หลังจาก ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควรเป็นทหาร เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมธนารักษ์ ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมที่ดิน ไปประชุมร่วมกันแล้วมีมติออกมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควรเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
บรรยากาศทางการเมืองของไทยคงดูไม่จืด
คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ แล้วจะต้องมีพรรคการเมืองไปทำไม แล้วจะต้องมีการเลือกตั้งไปทำไม
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จะไม่เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่าหรอกหรือ
คำถามเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พลันที่โฆษกคมช. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมาแถลงยาวเหยียดในเรื่อง "มติ" จากที่ประชุมของคมช. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เกี่ยวกับการกำหนดสเป๊กของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เพราะว่าประธานคมช. พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ
เพราะว่าเลขาธิการคมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
เพราะว่าผู้ช่วยเลขาธิการคมช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก
เพราะว่าสมาชิกคมช. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เพราะว่าสมาชิกคมช. พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ
เมื่อใดที่คนระดับ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มาประชุมร่วมกันและมีมติอันสะท้อนความเห็นร่วมเสนอสู่สาธารณะ
ย่อมเป็นเรื่อง
เป็นเรื่องหากข้าราชการระดับสูงของแต่ละกระทรวงจะเกิดโรค "ลัทธิเอาอย่าง" และกำหนดสเป๊กรัฐมนตรีกระทรวงของตนออกมาเหมือนกับที่ "คมช." ได้เสนอออกมาแล้วบ้าง
ตอนที่มีการหารือในที่ประชุมคมช.บรรดาสมาชิกคมช.คงไม่ได้คิดอะไรให้ซับซ้อน เพียงแต่ต้องการกำหนดสเป๊กรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน 1 ในการตัดสินใจของพรรคพลังประชาชนเท่านั้น
แต่ท่านเหล่านี้ลืมนึกไปว่า "กาละ" ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
นั่นก็คือ คมช.มิได้อยู่ในสถานการณ์ที่เพิ่งแปรเปลี่ยนจากคปค.มาเป็น คมช. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549
ตรงกันข้าม นี่เป็นสถานการณ์ในวันที่ 22 มกราคม 2551
เป็นสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป สมัย 23 ธันวาคม 2550 ได้ผ่านพ้นมาแล้วด้วยความคึกคัก
เป็นความคึกคักที่ประชาชนเลือกคนของพรรคพลังประชาชนมามากถึง 233 คน
จำนวนส.ส.ที่พรรคพลังประชาชนได้มาโดยการเลือกของประชาชนนั้นเองคือฉันทานุมัติที่ประชาชนมอบให้พรรคพลังประชาชนมาบริหารราชการแผ่นดินตามที่ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้
ตรงนี้ต่างหากที่เหล่าคมช.ทั้งหลายขาดความสำเหนียก
เมื่อขาดความสำเหนียกก็ย่อมจะทำอะไรเร่อร่าออกมาอันเท่ากับเป็นการฟ้องให้เห็นถึงอาการของความเข้าใจผิดอย่างเด่นชัด
หากคมช.สามารถทำเช่นนั้นได้แล้วทำไมจะต้องมีการเลือกตั้งของประชาชนเล่า
เพราะบทบาทของคมช.คือเงาสะท้อนแห่งความคิดอำมาตยาธิปไตย คือเงาสะท้อนความคิดที่ติดอยู่กับความเคยชินในระบบราชการ มองไม่เห็นถึงสิทธิและเสียงของประชาชน
ตรงนี้แหละคือพลังแฝงที่ดำรงอยู่ภายหลังสถานการณ์ "รัฐประหาร"