คอลัมน์ : โต๊ะข่าวประชาทรรศน์
ใครที่ได้ชมการถ่ายทอดสดการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสมาชิกวุฒิสภา 61 คน แล้วน่าจะคิดเหมือนผมว่า ถึงแม้จะไม่ได้มีสาระอะไร แต่ก็ออกจะเพลิดเพลินดี
อาจจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่บันเทิงที่สุด ตั้งแต่ผมริอ่านติดตามข่าวสารการเมืองมาเลยทีเดียว
เอาเฉพาะแค่เห็น ส.ว. 2 ท่านแรกอภิปราย ก็ได้ฮากันเสียแล้ว เพราะทั้ง คำนูณ สิทธิสมาน และ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ออกมาอ่านคำอภิปรายชนิดคำต่อคำ ครบถ้วนทุกตัวอักษร
ทีแรกก็แอบขัดใจอยู่ว่า ทำไมประธานวุฒิสภาถึงได้ปล่อยให้สมาชิกออกมาอ่านบทความได้เป็นนานสองนาน เพราะมันผิดข้อบังคับสภา
ด้วยประการหนึ่ง การจะนำอะไรมาอ่านจะต้องขออนุญาตจากประธานในที่ประชุมเสียก่อน และอีกประการหนึ่งคือ จะอนุญาตให้อ่านได้เฉพาะเอกสารอื่นที่นำมาอ่านอ้างอิงประกอบคำอภิปรายเท่านั้น
ไม่ใช่เป็นการเขียนบทมาอ่าน หรือมาพูดตามโผที่อาจจะมีใครร่างมาให้
ที่สำคัญ ท่านเป็นวุฒิสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ไม่ใช่นกแก้ว นกขุนทอง ที่จะออกมาพูดจาเจื้อยแจ้วไร้อารมณ์เช่นนี้
โดยเฉพาะในราย ม.ร.ว.ปรียนันทนา ท่านอ่านไปมือก็สั่น เสียงก็สั่น ไม่รู้จะด้วยวัยของท่าน หรือเป็นเพราะประหม่าก็ไม่รู้ได้ เพราะในบางท่อนบางตอน ก็ยังอ่านโผที่ท่านนำมาเองผิดๆ ถูกๆ เอาดื้อๆ
ส่วนในรายของ คำนูณ สิทธิสมาน ได้เห็นสีหน้าตอนที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลุกขึ้นมาชี้แจง พร้อมทั้งสอนมวยเข้าให้แล้ว ก็สุดจะเดาความรู้สึก
พรรคพวกที่ดูการอภิปรายอยู่ด้วยกันบอกว่า หน้านิ่งๆ อย่างนั้นสงสัยจะเคียดแค้นน่าดู
แต่สำหรับผมกลับมองว่า อาการอย่างนี้ เป็นอาการหน้าถอดสีที่ออกอาการหงอย และ “จ๋อย” อย่างเห็นได้ชัด
เพราะเรื่องที่อ่านให้ที่ประชุมสภาฟัง พร้อมทั้งถ่ายทอดไปทั่วประเทศนั้น โดนตอกกลับด้วยเหตุด้วยผลอย่างชัดแจ้งจนถึงกับหน้าหงาย
ลำพังแค่เรื่องพื้นๆ อย่างที่ท่านนายกฯ ย้อนที่มาที่ไปของ “นายคำนูณ” ก็โดนใจผมเสียแล้ว
เพราะคงเป็นที่รู้กันดีว่า นายคำนูณ เป็นคนจากค่ายผู้จัดการ ที่ฝังรากอยู่กับ สนธิ ลิ้มทองกุล มายาวนาน
มีอาชีพในการเขียนบทความ และจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ด่ารัฐบาล ตามแนวทางเดียวกันกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ได้ดิบได้ดีเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมีโอกาสอันสำคัญในการร่วมผ่าน รธน.50 ท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการ
และเมื่อมีการสรรหาวุฒิสมาชิกกึ่งหนึ่งเข้าสู่สภา โดยกรรมการสรรหาที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร ก็มีชื่อของคำนูณกลับเข้ามามีบทบาทในสภาอีกครั้ง
เป็นที่มาแบบเดียวกันกับ ส.ว. เกือบทั้งหมด ที่ร่วมกันลงชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผมเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคงไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไรที่จะต้องตอบคำถามที่มีความพยายามกล่าวหาเหล่านี้ แต่อาจจะดูเป็นเรื่องน่ารำคาญใจมากกว่า ในความพยายามที่มีการดำเนินการกันเป็นขบวนการ
ขณะเดียวกัน ในการอภิปรายช่วงบ่าย ที่วุฒิสมาชิกบางคนออกมาติงว่า เป็นเวทีอภิปรายรัฐบาล ไม่ใช่การให้รัฐบาลอภิปรายสมาชิกวุฒิสภานั้น
ผมกลับมองกลับกันว่า การตอบคำถาม และย้อนกลับไปที่ความไม่ถูกต้อง ความคลาดเคลื่อนในการอภิปราย ก็เป็นเพียงคำชี้แจง
หรือหากจะมองให้มากไปกว่านั้น ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการสอนมวย ที่เกิดจากการเปิดช่องโหว่ หรือการอ่อนซ้อมของผู้อภิปรายเอง
เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่บรรดา ส.ว. ทั้งหลาย มีข้อมูลเพียงบางๆ จะถูกตอบโต้ หรือบางเรื่องก็เข้าขั้นรู้ไม่จริง จะถูกตอกกลับไปบ้าง
ส่วนประเด็นที่จั่วเอาไว้ข้างต้นนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความคำว่า “จ๋อย” ไว้ว่า เป็นอาการ ซีดเซียว หงอยเหงา สลด อย่างเช่น “หน้าจ๋อย”
เป็นคำอธิบายกิริอาการของ คำนูณ สิทธิสมาน ในยามฟังการชี้แจงของ สมัคร สุนทรเวช ได้เป็นอย่างดี
และไม่เห็นมีท่าทีเก่งกาจเหมือนเวลาที่แสดงบทบาทอยู่นอกสภาแม้แต่น้อย
ทางที่ดี ลาออกไปร่วมกับเวทีม็อบนอกสภา ดูท่าจะมีอนาคตกว่ากันเยอะ...!!
บิ๊กโบ๊ต