ที่มา ประชาไท
14 พ.ย. 54 หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา เสนอ “11มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ: ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย” โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของประเทศไทย ยังเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้าง เช่น การขุดลอกคลอง การผันน้ำเข้าทุ่ง สร้างเขื่อน สร้างฝายชะลอน้ำ ฯลฯ แม้จะสามารถแก้ปัญหาระยะสั้น เห็นผลเร็วได้ แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ ทั้งยังมีส่วนเพิ่มความรุนแรงของปัญหา จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ รวม 11 มาตรการ ประกอบด้วย
1.สร้างระบบทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม (super-express floodway) ที่จะต้องทำเป็นมาตรการแรก เนื่องจากในปี 2533 กทม.มีทางระบายน้ำในฝั่งตะวันออกที่ยังสมบูรณ์ แต่หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายของเมืองจนกั้นทางระบายน้ำของกทม.ทั้งชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิที่ขวางทางน้ำ ดังนั้นวิธีการสร้างทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม จะต้องใช้คลองเดิมที่เชื่อมไปยังเขื่อนพระราม 6 ที่ จ.ชัยนาท โดยเวนคืนพื้นที่ริมคลองข้างละ 1 กิโลเมตร อาทิ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แล้วสร้างถนนสูง 6 เมตรทั้งสองข้างเป็นถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้จะไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย แต่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ตรงนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งแก้มลิง และเป็นพื้นที่ระบายน้ำ โดยจากการคำนวณ สามารถระบายน้ำได้เท่ากับเจ้าพระยา 2 สายรวมกัน ทั้งนี้วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ต้องขุดแม่น้ำใหม่ ส่วนพื้นที่เวนคืนอาจกระทบชาวบ้าน ซึ่งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญก็ควรเร่งทำ
2.ต้องวางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ ควบคุมการถมดินทั้งระบบ ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลองต่างๆ วางระบบการดูแลคูคลองและขุดลอกสม่ำเสมอ
3.ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ ที่จะต้องศึกษาระบบน้ำในปีต่างๆ ศึกษากลุ่มเมฆฝนว่า ปีหนึ่งๆ จะมีฝนตกลงมาเท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีคนทำ แต่ทำไม่ครบ ตรงนี้ต้องแม่นว่าตกที่ไหน ตกเท่าไหร่ ตกเมื่อไหร่ บอกได้ทั้งหมด หลายประเทศทำได้
4.วางแผนพัฒนากทม. และเมืองบริวารในอนาคต ที่จะต้องปิดกั้นการขยายตัวของกทม. เพราะน้ำต้องมีที่ระบายแต่หากเป็นพื้นที่เมืองทั้งหมดก็จะต้องขยายระบบ ป้องกันอีก เหมือนกับต้องขีด กทม.ไม่ให้โตมากกว่านี้ แต่ต้องขยายเมืองอื่นๆ อาทิ จ.ราชบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี ขยายเมืองออกไป แล้วใช้ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามายังกทม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง
5.ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ควบคุมขุด น้ำบาดาล กำหนดระยะเพาะปลูก ออกกฎหมายป้องกันชาวบ้านรื้อคันตามใจชอบ
6.มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผนที่เสี่ยงน้ำท่วม
7.ควบคุมการขุดน้ำบาดาล ควบคุมการทรุดของแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบระบายน้ำดีขึ้น
8.มาตรการแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับการแปรปรวนและผกผันของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร
9.มาตรการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่แก้มลิงให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนในพื้นที่ล่อแหล่มเสี่ยงน้ำท่วม
10.ควรเร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิบัติภัยทั้งระบบ และ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการพิบัติภัยของภาครัฐ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ฝืนคำสั่ง เช่น การรื้อคันกั้นน้ำอย่างที่เป็นอยู่
11.ควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องพิบัติภัยและส่งเสริมงานวิจัยทั้งระบบอย่างจริงจัง เพื่อลดพิบัติภัยด้วยความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
.................................
ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ