ที่มา มติชน
ไม่ว่าจะเป็นการ "หลุด" ออกข่าวว่ามีการผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษผ่าน ครม.เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน
มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ
แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะระบุว่า "พวกที่เอาไปพูดเป็นพวกไม่รักษาความลับ เป็นพวกรัฐมนตรีไม่มีสปิริต เป็นคนไม่ประสีประสา ไม่รู้เรื่องอยากได้หน้านักข่าว"
เช่นเดียวกับ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังจังหวัดสิงห์บุรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทั่งไม่สามารถเดินทางกลับทันประชุม ครม.
ก็มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ
เพราะเรื่องทั้งหมดเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่สามารถเข้าร่วมได้
ทุกอย่างล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
เช่นเดียวกับ การนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษโดยกระทรวงยุติธรรม กระทั่งผ่านความเห็นชอบเพื่อนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีก็เป็นเรื่องลับ
เป็นเรื่องลับในระนาบที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีย้ำว่า "ถ้ารักพระเจ้าอยู่หัว ก็เงียบไว้"
ในที่สุดแล้วจะมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏเป็น 1 ในจำนวน 2.6 หมื่นคนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 ปี 5 ธันวาคม 2554 หรือไม่
ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอคอย
แม้ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เชื่อได้เลยว่าจะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ไม่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน
เหตุผลก็เป็นอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก
"ใครที่นำเรื่องนี้มาวิจารณ์ถือว่าไม่รู้จัก กาลเทศะ เรื่องนี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจ รัฐบาลยังเปิดเผยไม่ได้เพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือมีบทสรุปเช่น ใด หากมาถามผมก็ยังเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นการประชุมลับ"
แม้รัฐบาลจะยังไม่รู้ว่าบทสรุปในขั้นสุดท้ายของร่างพระราชกฤษฎีกาพระราช ทานอภัยโทษจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ รัฐบาลสามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาสะท้อนกลับ
เป็นปฏิกิริยาเหมือนกับที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
นั่นก็คือ การออกมาคัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรงแข็งกร้าวของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
1 ถือเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ 1 เป็นการสร้างวิกฤตรอบใหม่
1 กระบวนการที่ทำมีพิรุธ ไม่โปร่งใส เป็นการแปลงหลักการสำคัญที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด โดยยกหลักการคนทำผิดต้องรับโทษ ต้องสำนึกผิดแล้วจึงให้อภัยโทษออกไป ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก จะเป็นตัวการบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมในประเทศ
เป็นปฏิกิริยาที่ออกมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นายบวร ยสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน
และแถลงการณ์ของกลุ่มสยามสามัคคีที่อ่านโดย พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์
ประสานเข้ากับแถลงยาวเหยียดจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำสำคัญพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
บรรยากาศแห่งสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เริ่มหวนกลับ
แต่เป็นการหวนกลับโดยที่มีร่องรอยแห่งความแตกร้าว แยกกันเดิน และยังไม่อาจประสานและร่วมกันเข้าตีได้อย่างทรงพลัง
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของรัฐบาล ฝ่ายของพรรคเพื่อไทยดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ และเดินหน้ารุกคืบจากการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.ถึงการปรับย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดีขนานใหญ่
ยิ่งกว่านั้น การร่วมมือระหว่างกองทัพกับรัฐบาลก็เป็นไปอย่างราบรื่น สดใส
เป็นไปไม่ได้ที่จังหวะก้าวสำคัญและใหญ่หลวงเช่นนี้จะดำเนินไปโดยมิได้มีการปูทางสร้างเงื่อนไข
อย่างน้อยการปล่อยเรื่องนี้เข้ามาก็เพื่อหยั่ง กำลังของฝ่ายที่ต่อต้านว่ายังเป็นเอกภาพแข็งแกร่งอยู่หรือไม่ หรือว่ามีแต่เสียงดังโฉ่งฉางหากแต่ไร้รากฐานการเข้าร่วมของมวลชนส่วนใหญ่ อย่างแท้จริงและอย่างเป็นจริง
การประลองกำลังอย่างเป็นจริงจึงน่าจะเริ่มภายหลังวันที่ 5 ธันวาคมเป็นต้นไป