ทำเนียบฯ 1 ก.ค. – เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำ ครม.ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง กรณี “ปราสาทพระวิหาร” ชี้ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ต้องกลับไปถามศาลอีกครั้ง คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามดำเนินการใด ๆ ตามแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา กรณีสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล “ถ้ามีปัญหาว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างไร ต้องไปถามศาล ว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็อุทธรณ์ไป คงต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศและอัยการ เพราะเรื่องนี้เป็นคดีขึ้นมาแล้ว จริง ๆ เรื่องนี้ตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายแล้ว เพราะศาลมีคำสั่งแล้ว คงต้องดูรูปคดีว่าอุทธรณ์ไปแล้ว มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อัยการจะต้องพิจารณา” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว ต่อข้อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอแนวทางใดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ส่วนตัวเห็นว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลเป็นเรื่องแรก ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีปฏิบัติตามคำสั่งศาลคือ กระทรวงการต่างประเทศควรจะมีหนังสือไปถึงองค์การยูเนสโกหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เพราะมีเรื่องระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ดีที่สุด ไม่ให้กระทบระหว่างประเทศ “ถ้ามีปัญหาอย่างไร ต้องไปถามศาลว่า ตกลงมีคำสั่งเช่นนี้ แล้วจะให้ทำอย่างไร และในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่าที่ฟังดูว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือมานั้น เรายังไม่เห็นประเด็น เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ปรึกษาปัญหาในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีปัญหาทางกฎหมาย ก็ไม่แน่ใจว่าจะให้ความเห็นได้อย่างไร นอกจากจะบอกว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ยื่นอุทธรณ์ไป และจะมีประเด็นใดบ้าง ที่จะยกขึ้นมาโต้แย้งได้ เราคงทำได้แค่นั้น ส่วนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว ส่วนกระบวนการยื่นอุทธรณ์สามารถทำไปพร้อมกับการแจ้งไปที่กัมพูชาและยูเนสโกใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งมา ก็ต้องทำตาม ส่วนจะทำตามได้หรือไม่ แค่ไหน เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา ถ้าทำตามไม่ได้จริง ๆ ต้องกลับไปถามศาลว่า ตกลงจะให้ทำอย่างไร เมื่อมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ยังมีการเถียงกันอยู่ เพราะถ้าเป็นแถลงการณ์ร่วมจริง ๆ แล้ว โดยชื่อของแถลงการณ์ร่วมนั้นไม่ใช่หนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา แต่มีประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาว่า จะดูเฉพาะชื่ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสาระด้วย ถ้ามีสาระเป็นหนังสือสัญญา หรือสนธิสัญญา ถึงจะชื่อเป็นแถลงการณ์ร่วม อาจจะเป็นสนธิสัญญาก็ได้ ตรงนี้ต้องเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญจะต้องชี้ขาด.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-07-01 12:35:59