักและอัฟกานิสถาน เครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐฯ กำลังเข่นฆ่าพลเรือนในปากีสถานและที่อื่นๆ ทหารของสหรัฐฯ หลายหมื่นนายและทีมสังหารกำลังเคลื่อนเข้าสู่อาฟริกา ถ้าการใช้เงินหลายล้านล้านเหรียญดอลลาร์ของพวกคุณเพื่อบริหารจัดการการยึด ครองอิรักและอัฟกานิสถานยังไม่พอ สงครามต่อต้านอิหร่านก็กำลังสำแดงตัวตน
ตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ในทศวรรษ 1930) เป็นต้นมา การผลิตอาวุธและการส่งออกสงครามกลายเป็นวิธีสำคัญที่ประเทศสหรัฐฯ ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของตน เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงด้านอาวุธมูลค่า หกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กับซาอุดิอาระเบีย มันหวังที่จะขายเครื่องบินทิ้งระเบิดให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรต และได้ขายฝูงบินมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญให้กับอินเดีย ประเทศของฉัน ที่มีคนจนมากกว่าประเทศยากจนในอาฟริการวมกันซะอีก สงครามเหล่านี้ ตั้งแต่การโจมตีฮิโรชิมาและนางาซากิ จนถึงเวียตนาม เกาหลี อเมริกาใต้ ได้เอาชีวิตผู้คนไปหลายล้าน ทั้งหมดล้วนสู้เพื่อประกัน “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน”
วันนี้ เรารู้ว่า “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน” แบบจำลองที่เกือบทั่วโลกถวิลหา ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวน 400 คนครอบครองความมั่งคั่งของประชากรครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ มันหมายถึงประชาชนหลายหมื่นที่ถูกผลักของจากบ้านและงานของพวกเขาขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ไถ่หนี้ให้กับบรรดาธนาคารและบรรษัท เพียง AIG แห่งเดียวได้รับไปกว่าแสนแปดหมื่นสองพันล้านเหรียญ
รัฐบาลอินเดียบูชานโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังจากกว่า 20 ปีของเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี วันนี้ คนที่รวยที่สุดของอินเดีย 100 คนเป็นเจ้าของทรัพยสินมูลค่ากว่าหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่ประชาชนมากกว่า 80% มีชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 50 เซ็นต์ (15 บาท) ต่อวัน ชาวนา 250,000 คนที่ถูกผลักดันออกไปสู่วงจรหายนะได้ฆ่าตัวตาย แต่เราเรียกสิ่งนี้ว่าความรุดหน้า และก็กำลังเรียกตัวเองว่ามหาอำนาจ เหมือนกับคุณ พวกเราก็มีคุณสมบัติพร้อม เรามีอาวุธนิวเคลียร์และความเหลื่อมล้ำที่น่าอดสู
ข่าวดีคือประชาชนรู้สึกพอและจะไม่ยอมรับมันอีกต่อไปได้ ขบวนการยึดครองได้ร่วมกับขบวนการต่อต้านอื่นๆอีกหลายหมื่นทั่วโลกที่ผู้คน ยากจนกำลังลุกขึ้นและหยุดยั้งสิ่งที่บรรดาบรรษัทที่มั่งคั่งกำลังทำ พวกเราบางคนเคยฝันว่าจะได้เห็นพวกคุณ ประชาชนสหรัฐฯ อยู่ข้างพวกเรา และกำลังพยายามทำสิ่งนี้ในใจกลางจักรวรรดิ ฉันไม่รู้จะสื่อสารถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของสิ่งนี้อย่างไร
พวกเขา (พวก 1%) พูดว่าเราไม่มีข้อเรียกร้อง ... พวกเขาอาจไม่รู้ว่าความโกรธเคืองเพียงลำพังก็เพียงพอที่จะทำลายพวกเขา แต่นี่อาจจะเป็น (ข้อเสนอ) บางอย่าง หรือความคิด “ก่อนปฏิวัติ” ไม่กี่ข้อที่ฉันมี เพื่อให้พวกเราได้คิดกับมันร่วมกัน:
เราต้องการยุติการทำงานของระบบที่ได้สร้างความเหลื่อม ล้ำ เราต้องการหยุดยั้งการเติบโตของการสะสมความมั่งคั่งและทรัพยสินที่ไม่สิ้น สุดโดยคนและบรรษัทกลุ่มหนึ่ง ในฐานะ “นักยุติ” และ “นักหยุดยั้ง” เราขอเรียกร้องให้
- หยุดการถือครองข้ามธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตอาวุธไม่สามารถเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ บรรษัทเหมืองไม่สามารถดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์ องค์กรธุรกิจไม่สามารถอุดหนุนมหาวิทยาลัย บริษัทยาไม่สามารถควบคุมกองทุนสาธารณสุข
- ทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภคมูลฐาน พวกน้ำประปา ไฟฟ้า สาธารณสุขและการศึกษาไม่สามารถแปรรูปเป็นเอกชนได้
- พวกเราต้องมีสิทธิในที่อยู่อาศัย การศึกษาและบริการสุขภาพ
- ลูกหลานของคนรวยไม่สามารถรับสืบทอดมรดกความมั่งคั่งของพ่อแม่พวกเขา
การต่อสู้นี้ได้ปลุกจินตนาการพวกเราให้ตื่นอีกครั้ง ที่ไหนสักแห่งระหว่างทางที่ผ่านมา ทุนนิยมได้ลดทอนความคิดเรื่องความยุติธรรมให้มีความหมายเพียง “สิทธิมนุษยชน” และการคิดเรื่องความฝันเกี่ยวกับความเสมอภาคกลับถูกสบดูหมิ่นเย้ยหยาม พวกเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้เสียเวลากับการปฏิรูประบบที่ควรจะถูกแทนที่
ในฐานะนักยุติและนักหยุดยั้ง ฉันขอสดุดีการต่อสู้ของคุณ
Salaam and Zindabad**
--------------------------------------------------------------------------
* อรุณธาติ เป็นนักเขียนและนักรณรงค์สตรีชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลบุ๊คเกอร์ ไพรซ์ จากนวนิยายเรื่อง "The God of Small Things" เธอได้ตีพิมพ์งานเขียนเชิงความยุติธรรมทางสังคมแล้วหลายชิ้น โดยเฉพาะในประเด็นโลกาภิวัฒน์ สิ่งแวดล้อม และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ
**คำลงท้ายบทสุนทรพจน์ Salaam หมายถึงสันติภาพ Zindabad เป็นภาษาอินเดีย ใช้ลงท้ายเพื่อสดุดีสิ่งที่ผู้พูดกำลังกล่าวถึง