WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, January 12, 2011

นิติราษฏร์ ฉบับ ๑๒ : ความเป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ที่มา ประชาไท

ระยะหลังๆ เราได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองต่อไปนี้บ่อยๆ ใช่ไหม เช่นว่า “แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ บางคนออกมาระบุว่าจะไม่รักษาคนไข้ตำรวจ (อันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑)” หรือ “กัปตันและแอร์โฮสเตสการบินไทยบางคนปฏิเสธไม่รับ ๓ สส. พปช.ขึ้นเครื่อง” หรือ “ ม.ศิลปากรตัดสิทธิ “ก้านธูป” เรียนคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากมีประวัติหมิ่นสถาบันเบื้องสูง” และ “องอาจ ปัด รัฐบาลกดดันทรู ปลด มาร์ค V11” ฯลฯ

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงข่าวคราวที่การ์ดเสื้อแดงถูกฆ่าตายโดยมีความสงสัย ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รวมตลอดไปจนถึงการจับกุม คุมขัง การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในความมีอคติ เลือกปฏิบัติ กระทำโดยไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้งต่างๆ นานา หรือแม้กระทั่งข่าวคราวที่หลุดลอดออกมาว่าบรรดาทหารแตงโมตำรวจมะเขือเทศถูก ตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดยิบ หากเจ้านายสงสัยว่ามีความเกี่ยวดองสัมพันธ์กับพวกเสื้อแดงไม่ว่าทางใด เป็นถูกแขวนถูกดอง อนาคตมืดมนแน่นอน

ในฐานะนักกฎหมายเมื่ออ่านข่าวลักษณะนี้จบลง ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการที่ควรกล่าวถึง ประการแรก คือ ผู้ที่ปฏิเสธการให้บริการหรือผู้ใช้อำนาจกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประการที่สอง ผู้ที่ถูกกระทำได้แสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองของตน หรือเป็นนักการเมือง หรือ (ในกรณีตำรวจ) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่เจ้าหน้าที่ของ รัฐคนนั้นมุ่งต่อต้าน ทั้งๆ ที่ในบางกรณี อย่างกรณีของก้านธูปและมาร์ค V11 นี้เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเยาวชนไทยธรรมดาๆ สองคน และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ถ้าเราพิจารณาปรากฏการณ์เหล่านี้ในภาพรวม เราเห็นอะไร.....

สำหรับผู้เขียน เห็นสภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะมีการกดดันคุมคามอย่างหนักต่อผู้ที่พูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หลากหลายรูปแบบวิธีการ แต่ถ้าคนที่กดดันเป็นประชาชนคนธรรมดาด้วยกันนั่นก็เรื่องหนึ่ง แม้ว่าวิธีการจะมีลักษณะกระทำเป็นขบวนการก็ตาม เช่น ลัทธิล่าแม่มด แต่นั่นก็ไม่มีน้ำหนักที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากนัก

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การกดดันคุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า เพราะ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้วางกฎ ตีความกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ให้บริการสาธารณะต่างๆ หรือแม้แต่พิพากษาตัดสินคดีให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่คนที่แสดงความคิดเห็น ได้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจรักษาความเป็นกลางในทาง การเมืองไว้ให้มั่นคง กลับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรักคนกลุ่มนี้ โกรธเกลียดคนกลุ่มนั้น หรือหลงไปด้วยแรงจูงใจใดๆ ก็แล้วแต่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะอยู่ในอันตรายมากทีเดียว

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ต่อยอดมาจากเสรีภาพในการคิด ของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เสรีภาพในการคิดเป็น “เสรีภาพที่อยู่ภายในและใช้กับตัวเอง” จึงเป็นเสรีภาพที่มนุษย์มีโดยบริบูรณ์ มีสถานะสูงกว่าสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองได้มาตามกฎหมายบ้านเมือง รัฐไม่อาจบังคับควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพในการคิดได้ ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็น “เสรีภาพที่แสดงออกภายนอกและแสดงต่อผู้อื่น” กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นวิถีทางในการแสดงออกซึ่งความนึกคิดของคน ไม่ว่าโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การชุมนุมประท้วง หรือโดยวิธีอื่น จึงมีโอกาสไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือสังคมได้ จึงเป็นเสรีภาพที่รัฐอาจจำกัดได้เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญกว่า หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น

การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในรัฐเสรีประชาธิปไตย แม้ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกจำกัดได้โดยรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจว่าจะจำกัดหรือไม่จำกัด การแสดงความคิดเห็นของผู้คน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองทั้งโดยรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย1 และโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.19482 (Universal Declaration of Human Rights,1948) การ ให้ความคุ้มครองปรากฏโดยการตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา และ การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติ หลักทั้งสองประการนี้ล้วนผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับและปฏิบัติตามกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

ผู้เขียนเห็นว่าในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำนอก เหนืออำนาจ กระทำโดยไม่ถูกต้อง หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองฝ่าย ตรงกันข้าม จำเป็นต้องนำเอาหลักทั้งสองประการนี้มาคุยกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องปรามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยสาเหตุ เช่นนี้ได้เรื่อยไป

1. การตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา ในรัฐประชาธิปไตย การ สื่อสารถึงกันได้โดยอิสระซึ่งความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นคุณค่าสูงสุดประการ หนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น บุคคลย่อมต้องสามารถแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยไม่จำต้องเกรงกลัวว่าจะถูกลงโทษอาญา ในกรณีนี้รัฐสภาจะถูกห้ามไม่ให้ตรากฎหมายเอาผิดและลงโทษอาญาแก่ผู้แสดงความ คิดเห็น เว้นแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตและเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามไว้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเช่นว่านี้จะต้องสอดคล้องกับหลักการของระบอบ ประชาธิปไตยและไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เช่นว่า รัฐสภาจะบัญญัติในกฎหมายให้ใช้กระบวนวิธีพิจารณาความที่รวบรัดตัดความ หรือกำหนดบทลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับการ กระทำที่เป็นความผิดไม่ได้ นอกจากนั้น ศาลจะถูกห้ามมิให้ลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยโทษที่รุนแรงเพื่อกำราบผู้นั้น หรือคนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวมิกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อไปในอนาคต การตรากฎหมายหรือคำพิพากษาลักษณะนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัฐประชาธิปไตย

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3 (1870 ถึง 1940) ซึ่งรัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาจำนวนหนึ่งระหว่างปี ค.ศ.1893-1894 เรียกว่า “Lois scélérates” เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองและการต่อสู้ของขบวนการ ทางการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชื่อว่า “Le mouvement anarchiste” ปัจจุบันคำว่า Lois scélérates กลายเป็นชื่อเรียกกฎหมายที่มีเนื้อหาเผด็จการ

ในประเทศไทย กฎหมายที่อาจยกขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบประเด็นนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์ รัฐบาล และข้าราชการไว้ว่า ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด หมายความว่า การแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจจะเป็นการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อรัฐบาล ถ้าได้กระทำไปภายใต้เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการ กระทำที่สามารถกระทำได้ ไม่เป็นความผิด บทบัญญัติของกฎหมายแบบนี้ถือว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเป็น ระบอบการปกครองของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง3

แต่กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังเข้าคลองสองครั้งภาย หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2490 ครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 ได้ตัดเอาข้อยกเว้นดังกล่าวทิ้งไปพร้อมกับโทษปรับ คงเหลือแต่โทษจำคุก เป็นอันว่าการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์หรือรัฐบาล แม้จะเป็นการกระทำที่เป็นไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับข้อ ยกเว้น และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินกำหนดโทษจำคุกในมาตรานี้ให้สูงขึ้นจากเดิมไม่ เกิน 7 ปี เปลี่ยนให้เป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี จนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน ศาลยุติธรรมก็มีแนวโน้มลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ด้วยโทษจำคุกในอัตรา สูง ดังกรณีของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 6 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อ.4308/2551) หรือกรณีนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 คดี ๆ ละ 6 ปี รวม 18 ปี ไม่ลดโทษ (คดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2552) ผู้ถูกลงโทษส่วนใหญ่มักได้รับคำแนะนำให้ยอมรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษและใช้ วิธีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้พ้นโทษโดย เร็ว

จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ทั้งมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (การตัดข้อยกเว้นออก) และทั้งขัดกับหลักความได้สัดส่วน (กำหนดลักษณะโทษสูงเกินกว่าลักษณะความผิด) เราจะเรียกมาตรา 112 ว่า Lois scélérates เมืองไทยได้หรือไม่ แต่กระนั้นกฎหมายที่เลวก็อาจถูกจำกัดขอบเขตความชั่วร้ายไว้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

2. การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น หลักการข้อนี้มุ่งใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับ ประชาชนโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงรักษาความเป็นกลาง และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หลักการนี้มุ่งบังคับเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ที่จะต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่แบ่งแยกว่ามิตรว่าศัตรูด้วยสาเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมือง ระหว่างตัวเจ้าหน้าที่กับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกัน

หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น มีรากฐานมาจากหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลซึ่งได้รับการรับรอง โดยรัฐธรรมนูญ มุ่งบังคับใช้ในกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอาความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อ ทางศาสนาของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้รับบริการสาธารณะมาเป็นเหตุให้มีการเลือก ปฏิบัติต่อบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าในทางที่เป็นผลดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐานปกติธรรมดา ในประเทศฝรั่งเศส ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสตีความข้อห้ามนี้รวมไปถึงการแสวงหาหรือเก็บรวบรวม ข้อมูลเพื่อทราบถึงความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางความเชื่อทางศาสนาของบุคคล ด้วย เช่น การออกแบบเอกสารให้ประชาชนต้องกรอกช่อง “ศาสนา” เป็นต้น4

โดยเหตุนี้แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานให้บริการของรัฐทั้งหลาย ไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการตามหน้าที่หรือตัดสิทธิประโยชน์อันพึงได้ของ บุคคลด้วยเหตุผลว่าผู้นั้นได้แสดงทัศนะหรือแสดงออกโดยวิธีใด ๆ ซึ่งความเชื่อโดยสุจริตของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะเกี่ยวกับการเมืองหรือความเชื่อ (ไม่เชื่อ) ในทางศาสนา หากฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มีคำถามที่สมควรพิจารณาในประการสุดท้ายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ เพียงใด
ใน ที่นี้จะขอนำหลักกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาเป็นแนวทางเพื่อตอบคำ ถามนี้ ได้แก่ รัฐบัญญัติลงวันที่ 13 กรกฎาคม 1983 มาตรา 6 บัญญัติว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง” และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว มาตรา 18 ของกฎหมายฉบับเดียวกันได้บัญญัติห้าม มิให้ผู้บังคับบัญชาเก็บรวบรวมจัดทำข้อมูลใดๆ ไว้ในแฟ้มประวัติของเจ้าหน้าที่รัฐใต้การบังคับบัญชาที่สามารถบ่งชี้ถึงแนว ความคิดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นในทางการเมือง ทางปรัชญาความเชื่อ หรือทางศาสนา รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ.1946 ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกกลั่นแกล้ง ถูกโยกย้าย หรือถูกกระทำให้เสียหายในหน้าที่การงานเพราะเหตุจากเชื้อชาติ การแสดงความคิดเห็นและการถือศาสนาของตน ทั้งผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งรายละเอียดเหล่า นี้หากผู้นั้นไม่ยินยอม

เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ บังคับบัญชาในกรณีก้าวล่วงเข้าไปในแดนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใต้ บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 กรณี นั่นคือ กรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐ และกรณีการพักงาน การลงโทษทางวินัยข้ารัฐการ

การสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค เท่าเทียมของบุคคลเช่นเดียวกัน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ทำงานในหน่วยงานของรัฐอย่างเสมอภาค กัน หากรัฐจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นไปโดยเหตุผลเรื่องความรู้ความสามารถและคุณความดีของบุคคลเท่านั้น รัฐไม่อาจตัดสินให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับคัดเลือกให้ได้ตำแหน่งงานสาธารณะ หรือไม่เพียงเพราะเหตุผลจากความคิดเห็นทางการเมือง ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสจะนำหลักการไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุจากความ คิดเห็นที่กล่าวมาแล้วมาใช้บังคับอย่างเคร่งครัด ผู้เขียนเห็นว่าสามารถปรับใช้หลักความเสมอภาคนี้กับกรณีการไม่พิจารณาความดี ความชอบหรือไม่เลื่อนตำแหน่งให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดคนหนึ่งด้วยเหตุผล ทางความคิดเห็นทางการเมืองได้เช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุด ผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งพักงานหรือสั่งลงโทษทางวินัยด้วยเหตุที่เจ้า หน้าที่ผู้นั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง อย่างใดได้ ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสได้เคยสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ออกจากงานผู้ตรวจ การสถานศึกษาด้วยสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์5

โดยสรุปแล้ว ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นกลางทาง การเมืองแม้ในกรณีการคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการพักงาน การลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย การฝ่าฝืนหลักการไม่เลือกปฏิบัติอาจเป็นเหตุให้คำสั่งและการกระทำของผู้ บังคับบัญชาไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกเพิกถอนได้.

--------------------------------------------

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948 (Universal Declaration of Human Rights,1948) ข้อ 19 “บุคคลมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

3. ดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”, กทม., จัดพิมพ์โดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ.2553, หน้า 64-65.

4. CE. 9 juillet 1943, Ferrand, Rec., p.176.

5. CE., 1er octobre 1954, Guille, D., 1955, p.431.