ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักกันในนาม “สภาพัฒน์” ได้จัดงานประชุมประจำปี 2552 โดยหัวข้อประจำปีนี้คือ “จากวิสัยทัศน์ 2570 สู่แผนฯ 11” (เว็บไซต์งานประชุม) ซึ่งเป็นการระดมสมองจากหลายภาคส่วนเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นการวางแผนระหว่าง พ.ศ. 2555-2559
งานในภาคเช้าเป็นปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จากนั้นตามด้วยการอภิปรายในหัวข้อ “แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ซึ่งเป็นการนำเสนอ “เค้าโครงแผน” ที่ร่างโดยสภาพัฒน์ และขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เชื้อเชิญมานั่นเอง
ผู้นำเสนอเค้าโครงแผนคือ ดร. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการของสภาพัฒน์ (ตำแหน่งเทียบได้กับผู้อำนวยการ) ส่วนแขกที่เชิญมาให้ความเห็นได้แก่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาในฐานะประธานมูลนิธิหัวใจอาสา และเป็นตัวแทนของภาคสังคม, รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาในฐานะราชบัณฑิต และประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ และ ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร หรือ OKMD) และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ โดยมี ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ประธานบอร์ดของสภาพัฒน์) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
หมายเหตุ: ดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอของผู้ร่วมอภิปรายบางท่าน ได้จากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์
นำเสนอแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดย ดร. อำพน กิตติอำพน
ดร. อำพนเริ่มนำเสนอที่มาของการประชุมว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นั้นมีระยะเวลารับฟังความเห็นน้อยเพียง 1 ปี ดังนั้นในแผนฉบับที่ 11 จึงเริ่มต้นให้เร็วกว่านั้นอีก 1 ปี งานประชุมในวันนี้เป็นการระดมความเห็นเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์สำหรับจัดทำ แผน 11 ซึ่งจะเปิดรับฟังความเห็นอีก 1 ปี ก่อนจะเริ่มร่างตัวแผนจริงๆ และรับฟังความเห็นอีก 1 ปีก่อนประกาศใช้
รากฐานของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เกิดจากกรอบการทำงานระยะยาว “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2570″ ซึ่งสภาพัฒน์ได้จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พ.ศ. 2551 โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดในแผนฉบับที่ 10 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อได้กรอบการทำงานระยะยาว “วิสัยทัศน์ 2570″ แล้ว จึงจะนำมาจัดทำแผนระยะกลาง 5 ปี ซึ่งก็คือแผนฉบับที่ 11 นั่นเอง
ดร. อำพน กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแผนที่ 10 ประกาศใช้ (พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา) ว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น
- โลกาภิวัฒน์เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ในส่วนของภูมิภาค อาเซียได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน
- เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ตัวอย่างเช่น นาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้น และคนไทยได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่างๆ มากขึ้น
- ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- การคมนาคม สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สาม และสร้างทางรถไฟไปเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรถไฟไทย
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ราคาน้ำมันในตลาดโลกแกว่งตัวมาก เช่นเดียวกับราคาข้าวที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก
แนวคิดหลักของแผนฉบับที่ 10 คือการสร้างดุลยภาพของต้นทุนของประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ทุนทางเศรษฐกิจ, ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากร ที่ผ่านมา ประเทศไทยที่เคยได้บทเรียนจากวิกฤต 40 มีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดี ส่วนด้านทรัพยากรก็มีปัญหาบ้างเป็นจุดๆ ไป เช่น ที่มาบตาพุด แต่ด้านสังคมกลับอ่อนแอมาก การเมืองมีปัญหาอย่างหนัก ในขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองก็เกิดปัญหาสังคมในชนบทสูง
แนวคิดในแผน 11 จะเตรียมพร้อมสู่ความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังอุบัติขึ้นโดยแยกเป็น 5 ส่วนย่อย
1. มองหาโอกาสของประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก
สภาพัฒน์ประเมินภูมิทัศน์ของโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจไว้ดังนี้
- การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกหลังฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จะไม่มากเท่ากับการขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤต (ช่วงก่อนแผนฉบับที่ 10)
- ภาคการเงินจะบังคับใช้หลักธรรมาภิบาลเข้มข้นมากขึ้น กฎระเบียบทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะกลายมาเป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ
- สกุลเงินใหม่ๆ เช่น เงินหยวนของจีน จะเริ่มมีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโลกมากขึ้น แทนที่จะเป็นสกุลดอลลาร์และยูโรอย่างที่เป็นอยู่
- โลกจะประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
- วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จะทำให้โลกเปลี่ยนจากทุนนิยม 100% มาเป็น “ทุนนิยมเชิงสร้างสรรค์” หรือ Creative Capitalism ซึ่งมีแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างเช่น CSR มากขึ้น
ในแผน 11 ประเทศไทยจะต้องรักษาอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากความผันผวน ของเศรษฐกิจโลกให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
2. มองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ที่กำลังถูกพูดถึงกันมากในช่วงนี้ เป็นคำนิยามถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น งานศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันมีตัวอย่างประเทศที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จนกลายเป็น สินค้าและบริการหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศได้มากมาย เช่น อังกฤษและเกาหลีใต้
เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่บ้างแล้ว สภาพัฒน์เสนอให้ประเทศไทยมองเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นโอกาสสร้างสินค้าและ บริการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดโลก โดยมีนโยบาย 3 ข้อดังนี้
- พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไปคู่กับเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)
- กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และบูรณาการวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศ ที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น โครงข่ายด้านไอที มาตรการด้านกฎหมายและการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา
ดร. อำพน ย้อนถึงต้นทุนของประเทศ 3 ชนิดในแผนฉบับที่ 10 ว่า ส่วนของทุนด้านสังคม ในแผน 11 อาจต้องแยกออกมาเป็นทุนทางกายภาพที่จับต้องได้ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ และทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันลำบากแต่ก็มีมูลค่าในตัวมันอยู่ มาก
3. เตรียมรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
สภาพัฒน์เสนอให้ประเทศไทยซึ่งยังต้องพึ่งพิงภาคเกษตรอยู่มาก ให้ปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ยั่งยืนในการผลิตและการบริโภค ปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมถึงมองหาโอกาสจากกระแสโลกร้อน เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต และรวมตัวกันกับภูมิภาคอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง
4. สถาปัตยกรรมทางสังคม เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงภาคสังคม
ดร. อำพนเสนอว่าการพัฒนาภาคสังคมไทยนั้นไม่สมดุล ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ดังนั้นต้องปรับปรุงในด้านทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข การศึกษา ทักษะแรงงาน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกแบบสังคมที่มีคุณภาพและมีความสมานฉันท์ (social cohesion) ไปพร้อมๆ กัน
5. สร้างความมีส่วนร่วมด้วยสัญญาประชาคมใหม่
ดัชนีความสงบสุข (Peace Index) ของไทยอยู่ในระดับต่ำ (118 จากทั้งหมด 140 ประเทศ) ในอาเซียนมีเพียงพม่าเท่านั้นที่มีอันดับต่ำกว่าไทย ด้านภาพลักษณ์การบริหารจัดการที่ดีก็มีแนวโน้มลดลงในสายตาของต่างชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มี สาเหตุหลากหลาย
แนวทางที่เสนอเพื่อใช้แก้ปัญหาเหล่านี้คือพัฒนา “สัญญาประชาคมใหม่” หรือค่านิยมของสังคมที่เหมาะสมกับยุคสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม โดยกลไกในการพัฒนาจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
หมายเหตุ: ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม ซึ่งเป็นร่างข้อเสนอของแผน 11 ได้จากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์
ความคิดเห็นโดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
นายไพบูลย์กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ที่ผ่านมาทำมาทั้งหมด 10 แผน ครอบคลุมช่วงเวลา 51 ปี มีการ “อภิวัฒน์” หรือการปรับปรุงแผนครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือแผนฉบับที่ 2 ซึ่งเพิ่มเรื่องสังคมเข้ามา จากเดิมที่มีเรื่องเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียว และแผนฉบับที่ 8 ที่เริ่มใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
นายไพบูลย์เสนอให้ “อภิวัฒน์” อีกครั้งในช่วงแผนฉบับที่ 11 โดยพิจารณาเพิ่มเรื่องการเมืองเข้ามาด้วย เพราะถ้าการเมืองไม่นิ่ง ก็ไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยนายไพบูลย์เสนอให้เปลี่ยนชื่อจาก “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” มาเป็น “แผนพัฒนาประเทศ” หรือ “แผนพัฒนา”
(ภาพจาก บล็อกของนายไพบูลย์ บน Gotoknow)
นอกจากนี้นายไพบูลย์ยังมีข้อเสนออีก 4 ข้อ ดังนี้
1. สร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินแผนงาน และวิเคราะห์หาปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนา
ตัวชี้วัดที่ควรสร้างขึ้นต้องแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ตัวชี้ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น, ตัวชี้ระดับองค์กร, ตัวชี้วัดในประเด็นสำคัญที่รัฐและประชาชนเห็นร่วมกัน (เช่น เรื่องโลกร้อน) และตัวชี้วัดระดับประเทศ ที่ผ่านมา สภาพัฒน์เคยสร้างแต่ตัวชี้วัดระดับประเทศ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ระดับการปกครองท้องถิ่นและระดับองค์กร ซึ่งเป็นที่ๆ คนไทยสังกัดอยู่มากที่สุด
ตัวชี้วัดจะต้องสามารถวัดปัจจัยหลักของการพัฒนาทั้งสามเรื่อง คือ ความมีสุขภาวะ, ความดี และความสามารถได้
2. ประชาชนต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และต้องสร้างโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเป็นผู้พัฒนา
รัฐต้องโอนอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานมากแล้วแต่ยังทำไม่สำเร็จ ประเทศไทยควรมี อบจ. หรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับ กทม. ให้มากขึ้น เช่น ตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ต ในอีกทาง ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลดบทบาทลงให้เหลือเพียงสำนักงานขนาดเล็ก ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับประชาชนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐไม่จำเป็นต้องมีภาคราชการส่วนภูมิภาคมากอย่างที่เป็นอยู่
3. กระบวนการวางแผนต้องเป็นของประชาชน โดยรัฐมีบทบาทแค่มีส่วนร่วมและสนับสนุนเท่านั้น
ซึ่งจะกลับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่รัฐและข้าราชการเป็นผู้วางแผน ส่วนประชาชนมีส่วนร่วมและสันบสนุน นายไพบูลย์มองว่าการ “รับฟังความเห็น” ของสภาพัฒน์นั้นไม่เพียงพอ ควรยกระดับเป็นการ “สานเสวนา” (Citizen Dialogue) ในระดับต่างๆ ทุกภาคส่วนของประเทศ ส่วนรัฐเป็นแค่ผู้สนับสนุนทางนโยบายและงบประมาณเท่านั้น
4. เปลี่ยนระยะเวลาของแผนให้เป็น “แผนเคลื่อนที่” (moving plan) ตามสูตร 2+6+12
การวางแผนล่วงหน้ามีโอกาสผิดพลาดสูง ถ้าสมมติฐานที่สภาพัฒน์เคยวางไว้นั้นผิดเมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ ตัวอย่างก่อนหน้านี้คือ แผน 8 ที่พูดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่เมื่อเจอวิกฤต 40 เข้าไปทำให้ต้องไปสนใจเรื่องกู้เศรษฐกิจ ส่วนแผน 10 พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็เจอกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
นายไพบูลย์เสนอให้สร้างแผนระยะสั้น 2 ปี ตามด้วยแผนระยะกลาง 6 ปี และแผนระยะยาว 12 ปี รวมกันเป็น 20 ปี แผนระยะสั้นเริ่มนับจากปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อหา “จุดคานงัด” ของประเทศเพื่อเข้าสู่แผนระยะกลาง ส่วนแผนระยะกลางเน้นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างที่เป็นอยู่ และแผนระยะยาวเน้นจุดมุ่งหมายในบั้นปลาย
ตัวอย่างแผนระยะสั้นที่ควรจัดทำ ได้แก่
- การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตเศรษฐกิจ
- ฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ รอบคอบ มองการณ์ไกล
- สร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง โดยดึงเอานักสันติวิธีเข้ามา
- ความสงบสุขในชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของปัญหา
ข้อมูลเพิ่มเติม: อ่านได้จากบล็อกของนายไพบูลย์ ที่เขียนถึงการพูด ณ วันนี้ แนวคิด ทิศทาง ในการวางแผนพัฒนาประเทศ
ความคิดเห็นโดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ขอมาเล่าเหตุการณ์สำคัญของโลกในอดีตเพื่อเทียบให้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สถานการณ์โลกในช่วงปี 1989-2008 นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 1989 ซึ่งจะเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรบ้าง และจะบอกว่าโลกในยุคถัดจากนี้ไปก็จะคล้ายๆ กัน คือ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญในปี 2008
เหตุการณ์สำคัญในปี 1989
- สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายของโซเวียด ส่วนอัฟกานิสถานก็กลายมาเป็นดินแดนสำคัญของผู้ก่อการร้าย
- มีการประดิษฐ์ World Wide Web ส่งผลให้เกิด “รัฐทางไซเบอร์” (cyber state) ซึ่งทำให้ความสำคัญของ “รัฐชาติ” (nation state) ลดลง
- เหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้จีนต้องหันเหความสนใจจากชาวโลกจากด้านการเมืองเป็นด้านเศรษฐกิจ และส่งผลให้จีนกลายเป็นโรงงานการผลิตสำคัญของโลก
- เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชา ทำให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
- กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ยุติสงครามเย็น ประเทศสังคมนิยมหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ทำให้โลกกลายเป็นขั้วเดียวคือขั้วโลกเสรี
ผลกระทบต่อเนื่องในปี 1989-2008
ระดับโลก
- เศรษฐกิจโลกพึ่งการผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อส่งออกในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว และใช้บริการภาคการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว
- สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีอิทธิพลมากที่สุด
- กลุ่มประเทศเอเชีย ตะวันออกกลาง และ BRIC (Brazil Russia India China) กลายเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศโลกที่สาม
- พฤติกรรมการผลิตและการบริโภคเกินขนาด ส่งผลให้โลกร้อน ราคาน้ำมันสูง ราคาโภคภัณฑ์และอาหารพุ่งสูง
- การบริโภคเกินฐานะของคนอเมริกัน และระบบการเงินเสรี ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008
ผลกระทบต่อประเทศไทย
- ประเทศไทยผูกโยงเข้ากับห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่
- ปี 1989 ตรงกับแผนพัฒนาฉบับที่ 6 (1987-1991)
- ไทยเปิดเสรีทางการเงินในปี 1991 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปัญญารชุน
- แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ในปี 1997 เราเจอกับวิกฤตทางการเงิน ส่วนปี 2008 เจอกับวิกฤตในการส่งออกที่พึ่งตลาดตะวันตกมากเกินไป เราพอเพียงกันแต่ปากแต่เอาเข้าใจแล้วก็ตามกระแสโลก
เหตุการณ์สำคัญในปี 2008
- การล่มสลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐ เกิดวิกฤตครั้งใหญ่และเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก
- บารัค โอบามาที่มีนโยบายสมานฉันท์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
- จุดที่จะเป็นปัญหาในแวดวงการเมืองโลก ได้แก่ ยิว-ปาเลสไตน์, อิหร่าน-อิรัก, อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน, พม่า, เกาหลีเหนือ
โลกหลังปี 2008
- ประชาธิปไตยหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องตามแนวทางของตะวันตกทั้งหมด
- เศรษฐกิจจะไม่ใช่การค้าเสรีอย่างเต็มที่เหมือนสมัยประธานาธิบดีเรแกนอีกแล้ว มีการกำกับดูแลทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
- กลุ่มภูมิภาคจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่นำโดยสหรัฐและยุโรป
- โลกมุสลิมจะมีอิทธิพลมากขึ้น
ข้อเสนอต่อประเทศไทย
- ด้านการเมืองโลก ต้องปรับตัวจากเดิมที่เรามี “ความสัมพันธ์พิเศษ” กับสหรัฐ มาคบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาเซียน, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ (BIMST - EC), เอเชียกลาง (Shanghai Cooperation Organisation), สหภาพยุโรป, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
- ด้านเศรษฐกิจ ในระยะสั้นต้องเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ลดดอกเบี้ยให้ต่ำ สร้างสภาพคล่องสูง เงินบาทต้องเสถียร การคลังต้องไม่ขึ้นภาษี หลังจากนั้นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต และมองไปถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระยะยาว
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาการลงทุนในสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว, เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์, สินค้าและบริการที่อิงศิลปะวัฒนธรรม ตั้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นหน่วยงานอิสระและคล่องตัว ต่างไปจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
- ลดการพึ่งพิงชาติตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว สร้างวิธีการเชื่อมสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันตก และสมานฉันท์กับโลกมุสลิม
ความคิดเห็นจาก รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
การเมืองเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด สมัยแผนฉบับที่ 1 ก็เกิดจากจอมพลสฤษดิ์มีความมั่นคงทางการเมือง เลยมาวางแผนเศรษฐกิจ การเมืองแบ่งเป็นภายนอกประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ ส่วนการเมืองภายในเราก็หวังว่าจะควบคุมได้
เดิมทีวิธีการจัดทำแผนพัฒนาเป็นแบบ top-down มาโดยตลอด ถึงวันนี้ไม่มีทางที่จะไม่ฟังเสียงประชาชนได้แล้ว ยังไงสภาพัฒน์ต้องสร้างวิธีที่เป็น bottom-up
ปัญหาของประเทศทั่วไปในทางรัฐศาสตร์ แบ่งออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ อย่างแรกคือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติได้อย่างไร และประเด็นที่สองคือ จะกระจายทรัพยากรหรือสิ่งที่ทรงคุณค่า เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ ให้เท่าเทียมได้อย่างไร
ในเอกสารของสภาพัฒน์ เขียนคำว่า “ต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” เอาไว้ การสร้างวัฒนธรรมต้องใช้เวลานานมาก เรามีประชาธิปไตยมา 77 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
- ควรจัดทำแผนหลายแบบไปพร้อมๆ กัน เพื่อเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละแผน แล้วเลือกส่วนที่ดีที่สุดมาใช้
- สภาพัฒน์ควรมองถึงเรื่องการเมืองด้วย ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ไม่กล้าแตะเรื่องการเมือง (ดร. พนัส ประธานสภาพัฒน์ตอบว่า มีสภาพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว ไม่ควรไปก้าวก่าย)
- แผนพัฒนาฯ มีบทบาทในการนำไปปฏิบัติจริงแค่ไหน (ดร. อำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ตอบว่า นโยบายของรัฐบาลทุกสมัยต้องอิงกับแผนพัฒนาในช่วงนั้นๆ)
บทวิเคราะห์ SIU
บรรยากาศและความคิดเห็นในงานประชุมประจำปี 2552 ของสภาพัฒน์ เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าทั้งแผนพัฒนาฯ และสภาพัฒน์เอง กำลัง “ถูกท้าทาย”
ประเด็นแรก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มถูกตั้งคำถามมาได้หลายปีแล้วว่า ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนฉบับหลังๆ (ประมาณฉบับที่ 7 เป็นต้นมา) ที่ไม่สามารถเป็นหลักพาสังคมไทยก้าวหน้าสู่อนาคตได้อย่างแผนฉบับแรกๆ เป้าหมายของแผนช่วงหลังไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้ (แผน 7) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (แผน 8 ) เศรษฐกิจพอเพียง (แผน 9) และสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (แผน 10) ล้วนแต่เป็นเพียงคำพูดสวยหรูในหน้ากระดาษ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในทางปฏิบัติ
ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ จุดอ่อนเรื่องนี้ยิ่งกระจ่างชัด เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีทีมที่ปรึกษาของตัวเอง นำโดยนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานเหนือกว่าสภาพัฒน์มาก ทีมที่ปรึกษาชุดพันศักดิ์ได้เสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น เศรษฐกิจแบบดูอัลแทร็ก หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทีมของพันศักดิ์มีบทบาทในการก่อตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ตั้งแต่ปี 2546 และดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาตั้งแต่ช่วงนั้น ในขณะที่สภาพัฒน์เพิ่งเริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมื่อไม่นานนี้
ดังนั้นก่อนจะถามว่า แผนพัฒนาฉบับที่ 11 ควรเสนอเรื่องใดเป็นธีมหลัก ควรถามก่อนว่า เรายังจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาฯ อยู่หรือไม่?
ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ SIU เห็นตรงกันกับผู้ร่วมเสวนาหลายคน ก็คือ บทบาทของสภาพัฒน์ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ไม่สามารถรวมประเด็นด้านการเมือง การปกครอง การกระจายอำนาจมาไว้ในกรอบการวิเคราะห์ได้ ทำให้วิเคราะห์ผิดพลาด และเป็นผลให้แผนพัฒนาฯ พลาดอย่างรุนแรง ดังเช่นที่นายไพบูลย์ได้ยกตัวอย่างมา คำตอบของ ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธานบอร์ดสภาพัฒน์ที่ว่า “มีสภาพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว ไม่ควรก้าวก่าย” นั้นเป็นแค่การหนีปัญหา สภาพัฒน์ต้องรีบทบทวนบทบาทของตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า หน้าที่รับผิดชอบของสภาพัฒน์มีเรื่องอะไรบ้าง และเรื่องเหล่านั้นเหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่? ก่อนที่สภาพัฒน์จะถูกกระแสโลกอันเชี่ยวกราก ลดบทบาทจากเดิมที่เคยเป็นผู้ชี้นำสังคมไทย ลงมาเหลือแค่เทคโนแครตหรือข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทาง เศรษฐกิจตามที่รัฐบาลสั่งเท่านั้น
ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับวิธีการทำงานของสภาพัฒน์เอง ตามที่ รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร ให้ข้อมูลไว้ว่า นับตั้งแต่ตั้งสภาพัฒน์มา การทำงานของสภาพัฒน์คือใช้ข้าราชการประจำที่มีการศึกษาในด้านเศรษฐศาสตร์ วางแผนเศรษฐกิจให้กับประเทศมาโดยตลอด เป็นการทำงานแบบ top down ที่เริ่มเห็นแล้วว่าล้าสมัย ยิ่งในยุคที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง รักษาสิทธิ์และเข้ามาถ่วงดุลการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ วิธีการทำงานแบบ top-down นั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว SIU ขอเสนอให้สภาพัฒน์ปฏิรูปวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วน และนำเทคนิคการวิเคราะห์และวางแผนแบบใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การวางแผนแบบ scenario ที่แบ่งความเป็นไปได้ในอนาคตออกเป็นหลายแบบ และวางแผนรองรับมือเหตุการณ์แต่ละแบบไว้ หรือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างแผน เช่น อาจจะรับร่างแผนพัฒนาฯ ของประชาชนมาพิจารณา หรือ ให้หน่วยงานต่างๆ อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จัดทำและเสนอร่างแผนพัฒนาฯ เข้ามาให้สภาพัฒน์เลือก เป็นต้น