'ในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสถาน การณ์บ้านเมืองเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย ทางกองทัพเองไม่ควรเข้าไปยุ่ง กับเรื่องของทางการเมือง และขณะเดียวกันการเมืองก็ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกองทัพเช่นกัน ดังนั้น คมช.จึงมีแนวคิด ที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สมควรเป็นคนกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด และควรจะต้องเป็นทหาร เพราะทหารย่อมเข้าใจในทหาร ทั้งในเรื่องของบุคลากร และกิจการภายในกองทัพ นอกจากนี้ยังส่งผลให้บรรยากาศของการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายดีขึ้น'
คำแถลงของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ถึงสเป๊กของรมว.กลาโหมคนใหม่ ของคมช.ที่ส่งผ่านไปถึงรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลังจากพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะรักษาการประธานคมช. นั่งหัวโต๊ะประชุมคมช.นัดสั่งลา เมื่ออังคารที่ผ่านมา
โดยมีพล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม คนปัจจุบันร่วม แจมด้วย
เปิดสเป๊กท่ามกลางกระแสข่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะควบเก้าอี้รมว. กลาโหม อีกหนึ่งตำแหน่งนอกเหนือจากเก้าอี้ผู้นำประเทศ
ขณะเดียวกัน ภายในพรรคพลังประชาชนเองก็พยายามเสนอบุคคลอื่นเข้ามาประกบ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคและอดีตผบ.สส. หรือลองกระแสพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผบ.ทบ.และผบ.สส.ที่ไม่ได้สังกัดพรรคใด แต่นามสกุลมันฟ้อง และพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา อดีตรมว.มหาดไทยและอดีตผบ.ทอ.
แต่ทั้งหมดถือว่าไม่ผ่านการประเมินของฝ่ายกองทัพ
จึงเกิดความเคลื่อนไหวของบุคคลในกองทัพ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงสเป๊กของบุคคล ที่จะมาคุมกระทรวงกลาโหม เพราะบทบาทนี้ ในอดีตส่วนใหญ่จะมาจากอดีตนายทหารระดับสูง มีเพียงนายชวน หลีกภัย นายกฯ ในขณะนั้นที่นั่งควบรมว.กลาโหม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ จากคนในกองทัพเท่าไหร่นัก
สเป๊กที่คมช.เสนอ จึงถูกโฟกัสไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. ตท.6 ที่ได้รับการผลักดัน จากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา และมีความสนิทสนม กับพล.อ.ประวิตร เมื่อครั้งรับราชการด้วยกันที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ (ทหารเสือราชินี) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)
ประกอบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ยังอยู่ในตำแหน่งผบ.เหล่าทัพ และล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกคมช. ก็พร้อมสนับสนุน
แต่ล่าสุดมีชื่อพล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีตผบ.ทบ. และ อดีตผบ.สส. ตท.3 เข้ามาเป็นตัวเลือกที่สำคัญ
เพราะมีแรงสนับสนุนโดยตรงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมองว่าเป็นคนกลางและประสานงาน ระหว่างกองทัพและฝ่ายการเมืองได้
เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ เกรงว่าหากนำคนที่กองทัพเสนอเข้ามา จะทำให้การเมืองอยู่ใต้อาณัติกองทัพ มากเกินไป
แต่ไม่ว่าพลังการต่อรองจะออกมาอย่างไร บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ได้ให้มุมมองสเป๊กของผู้ที่เหมาะสม ต่อเก้าอี้รมว.กลาโหมคนใหม่ไว้ ดังนี้
พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม มองว่า ผู้ที่จะขึ้นมานั่งตำแหน่งดังกล่าว ควรเป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจงานด้านทหาร และต้องผ่านการเป็นทหารมา ต้องได้รับการยอมรับจากกำลังของในกองทัพ
'ที่สำคัญ ต้องทำให้ทหารอยู่ในกรอบของกองทัพได้ ไม่ใช่ว่าพลเรือนจะเข้ามาเป็นรมว.กลาโหมไม่ได้ แต่ความเหมาะสม และความเข้าใจทหารด้วยกัน จะสู้อดีตนายทหารไม่ได้ ผมไม่ได้เจาะลงว่าต้องเป็นใคร แต่เชื่อว่าคนจะมาคุมกองทัพได้จะต้องสื่อสารภาษาเดียวกัน ต้องเป็นทหาร ถึงจะเหมาะสมที่สุด'
นอกจากนี้ พล.อ.บุญรอด บอกด้วยว่า คุณสมบัติรมว.กลาโหม ต้องเป็นทหารเพราะสถานการณ์ขณะนี้ ี้อยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยน เป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหวได้ง่าย ฉะนั้นคนที่จะมาดูแลกระทรวงกลาโหม ต้องเป็นคนที่ กองทัพมีความศรัทธา ซึ่งได้แก่ อดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพ เพราะแต่ละคนที่ขึ้นมาในระดับสูงล้วน แต่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการความสมานฉันท์ และต้องการให้ประเทศชาติ ิเดินไปด้วยดี
สถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ละเอียดอ่อน ดังนั้น การจะทำให้เกิดสมานฉันท์ต้องฟังกัน
แต่หากจะถามว่าระหว่าง พล.อ.สมทัต กับ พล.อ.ประวิตร ใครเหมาะสมจะเป็นรมว.กลาโหม ในสถานการณ์เช่นนี้มากกว่า ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นได้ทั้งคู่ เพราะเป็นที่ยอมรับของกองทัพอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก
ขณะที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. ระบุว่า ความละเอียดอ่อนระหว่างพลเรือน กับทหาร มีสิ่งแตกต่างให้เห็น ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำสูงสุดในกองทัพเวลานี้ เห็นว่าคนที่จะก้าวเข้ามารับหน้าที่ รมว.กลาโหม ต้องมีบารมีพอและได้รับการยอมรับจากกองทัพ การที่เป็นทหารเข้ามาดูแล บังคับบัญชาทหารด้วยกันจะมีความเข้าใจได้ง่าย
ดังนั้น หากฝ่ายรัฐบาลถามไถ่ทางกองทัพมา ต้องเสนอแนะว่าควรตัดสินใจให้ถูก แต่เรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาล ต้องมีความเข้าใจว่าควรจะทำอย่างไรที่เหมาะสม เพราะบางจุดละเอียดอ่อน บางจุดปกติอาจจะไม่ละเอียดอ่อน แต่เวลาเช่นนี้อาจจะต้องละเอียดอ่อน ซึ่งตำแหน่งรมว.กลาโหม น่าจะเป็นจุดที่ละเอียดอ่อนพอสมควรในเวลาเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องคิดให้รอบคอบ
ส่วนที่มีการเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. เป็นรมว.กลาโหม ขึ้นอยู่ที่รัฐบาล จะต้องพิจารณา ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ก็เห็นว่าเหมาะสม เพราะเคยผ่านการเป็นผบ.ทบ. คนที่เป็นผบ.ทบ. ได้รับการคัดเลือกมาแล้วอย่างถูกต้องตามขั้นตอนต่างๆ และท่านเป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพ ระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง มีความ สร้างสรรค์ และมุ่งมั่นในการทำงาน
'เพราะหาก รมว.กลาโหม เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจจิตใจของทหาร จะทำให้การปฏิบัติภารกิจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะในห้วงนี้มีปัญหาหลายอย่างซับซ้อน และมีเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งนั้น โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องได้ผู้ที่เข้ากับคุณสมบัติดังกล่าวได้มากที่สุด'
พล.อ.บุญสร้างมองว่า ความรู้เรื่องการทหาร เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่กองทัพต้องการคนที่มีความรู้เป็นอย่างดี และเป็นที่นิยมชมชอบของคนในกองทัพ เข้าใจจิตใจของทหารเป็นอย่างดี เนื่องจากจะต้องปฏิบัติภารกิจในหลายมิติ ดังนั้น หากได้คนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้มากที่สุดกองทัพพร้อมให้การสนับสนุน เพราะทหารมีวินัย
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เชื่อว่า ทางการเมืองคงทราบดีว่า สิ่งที่กองทัพอยากได้ สิ่งที่กองทัพต้องการเห็นความสมานฉันท์ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาเป็นรมว.กลาโหม น่าจะเป็นทหาร ที่มาจากคนกลาง เพื่อการประสานระหว่างกองทัพกับรัฐบาลได้ คนนั้นต้องมีบารมีความเหมาะสมได้รับความน่าเชื่อถือ จากสถาบันทหารและมีความสามารถ
พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงกับสถานการณ์บ้านเมือง ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะรมว.กลาโหม ต้องยอมรับว่าการเมืองมีโอกาสแทรกแซงกองทัพ แต่กองทัพ จะต้องควบคุมกำลัง มีคุณธรรมและความยุติธรรม สามารถปกป้องกองทัพได้ สำหรับการพิจารณาผู้ที่จะมา เป็นรมว.กลาโหม จะต้องเป็นบุคคลที่เหมาะสม มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถควบคุมกองทัพได้อย่างสง่างาม ได้รับการยอมรับ และคุณธรรมในการปกครองกองทัพ
สุดท้าย พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. เผยว่า สเป๊กรมว.กลาโหม ในสายตาของผม ควรเป็นคนที่มี ความเข้าใจทหารอย่างแท้จริงและเป็นทหารเก่าได้ การทำงานจะง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทำงานร่วมกับ รัฐบาล หรือสนับสนุนรัฐบาลก็จะง่ายและพูดกันรู้เรื่องขึ้น เราไม่ได้ปิดกั้นพลเรือนที่จะเข้ามานั่ง หากบุคคลที่เหมาะสม กับเนื้องาน เข้าใจกองทัพ ก็ควรจะต้องเป็นทหารเก่า
หากถามว่าระหว่าง พล.อ.สมทัต กับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นอดีตผบ.ทบ.ทั้งคู่ ใครเหมาะสมกว่านั้น เรื่องทหารบกผมไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ดีทั้งนั้น ถ้าเป็นทหาร เพราะเราพูดกันรู้เรื่อง พูดคำหนึ่งอีกฝ่ายก็เข้าใจแล้วว่าคืออะไร ถ้าเผื่อว่าไม่ใช่ทหาร อาจจะต้องอธิบายกันนานหน่อย ว่าอาวุธเป็นอย่างไร มันเสียเวลา หรือบางครั้งอาจจะสื่อกันผิด