คอลัมน์ : ฮอตสกู๊ป
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาค เหนือ) กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ภาคเหนือ) และกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกจดหมายเปิดผนึกเรื่อง กรณีข้อเสนอ”การเมืองใหม่” ของ พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความดังนี้
“สืบ เนื่องมาจาก การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชูประเด็นล้าหลัง คลั่งชาติ รวมถึงไม่เคารพในระบบเสียงในระบอบประชาธิปไตย และดูถูกดูแคลนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ขณะนี้ มีแนวโน้มจะนำพาสังคมไทยสู่การถอยหลังทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกคำรบ โดยการเสนอสร้าง “ระบบการเมืองใหม่”
เรา ในนาม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย(ภาคเหนือ) และเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ดังรายนามข้างล่าง มีเจตนารมณ์แนวแน่ต้องการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และต้องการให้รัฐเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อให้มีความเสมอภาคและความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย เรามีความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ระบบการเมืองใหม่ ที่พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเสนอให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มาจาการสรรหา 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนถึงข้อเสนอว่า ใครเป็นผู้สรรหา ท่ามกลางการปราศรัยที่โน้มน้าวหมิ่นเหม่เรียกร้องกองทัพแสดงท่าทีปฏิเสธระบอบรัฐสภาอยู่เป็นประจำ
ประวัติศาสตร์ การเมืองที่ผ่านมา ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้ ก็ต้องกำหนดให้ปรากฎในกติกา กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจผ่านการรัฐประหาร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม ระบบ การคัดเลือกผู้แทนในรูปแบบที่ถูกเสนอขึ้นมา ได้เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมานับครั้งไม่ถ้วนโดยเฉพาะในยุคเผด็จการทหารครอง เมือง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 สืบเนื่องมาจนเกือบ 20 ปี และในช่วงเวลาหลัง พ.ศ. 2520 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ก็ ได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ระบบรัฐสภา เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหน้าที่หลักของบรรดา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ก็เพื่อค้ำชูอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย นั่นเอง
2. กล่าวอีกด้านหนึ่ง ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ ให้บทเรียนแก่สังคมไทยอีกครั้งว่า รัฐประหารไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม การรัฐประหารกลับทำให้อำนาจล้าหลังของ “ระบบอำมาตยาธิปไตย” ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง
โดยการแต่งตั้งหรือสรรหา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นอดีตข้าราชการทั้งนั้น และ สนช.ก็ได้ออกกฎหมายนับร้อยฉบับที่ให้อำนาจรวมศูนย์กับส่วนกลางและระบบราชการ ระบบอำมาตยาธิปไตย โดยมีการเร่งรีบพิจารณา ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไร้ซึ่งการตรวจสอบ ถ่วงดุล และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิเช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติด้านสื่อสารมวลชนอีกนับสิบฉบับ ฯลฯ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติความมั่นคง
ดังนั้นการแต่งตั้งหรือสรรหา 70 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อเสนอของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย คงไม่แตกต่างจากการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของคณะรัฐประหารมากนัก
3. ขอ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา เพื่อยกระดับการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยืนยันหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งผู้แทน ราษฎรว่าเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะแม้ระบบการเลือกตั้งอาจไม่เท่ากับประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
4. ขณะ เดียวกันรัฐและสังคมไทย ก็ต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การต่อรองนอกระบบรัฐสภาของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ได้อย่างเสรีและเสมอภาค เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายชาติพันธุ์ แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายที่ดินเขาบรรทัด เครือข่ายหนี้สินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสื่อภาคประชาชน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สหภาพแรงงาน และอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาลก็ตาม หรืออาจเรียกว่า “การเมืองแบบใหม่” ในโลกยุคปัจจุบัน และที่สำคัญต้องไม่มีอำนาจนอกระบบ อำนาจความรุนแรง ข่มขู่คุกคาม เหมือนเช่น สมัย คมช.มีทหารบางหน่วยกดดันชาวบ้านปากมูลและชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
5.ท้าย สุด ขอเรียกร้องให้ประชาชนไม่ต้องเข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยจะนำพา ประชาธิปไตยไทยถอยหลังเข้าคลองมากยิ่งขึ้น แทนที่ จะพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยความอดทนแม้จะต้องใช้เวลายาวนานก็ตาม และขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากสื่อสารมวลชนด้วยความไตร่ตรอง อย่างมีวิจารณญาณ