คอลัมน์: ฮอตสกู๊ป
ข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพีร่ประชาธิปไตย ที่เปิดประเด็น “การเมืองใหม่” ขึ้นมาท่ามกลางการปรับยุทธวิธีต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อหาหนทางในการเอาชนะคะคานและขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นั้น
‘ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์’ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐฮาวาย กล่าวถึงประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ โดยวิพากษ์ข้อ การเมืองแบบ 70: 30 เอาไว้อย่างงน่าสนใจ
ดูเหมือนว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะมีข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นใหม่ขึ้นมาทุกวัน ล่าสุด มีการเสนอการเมืองแบบใหม่ แบบ 70: 30 มีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ ?
เท่าที่ได้ฟังทางกลุ่มพันธมิตรพูด โดยเฉพาะคุณสุริยะใส พยายามจะบอกว่า ปัญหาของการเมืองไทยตอนนี้เกิดขึ้นจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป ต้องหาทางออกโดยการกันอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตร ก็คือ ต่อไปในในอนาคต นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งจะลดลงให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากการแต่งตั้ง แต่ว่าจะแต่งตั้งด้วยวิธีไหนก็ยังไม่มีการออกมาพูดให้ชัดเจน
แนวคิดนี้ ในแง่รัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เท่าที่จำได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มี 2 ครั้งแล้วที่มีข้อเสนอแบบนี้ ครั้งแรกในช่วงปี 2523 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตอนนั้นเป็นแกนนำของกลุ่มทหารประชาธิปไตย มีความใกล้ชิดกับนักวิชาการบางกลุ่มที่ทำงานให้กับรัฐ คือ คุณประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ได้เสนอแนวความคิดนี้ โดยปัญหาของการเมืองไทย คือ รัฐสภาและคนที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป ระบบเลือกตั้งทำให้นายทุนนักธุรกิจเข้ามามีอำนาจผ่านรัฐสภา ต้องหาทางออกจากระบบเลือกตั้ง ด้วยการเอาระบบแต่งตั้งเข้ามาคาน โดยเอาทหารเข้ามาแทน
ครั้งที่สอง ปี 2536-2537 อ.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช ได้เสนอแนวความคิดนี้เหมือนกัน ว่าปัญหาของการเมืองไทยเกิดจากสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมาก ทางออกคือ ให้ตั้งสภาขึ้นมาซึ่งไม่ใช่ วุฒิสภา ใช้คำว่า ‘สภากระจก’ มีการแต่งตั้งตัวแทนคนกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา เอาสภานี้ขึ้นมาคุมอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น ภาพรวมที่กลุ่มพันธมิตรฯ พูดว่าเป็นการสร้างการเมืองใหม่ จริงๆแล้วไม่ได้ใหม่ เป็นการนำแนวคิดที่เคยเสนอขึ้นมาแล้วโดยทหาร โดยชนชั้นนำ ที่พยายามจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่ดีโดยการเอาการแต่งตั้งขึ้นมาคุมอีกทีหนึ่ง ตรรกะจะเป็นเช่นนี้ตลอดเวลา
ในแง่ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ถูกเสนอโดยคนกลุ่มที่เป็นชนชั้นสูง ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น กรณี พล.อ.ชวลิต ก็เสนอในนามของทหารประชาธิปไตย ด้วยเงื่อนไขในปี 2523 เราเริ่มมีรัฐบาลที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเริ่มมีอำนาจมากขึ้น พล.อ.ชวลิต ในเวลานั้น เป็นแกนนำของกลุ่มทหารหนุ่มที่พยายามจะเข้ามาแทรกแซงการเมือง ก็เลยเสนอแนวความคิดแบบนี้ว่า พรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช้ตัวแทนภาค
ประชาชนจริงๆ ในกรณีของ อ.ชัยอนันต์ เรื่องสภากระจก ก็มีวิธีคิดแบบนี้เหมือนกัน ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้มีเบื้องหลังมาจากทหารกลุ่มชนชั้นสูงกลุ่มชนชั้นนำมาเป็นเวลา 30 ปี
แล้วแนวคิดเบื้องหลังในกรณีของพันธมิตรฯ คืออะไร?
คนที่พยายามเสนอแนวความคิดนี้ ไม่เข้าใจว่า ข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมการเมืองไทยมันจะถูกตั้งคำถามคล้ายกันทุกสมัย ว่าจะเอาอำนาจจากไหนมาตั้งคนกลุ่มหนึ่ง อำนาจนี้มาจากใคร คนที่ตั้งมีความชอบธรรมในการตั้งคนอื่นแค่ไหน
ในกรณีของ พล.อ.ชวลิต ในนามทหารประชาธิปไตย มันชัดเจนว่า คนที่จะตั้งผู้แทนกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือ ‘ทหาร’ ในสมัย อ.ชัยอนันต์ คนที่จะมีอำนาจในการตั้งสภากระจก ก็คือกลุ่มนักวิชาการกลุ่มผู้รู้หรือที่เรียกว่า ‘อภิชนาธิปไตย’ เป็นพวกอภิชน
ในกรณีของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่พูดให้ชัดเจน พันธมิตรฯ ก็รู้ว่าเรื่องการเมืองใหม่จะออกมาพูดให้ชัดเจนไม่ได้ เพราะยิ่งพูดชัดเจนเท่าไร พันธมิตรฯ ก็จะยิ่งเสียในทางการเมืองมากขึ้น เพราะจะต้องถูกตั้งคำถามว่า ‘แล้วคนที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาชนจำนวนมากไม่สำคัญหรืออย่างไร’ หรือคำถามที่สำคัญคือ ‘ใครจะเป็นคนเลือกว่าคนกลุ่มไหนจะเป็นตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ’ สมมติมีความพยายามสร้างการเมืองใหม่อย่างที่กลุ่มพันธมิตรฯ ว่าจริง
ถ้าพันธมิตรฯ บอกว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวแทนของวิชาชีพสื่อมวลชนจะได้หรือเปล่า ในที่สุดปัญหาของการเลือกแบบนี้ ก็คือพยายามอ้างว่าตัวแทนจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ได้เป็นตัวแทนจริงๆ แล้วบอกว่าความเป็นตัวแทนที่แท้จริง คือการเอาตัวแทนมาจากอาชีพต่างๆ ปัญหาคืออาชีพต่างๆไม่ได้มีการจัดตั้งทางการเมือง ในบางอาชีพที่มีการจัดตั้งทางการเมือง โครงสร้างการจัดตั้งอยู่กับคนไม่กี่คน เป็นคนเด่นดัง เป็นผู้มีอิทธิพลในอาชีพนั้น เช่น ตัวแทนสื่อมวลชน ถ้าเป็นตัวแทนอย่างคุณสนธิ จะถือว่าเป็นตัวแทนนักข่าวที่ทำงานในภาคสนามได้หรือเปล่า
วิถีชีวิตต่างกัน ความเชื่อต่างกัน ฐานเศรษฐกิจต่างกันมหาศาล แนวทางแบบนี้อ้างว่าเอาวิชาชีพต่างๆ เข้าสู่สภาโดยตรงมีพลังในบางระดับ ทำให้คนเด่นคนดังในอาชีพต่างๆ คิดว่า จะเข้าไปอยู่ในสภาได้แล้วต่อให้ไม่เคยลงเลือกตั้งไม่มีคนรู้จักนอกวิชาชีพก็ตาม คนจำนวนมากอาจเคลิ้ม เช่น คนที่อยู่ในองค์กรจัดตั้งที่มีการรวมกลุ่มมาแล้วอย่างดี เช่น องค์กรครู องค์กรเกษตรกรบางกลุ่ม
ทำให้ผู้นำบางคนรู้สึกว่าเราจะเข้าไปอยู่ในสภาได้ คำถามก็คือจะรู้ได้อย่างไรว่า คนแต่ละคนเป็นตัวแทนคนในอาชีพนั้นจริงหรือเปล่า โดยในเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่ สังคมเราเป็นสังคมที่ปราศจากการจัดตั้งประชาชนเป็นกลุ่มก้อน เช่น ส.ว.สรรหาชุดนี้ชัดเจนในกรณีของคุณคำนูณ สิทธิสมาน เข้าไปสู่การเป็น ส.ว. ด้วยโควตานักวิชาการ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเข้าไปด้วยโควตาสื่อมวลชน ซึ่งไม่รู้ว่าคุณคำนูณเป็นนักวิชาการตั้งแต่เมื่อไร
แนวคิดการเมืองแบบพันธมิตรฯ จะก้าวหน้า หรือล้าหลัง เหมาะกับประเทศไทยของเราหรือไม่อย่างไร ติดตามบทสรุปกันในวันพรุ่งนี้