WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, June 24, 2008

76 ปีที่ยังสั่นคลอนพันธมิตรบิดเบือน ปชต.

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

24 มิถุยายน 2475 เป็นวันที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นครั้งแรก แต่จนถึงขณะนี้ ผ่านไป 76 ปี การตีความคำว่าประชาธิปไตยก็ยังไม่แตกฉาน เหมือนคนบางกลุ่มที่ออกมาเกะกะระราน ด้วยการอ้างสิทธิประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้...

ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎรได้นำทหารบกและทหารเรือ มารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2,000 คน โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม

จากนั้น นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปจับกุมบุคคลสำคัญ เช่น ผู้สำเร็จพระนคร พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ เพื่อทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

หลักฐานหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดีคือ “หมุดคณะราษฎร” ที่ถูกฝังไว้บนถนนหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คณะราษฎรยืนอ่านแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในประเทศไทย ดังข้อความที่ปรากฏบนหมุดคณะราษฎรว่า “ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ ๒๔ มิถุนายน เวลาย่ำรุ่ง”

แม้จะเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองมาแล้วกว่า 76 ปี แต่การต่อสู้ทางการเมือง ทางความคิดอุดมการณ์ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่นำไปสู่การทำรัฐประหารแล้วถึง 10 ครั้ง ความบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจากกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้น ณ ถนนสายประวัติศาสตร์ราชดำเนิน สร้างความสะบักสะบอมมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน และกลิ่นอายคราบเลือด คราบน้ำตา ก็ไม่เคยเหือดแห้งไปจากถนนสายนี้เลย...

เพราะปัญหาความแตกแยกความคิดเห็นทางด้านการเมือง ยังคงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย และทวีความรุนแรง จนน่าจะนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด หรืออาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ โดยที่มิได้นำประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้วมาเป็นบทเรียนเลยแม้แต่น้อย

เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติ ได้ออกประกาศ เรียกว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อ้างเหตุผลความจำเป็นในการต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยระบุถึงการจัดรูปแบบการปกครองอย่างเป็นระบบแบบเดียวกับนานาอารยประเทศ

พร้อมทั้งให้คำมั่นว่า “ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ”

ในครั้งนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎร ที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

โดยในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม...

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงจนเป็นเหตุให้คนไทยต้องจับอาวุธขึ้นมาห้ำหั่นกันเอง เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นแล้วถึง 11 ครั้ง เหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏ และเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ อาทิ เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก หรือการก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2508 จนถึงสิ้นปี 2531 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน

เวลาที่ผ่านล่วงเลยมาถึง 76 ปี ความยากลำบากกว่าจะได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของขุนพลคนกล้า มิได้นำพามาซึ่งความเจริญก้าวหน้า หากแต่วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองดังเช่นที่คณะราษฎรได้หยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการปฏิวัติ ก็ยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนทุกประการ โดยเฉพาะการทำตนอยู่เหนือกฎหมายของคนบางกลุ่มบางพวก

การที่คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เรียกชื่อกันต่อมาว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ตัดสินใจร่วมกันก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น มีข้ออ้างว่า ทหารจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยที่มีความคิดเห็นทางด้านการเมืองแตกต่างกันจับอาวุธขึ้นมาฆ่ากันเอง ระหว่างฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ กับฝ่ายสนับสนุนที่เป็นพวกของ พ.ต.ท.ทักษิณ

เมื่ออำนาจรัฐที่มาจากระบอบเผด็จการทหาร ไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ มิได้เป็นอำนาจที่มาจากประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงจำเป็นที่จะต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน

ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 23 ธันวาคม 2550 เมื่อพรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ โดย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ความคิดเห็นทางการเมืองได้เกิดความแตกแยกขึ้นอีกครั้ง ระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กล่าวหาและมองว่า พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และดูเหมือนความขัดแย้งดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง

เพราะจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลสมัครที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต่างกันกับการขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มพันธมิตรฯ ที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่ม ได้ใช้มาตรการ “ชุมนุมใหญ่” เพื่อกดดันและขับไล่นายกรัฐมนตรี และคนกลุ่มนี้ไม่เคารพซึ่งกติกาบ้านเมือง ไม่รู้จักคำว่า “ความพ่ายแพ้” แม้คนกลุ่มนี้จะขับไล่รัฐบาลได้สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะเปลี่ยนได้แต่รัฐบาล

ซึ่งก็เป็นเพียงผู้บริหารระบอบเท่านั้น ไม่ได้นำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะในเมื่อผู้ที่พยายามขับเคลื่อนไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ก็จะไม่ได้ประชาธิปไตยตามที่ต้องการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมือง เฉกเช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พฤษภาทมิฬ และรัฐประหาร 19 กันยายน สุดท้าย ประชาชนคือผู้ที่ได้รับความบอบช้ำทางการเมืองมากที่สุด

สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ กำลังดำเนินการ ถือเป็นองค์การมวลชนของระบอบเผด็จการรัฐประหาร ที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ทหารทำรัฐประหารโค่นรัฐบาล ก็เท่ากับเผด็จการชนะ แต่ประชาชนก็ยังคือผู้พ่ายแพ้อยู่ดังเดิม

ความพยายามของกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มต้นที่การรวมตัวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอน ส.ส. ส.ว. ที่เข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 พร้อมทั้งกล่าวหาถึงขบวนการสาธารณรัฐ ที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์

จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปปักหลักยังหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ติดอยู่เพียงแค่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นไว้ อีกทั้งท้ายขบวนยังมีการปะทะกับกลุ่มผู้ต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย

ต่อมา กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศเปลี่ยนเป้าหมายในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสมัครลาออกทั้งคณะ เพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น และยังกล่าวหาด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากนั้น นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขึ้นเวทีปราศรัย แล้วประกาศต่อสู้กับรัฐบาลสมัครขั้นแตกหัก ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ออกมาย้ำจุดยืนว่า จะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ และจะไม่ย้ายสถานที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล แม้ตำรวจจะเปิดทางให้ก็จะไม่ไป

ต่อมา วันที่ 6 มิถุนายน 2551 พันธมิตรฯ ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย นายสุริยะใส กตะศิลา และผู้ร่วมชุมนุม 300 คน เดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด แล้วยื่นจดหมายถึง นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด จากนั้นเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือถึง ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลและแก้ปัญหาของประชาชนมากกว่าการโต้ตอบทางการเมือง

รวมทั้งยังเดินทางไปชุมนุมประท้วงที่ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อถามหาความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นมาชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขับไล่ นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามกรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร

และล่าสุด พันธมิตรฯ ประกาศสงคราม 9 ทัพ เคลื่อนพลฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยึดพื้นที่ปักหลักด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เป็นผลสำเร็จ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้ายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ก่อน ซึ่งนำโดย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายพิภพ ธงไชย ได้เข้าไปสมทบกับขบวนชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เข้ากดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจจนถอนกำลังออกไป

จากนั้นได้รวมพลทั้งหมดมายังสะพานชมัยมรุเชฐ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องล่าถอยออกไปอีกจุดได้เป็นผลสำเร็จ ล่าสุด แกนนำได้ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะต่อการเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ และปราศรัยอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 เวที โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอยู่อย่างใกล้ชิด

ความต้องการที่จะเอาชนะทางการเมืองโดยไม่เคารพกฎหมายใดๆ ของบ้านเมืองเช่นนี้ มีเหตุอันเชื่อได้ว่า เป็นการกระทำของพวกที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง และไม่เคารพในทั้ง 3 สถาบัน

ครั้งหนึ่งเราเคยเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย เหตุใดเล่า เราจึงไม่ทำให้ประชาธิปไตยดำเนินไปตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญ

จงหยุดคุกคามกระบวนการประชาธิปไตย