คอลัมน์ : โต๊ะข่าวประชาทรรศน์
หมดอายุไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. โดยมีพิธีอำลาและส่งงานต่อให้ ป.ป.ช. อย่างเอิกเกริก ทั้งกิจกรรมในตอนกลางวันที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ และงานเลี้ยงในตอนกลางคืนที่สโมสรกองทัพบก
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คตส. ที่เคยบ่นยากจนนักหนา เอาเงินที่ไหนมาจัดงานเลี้ยง จัดงานอำลากันยิ่งใหญ่ หรือจะมีสปอนเซอร์อย่างที่เป็นข่าวอย่างนั้นหรือเปล่า
มี คมช. เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงจริงไหม แล้วทั้งธรรมศาสตร์ และกองทัพบก เอื้อเฟื้อให้ใช้สถานที่ฟรีๆ ไม่คิดสตางค์ ทั้งที่ปกติต้องมีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาทอย่างนั้นหรือเปล่า
รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงจะต้องถ่ายทอดยาวเหยียด ทั้งที่กิจกรรมบนเวทีมีแค่การร้องเพลงปลุกระดม และการประกาศเกียรติคุณคนแค่ไม่กี่คน ที่ไม่เห็นว่าจะสลักสำคัญกับชาติบ้านเมืองที่ตรงไหน
ประเด็นนี้มีคนอธิบายง่ายๆ ว่า อาจเป็นเพราะคลอดออกมาจากที่เดียวกัน ทีแรกก็เข้าใจว่าจะหมายถึง แก้วสรร อติโพธิ หนึ่งในกรรมการ คตส. กับ ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้อำนวยการสถานี แต่คิดดูอีกทีก็อาจหมายถึงการที่ทั้ง 2 องค์กรเกิดขึ้นจากเงื่อนไขอำนาจเผด็จการหมือนกัน
ทั้งยังมีเอกสารเล่มหนา “ปัจฉิมบท คตส.” ที่ลงชื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าใจว่าคงจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ในเล่มมีเนื้อหาการทำงานตลอดระยะเวลา 1 ปี 9 เดือนที่ผ่านมา แม้จะช่วยทำให้มองเห็นชัดมากยิ่งขึ้นว่าองค์กรนี้ตั้งขึ้นมาทำไม เจาะจงตรวจสอบใคร ตรงไหน เป็นการเฉพาะบ้าง แต่ก็ยังพอเป็นเรื่องอนุโลม ที่คิดว่าคงอยากจะอวดอ้างผลงานกันบ้าง
แต่จะมาเสียดายก็ตรงที่ 50 หน้ากระดาษ ที่ต้องหมดไปกับการลงประวัติและบทสัมภาษณ์ คตส. เพียงไม่กี่คน ซ้ำยังเพิ่มค่าใช้จ่ายด้วยการตีพิมพ์เป็นหน้า 4 สี
ที่สำคัญ ในเอกสารฉบับนี้ยังฟ้องตัวเองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่กำหนดให้มีกรรมการ 2 คน แต่ที่สุดก็มีกรรมการตัดสินใจลาออกไปเสีย 2 คน คือ นายสวัสดิ์ โชติพานิช และ นายจิรนิติ หะวานนท์ เพราะทนกระแสต่อต้านของสังคมไม่ไหว
ขณะที่รายงานผลการปฏิบัติงานก็ยังชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา คตส. ยังไม่สามารถชี้ความผิดอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วยครอบครัว และคณะรัฐมนตรีได้เลยแม้แต่คดีเดียว
การที่ คตส. จำแนกผลการทำงานออกเป็น 4 ส่วน คือ คดีที่ฟ้องศาลแล้ว คดีที่มีมติดำเนินการฟ้องเอง คดีที่ส่งอัยการสูงสุดแล้ว และคดีที่กำลังสรุปสำนวน อาจทำให้ดูเหมือนการทำงานมีความคืบหน้า แต่ความเป็นจริงแล้วก็คือ ทั้งหมดนั้น คตส. ยังไม่ได้สามารถเอาผิดกับบุคคลที่กล่าวถึงดังที่กล่าวพาดพิงอย่างเสียหายตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ใหม่ๆ ได้แม้แต่คดีเดียว เหมือนดังที่ นายแก้วสรร อติโพธิ และ นายสัก กอแสงเรือง เดินสายออกโทรทัศน์อยู่บ่อยๆ และอาจจะแถมด้วย นายวีระ สมความคิด และ ดร.เสรี วงษ์มณฑา บ้างเป็นครั้งคราว
ในส่วนของ คดีที่ฟ้องศาลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ดินรัชดาฯ คดีสลากพิเศษฯ คดีหลีกเลี่ยงภาษี เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ควรเอ่ยถึงเจตนา หรือความพยายามกล่าวหาของ คตส. อีก และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล
ส่วน คดีที่ คตส. มีมติดำเนินการฟ้องร้องเอง นั้น ข้อเท็จจริงก็คือ คดีที่ อัยการสูงสุดยังเห็นว่าสำนวนอ่อน หลักฐานไม่แน่นหนาพอจะฟ้องร้องเอาผิดใครได้ แต่เมื่อแนะให้นำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม ก็เลยพยายามตะแบงข้อกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องเอง ด้วยเหลือเวลาในการทำงานน้อยเต็มที
และ คดีที่ส่งอัยการสูงสุดแล้ว หากยังรวบรวมหลักฐานอย่างเร่งรีบ เหมือนกับคดีทั้งหลายข้างต้น ก็มีแนวโน้มว่าอัยการสูงสุดอาจจะไม่สั่งฟ้องอีกตามเดิม และคงจะต้องวัดใจ ป.ป.ช. ที่รับลูกไปดำเนินการต่อว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป
รวมทั้งในส่วนสุดท้าย ที่กำลังสรุปสำนวน ไม่ว่าจะเป็นคดีเซ็นทรัลแลป คดีรถดับเพลิง คดีแอร์พอร์ตลิงก์ คดีบ้านเอื้ออาทร ตรงนี้ยิ่งเห็นชัดว่าเป็นคดีที่ยังทำไม่เสร็จ หรือไม่ก็เป็นคดีที่หาพยานหลักฐานได้ไม่แน่นหนาพอ จะก่อรูปก่อร่างให้เป็นคดีเอาผิดกับใครได้ เพราะหากดึงดันไปก็จะกลายเป็นการฟ้องร้องตามจินตนาการเหมือนหลายคดีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าคดีทั้งหลายทั้งปวง กำลังจะต้องถูกดำเนินการต่อไปโดย ป.ป.ช. ที่ต้องจับจ้องดูถึงความเที่ยงธรรมว่า จะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะในขณะนี้คดีค้างการพิจารณาอยู่ที่ ป.ป.ช. ยังมีจำนวนมหาศาล จะสลับสับคิวมาเล่นงานเป้าหมายก่อนหรือเปล่า
รวมไปถึงอดีตกรรมการ คตส. ทั้งหลาย ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบองค์กรต่างๆ จะยังคง “ปฏิบัติการ” ต่อไปแบบไหน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนคนไทย ที่ได้เห็นผลงานและความตั้งใจของ คตส. มาตั้งแต่ต้นมือ จนกระทั่งวาระสุดท้าย ก็ต้องขออวยพรให้ไปดีกันทุกๆ คน
ขอให้ไปสู่ที่ชอบๆ และอย่าได้จองเวรซึ่งกันและกันเลย...!!
บิ๊กโบ๊ต