WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 11, 2011

ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (1)

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ผมเดาไม่ออกหรอกว่า ขบวนการเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวอย่างไรในปีนี้ แต่ที่ผมแน่ใจก็คือ เขามีหนทางของเขาอย่างแน่นอน และถ้าดูจากความคึกคัก (ทั้งกิจกรรมและจำนวนผู้เข้าร่วม) ของการเคลื่อนไหว หลังจากการล้อมปราบอย่างป่าเถื่อนในเดือนพฤษภาคม 2553 แล้ว ผมก็แน่ใจด้วยว่าขบวนการเสื้อแดงในปีใหม่นี้ จะไม่อ่อนกำลังลง มีแต่จะเข้มแข็งขึ้น

ส่วนจะผูกพันกับพรรคเพื่อไทยแค่ไหนนั้นเดาไม่ถูก แต่ผมออกจะสงสัยว่า จะผูกพันกันน้อยลงมากกว่ายิ่งเหนียวแน่นขึ้น อย่างน้อยก็เพราะขบวนการเสื้อแดงไม่ต้องอาศัยเครือข่ายของนักการเมือง ในการระดมกำลังเคลื่อนไหว จะเห็นความเป็นอิสระของเสื้อแดงได้ชัด หากย้อนกลับไปคิดถึงการเคลื่อนไหวในระยะแรกๆ ของ นปช.

ตรงกันข้ามกับเสื้อแดง ผมคิดว่าการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำกลับหมดทางพลิกแพลง มองไม่เห็นว่าเขาจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรมากไปกว่าที่ได้ทำมาแล้วตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และการณ์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถนำ "สถานะเดิม" ทางการเมืองกลับมาได้ จนถึงนาทีนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่าพวกเขามียุทธวิธีอะไรใหม่ๆ มากไปกว่าเดิม ฉะนั้นในปีใหม่นี้เขาก็คงทำอย่างที่ได้ทำมาแล้ว และล้มเหลวที่จะดึงประเทศไทยกลับไปสู่ "ความมั่นคง" ประเภทที่พวกเขาต้องการได้

กลุ่มชนชั้นนำคาดการณ์ผิดถนัด เมื่อร่วมกันก่อรัฐประหารในปี 2549 การใช้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน แม้ทำให้ความไม่พอใจต่อรัฐบาล ทรท.ซึ่งมีคุกรุ่นอยู่แล้วในหมู่คนชั้นกลางระดับบนปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่การรัฐประหารทำความพอใจให้เฉพาะคนกลุ่มนี้ สิ่งที่คาดการณ์ผิดก็คือ ประชาชนในส่วนอื่นจะเฉยชาต่อการรัฐประหารอย่างที่เคยเกิดขึ้น พวกเขากลับรวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร อย่างช้าๆ แต่ก็หนักแน่นและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลต่อเนื่องกันมาได้ถึงสองชุด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนชั้นนำคาดการณ์ผิดก็คือ การเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งกระจายไปทั่วแผ่นดิน ทั้งในเขตเมืองและชนบท ไม่ว่าจะมีทักษิณหรือไม่ และไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ คนกลุ่มนี้ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง ต้องการเปลี่ยนสถานะของตนเองจากคนที่ไม่ต้องนับทางการเมือง มาเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งต้อง "นับ" ความสำคัญทางการเมืองไทย เสียงของเขาต้องได้รับการฟัง (และได้ยิน) จากผู้บริหารประเทศ

ช่องทางเดียวที่จะทำให้เสียงของพวกเขาได้ยินคือผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง ขอย้ำว่าผ่านหีบบัตรเลือกตั้งไม่ใช่ผ่านการปฏิวัติ อย่าลืมว่า จำนวนไม่น้อยของคนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ กำลังสะสมทุนขึ้นทีละน้อย มีความฝันที่ไม่แตกต่างจากคนชั้นกลางระดับบนว่า ครอบครัวของเขากำลังไต่ขึ้นบันไดสังคม (อย่างช้าๆ กว่า) แต่ก็กำลังไต่ขึ้น ฉะนั้นจึงไม่คาดหวังให้สังคมไทยวุ่นวายปั่นป่วนเสียจนบันไดที่เขากำลังไต่อยู่นั้นหักลงกลางคัน

แต่ช่องทางเดียวของเขาคือหีบบัตรเลือกตั้งนี่แหละ ที่ถูกกลุ่มชนชั้นนำกระทืบทำลายลง ทั้งโดยการรัฐประหาร, การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้ตัวแทนของเขามีอำนาจน้อยลง, การปลดรัฐบาลของเขาลงจากตำแหน่งด้วยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ, และจนถึงที่สุดก็คือการใช้อำนาจนอกระบบจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้น

อันที่จริงหีบบัตรเลือกตั้งไม่ใช่เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวของประชาธิปไตยก็จริง แต่ในหมู่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งกำลังพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง หีบบัตรเป็นช่องทางเดียวที่เป็นไปได้ แม้ว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธเสรีภาพของสื่อ, สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ, การประท้วงในที่สาธารณะ และเสรีภาพส่วนบุคคล ฯลฯ แต่ประชาธิปไตยที่เขาคาดหวังว่าจะช่วยให้เสียงของเขาต้องถูกนับในนโยบายระดับชาติ ต้องมีหีบบัตรเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำประกาศของนักวิชาการบางท่านที่คอยย้ำอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งไม่ใช่เงื่อนไขเดียวของประชาธิปไตย จึงเป็นการประกาศความจริงที่ไร้บริบท

นับเป็นโชคดีของสังคมไทย ที่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ผ่านมา เรียกร้องเพียงแค่หีบบัตรเลือกตั้ง เพราะหีบบัตรเลือกตั้งเปิดโอกาสให้แก่การต่อรองของทุกฝ่าย โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องรักษากระบวนการประชาธิปไตยไว้ให้เข้มแข็งในสังคมและการเมืองตลอดไป หีบบัตรเลือกตั้งในสังคมประชาธิปไตยจึงไม่เคยให้สิทธิขาดแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถจัดการทรัพยากรตามวิถีทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียวได้

แม้แต่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากหีบบัตรเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ก็ปรากฏจากการวิจัยของนักวิชาการออสเตรเลียคนหนึ่งว่า ในหมู่บ้านของภาคเหนือบางแห่ง คะแนนเสียงของพรรค ทรท.มีขึ้นมีลง และในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายใน พ.ศ.2549 คะแนนเสียงของพรรคกลับลดลงอย่างมาก ท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านทักษิณในกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือหนึ่งในกระบวนการต่อรองที่ประชาธิปไตยอนุญาตให้ทำได้

แต่น่าเสียดายที่ชนชั้นนำไทยซึ่งยึดกุมการเมืองไทยต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษ ต่างขาดความสามารถในการต่อรองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย พวกเขามักง่ายพอที่จะรวมหัวกันใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ "ตัดบท" แทนที่จะสร้างกระบวนการต่อรองที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ทำได้ไม่ยากนัก เพราะส่วนใหญ่ของประชากรไทยยังไม่มีเหตุและพลังพอจะอยากมีพื้นที่ทางการเมืองในระดับชาติ การต่อรองจึงกระทำในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง พร้อมกับแสวงหาความชอบธรรมจากคนชั้นกลางระดับบนซึ่งถึงอย่างไรก็มีจำนวนน้อย และมีผลประโยชน์ผูกพันเชื่อมโยงกันอยู่กับชนชั้นนำอย่างแนบแน่นอยู่แล้ว

และการต่อรองนั้นก็หาใช่การต่อรองในกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด

แม้กระนั้นก็ยังมีการต่อรองที่ไม่ลงตัว จนเป็นเหตุให้ต้องปะทะกันถึงขั้นนองเลือดมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา

ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า โอกาสที่ชนชั้นนำจะปรับตัวเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะพวกเขาขาดประสบการณ์ และที่สำคัญกว่านั้น คือขาดกลไกการต่อรองที่มีประสิทธิภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขาตกอยู่ในสภาพอ่อนแออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่เคยใช้เพื่อกำกับควบคุมการเมืองอย่างได้ผล กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้งานไม่ได้ไปเป็นส่วนใหญ่

กองทัพอาจทำรัฐประหารเมื่อไรก็ได้ แต่ก็แน่นอนว่ารัฐประหารจะไม่นำความสงบกลับคืนมาได้ การประท้วงต่อต้านอาจแพร่กระจายจนกระทั่งต้องใช้วิธีสังหารหมู่ไปทั่วทุกหัวระแหง อย่างที่ใช้กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์, บ่อนไก่, อนุสาวรีย์, ฯลฯ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา หรือเกิดภาวะไร้อาญาสิทธิ์กระจายทั่วไปทั้งบนพื้นดิน, คลื่นความถี่, พื้นที่ไซเบอร์, หรือแม้แต่พื้นที่อากาศซึ่งกระสุนฉิวเฉียดผ่านไป ฯลฯ

ภาวะเช่นนี้ย่อมทำลายทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ และความน่าเชื่อถือกับความชอบธรรมของชนชั้นนำ จนสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจถึงขั้นพื้นฐานในระยะยาว (แม้กระนั้นผมก็ไม่ปฏิเสธว่า ชนชั้นนำกลุ่มที่สายตาสั้นอาจเลือกทางนี้)

ตุลาการภิวัตน์ได้ถูกใช้มาจนถึงสุดทางเสียแล้ว ตลอดทางที่ผ่านมาได้ทำลายกระบวนการยุติธรรมของไทยไปจนไม่เหลือชิ้นดี สถาบันที่มีศักยภาพจะนำ "ระเบียบ" กลับคืนมาในยามจำเป็น สูญเสียศักยภาพนั้นไปหมด หากยังขืนใช้ต่อไป ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหาร

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ส่งผลไปสู่คะแนนเสียงมากนัก ภายใต้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างร้ายกาจของไทย ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้กระจายไปยังคนส่วนใหญ่ หากกระจุกอยู่กับคนชั้นกลางระดับบน ซึ่งถึงอย่างไรก็เลือก "ระบบ" (the establishment) อยู่แล้ว ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างไม่รู้สึกตัวว่าได้รับผลดีแต่อย่างไร บรรษัทขนาดใหญ่อาจแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นให้ลูกจ้างระดับบน แต่ไม่สามารถแบ่งปันกำไรแก่แรงงานระดับล่างได้มากนัก คนที่ทำงานในตลาดอีกหลากหลายอาชีพไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียงพอจะชื่นชมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การแทรกแซงทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีภาวะการนำสูงเด่น หมดความศักดิ์สิทธิ์ไปนานแล้ว อย่างน้อยก็นับตั้งแต่การรัฐประหารใน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ว่ากันที่จริงแล้ว อะไรที่เคยเป็น "อาญาสิทธิ์" ในประเทศไทย ถูกท้าทายจนสูญเสียความชอบธรรมไปจนหมดแล้ว

สื่อกระแสหลักที่ยอมตนอยู่ภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นทีวี, วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ สูญเสียอิทธิพลในการชี้นำสังคม สื่อทางเลือกต่างๆ ที่แพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ (นับตั้งแต่อินเตอร์เน็ต, ใบปลิว, ข่าวลือ และข่าวซุบซิบ และสื่อต่างประเทศ) ได้พิสูจน์ให้คนไทยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นคนชั้นกลางระดับบนและระดับล่างเห็นว่า สื่อกระแสหลักทุกประเภทเชื่อถือไม่ได้ หรือเชื่อถือได้น้อยกว่าเสียงกระซิบข้างหูของคนแปลกหน้าด้วยซ้ำ

และเพราะหมดเครื่องมือใดๆ ในทางการเมือง ชนชั้นนำจึงไม่รู้จะกำกับควบคุมการเมืองไทยต่อไปได้อย่างไร นอกจากการใช้อำนาจดิบ เช่น การปิดเว็บนับหมื่นนับแสน, การแทรกแซงสื่ออย่างใกล้ชิด, การจับกุมคุมขังบุคคลที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อตน ด้วยกฎหมายซึ่งขาดความชอบธรรม, การอุ้มฆ่า, ฯลฯ แต่ในสังคมอะไรหรือ แม้แต่ในหมู่มนุษย์ถ้ำ ที่อำนาจดิบอย่างเดียวจะสามารถผดุงอาญาสิทธิ์ของผู้ปกครองใดไว้ได้

นอกเสียจากอำนาจดิบ ชนชั้นนำหันไปใช้การปลุกเร้าอุดมการณ์หลักสามประการของรัฐไทย แต่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยบังคับให้ต้องนิยามสิ่งที่เรียกว่าสถาบันหลักทั้งสามนี้กันใหม่ และนั่นคือสิ่งที่ชนชั้นนำพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำตลอดมา

การโหมโฆษณาอย่างหนักในช่วงนี้ จึงไม่เกิดผลที่จะทำให้คนเสื้อแดงยุติการผลักดันเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองของตนได้ ในทางตรงกันข้าม

กลับอาจทำให้คนชั้นกลางระดับบนซึ่งเป็นพันธมิตรในช่วงนี้ รู้สึกระอาหรือถดถอยความศรัทธาลงไปได้